E-DUANG : แรง”กด” แรง”ต้าน” การเมือง อาฟเตอร์ช็อค 14 พฤษภาคม

ไม่ว่าจะมองผ่านทฤษฎีแห่ง”อิทัปปจยตา”ของพระศากยมุนี จากชมภูทวีป ไม่ว่าจะมองผ่านทฤษฎีแห่ง”ฟิสิคส์”ของ เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน จากสหราชอาณาจักร

แต่ละจังหวะก้าวของสังคมไทย แต่ละจังหวะก้าวของพรรคก้าวไกลมิอาจรอดไปได้บนฐานแห่ง”ความขัดแย้ง” บนฐานแห่ง”การเปลี่ยนแปลง”

พระศากยมุนี กำหนดเป็นกฎเกณฑ์เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 2,500 กว่าปี่อนว่า เมื่อมี”สิ่งนี้” เกิดขึ้น ย่อมมี”สิ่งนี้”เกิดตามมา สะท้อนให้เห็นลักษณะยึดโยงและสัมพันธ์กัน

เช่นเดียวกับ เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ตราเอาไว้อย่างหนักแน่นและจริงจัง “เมื่อมีแรง”กด” ก็ย่อมเกิดแรง”ต้าน” เพียงแต่แนวโน้มของแรงจะเอนไปทางใดเท่านั้น

แท้จริงแล้ว ผลแห่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม คือบทสรุปอันแสดงให้เห็น”เจตจำนงร่วม”ของประชาชนที่กว่า 14 ล้านคะแนนเสียงมอบความไว้วางใจให้กับพรรคก้าวไกล

เมื่อกว่า 14 ล้านเสียงผนวกเข้ากับกว่า 10 ล้านเสียงของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นกว่า 24 ล้านเสียง

ความพยายามของกว่า 4 ล้านที่จะเข้ามา”ขวาง”ก็เป็นเรื่อง

 

หากมองจากชัยชนะอันได้มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสานเข้ากับชัยชนะอันได้มาจากรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557

ยืนยันว่า”กลไกแห่งอำนาจรัฐ”ต้องอยู่ในมือของรัฐบาลอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทน

ไม่ว่าจะเรียก”ระบอบ 3 ป.” ไม่ว่าจะเรียก”ระบอบประยุทธ์”

แต่คำถามก็คือ “กลไกแห่งอำนาจรัฐ”ซึ่งอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกทดสอบ ถูกท้าทายหรือไม่ ตอบได้เลยว่าถูกท้าทายและถูกทดสอบอย่างแหลมคม

การท้าทายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็มีความชัดเจนเพราะพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 การท้าทายใน การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ยิ่งมีความชัดเจน

เมื่อกว่า 14 ล้านผนวกเข้ากับกว่า 10 ล้านรวมเป็นกว่า 24 ล้านของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย

 

ความเป็นจริงจากเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เมื่อดำรงอยู่อย่างชัดเจนเช่นนี้ ความพยายามใดๆจาก”ระบอบประยุทธ์”ที่จะกดพลังกว่า 24 ล้านคะแนนเสียง

จึงก่อให้เกิด”แรงต้าน”ขึ้นอย่างมิอาจปฎิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธโดยตรงจากพันธมิตรในแนวร่วมของ พรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธจาก”ภายใน”กลไกเดิมอันเคยเป็นของ”ระบอบ 3 ป.”

กลายเป็น”การต่อสู้”อันสะท้อน”ความขัดแย้ง”เพื่อนำไปสู่”การเปลี่ยนแปลง”ใหม่ในทางการเมือง