ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (3)

 

พื้นที่ถนนราชดำเนินเกือบทั้งหมด หากย้อนกลับไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์คือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ “วังหน้า” ผู้มีสถานะเป็นดั่งกษัตริย์คนที่สอง และเป็นผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์คนต่อไปหากกษัตริย์สวรรคตลง

ในทางประวัติศาสตร์เราทราบกันดีว่า ระบบการปกครองแบบจารีตของกรุงเทพฯ พื้นที่พระนครจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยครึ่งพระนครทางตอนเหนือจะถูกปกครองโดย “วังหน้า” ส่วนอีกครึ่งพระนครทางตอนใต้จะปกครองโดย “วังหลวง”

แต่ปัจจุบันเราไม่สามารถจินตนาการภาพ “โครงสร้างเมืองแบบวังหลวง-วังหน้า” ที่แยกออกเป็น 2 ส่วนดังกล่าวได้ชัดเจนนัก เวลาจะอธิบายถึงร่องรอยความทรงจำพื้นที่วังหน้า เราเหลือหลักฐานไม่มากนัก ที่สำคัญมีเพียงแค่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของวังหน้า

นอกเหนือไปจากนี้ ก็ดูเสมือนว่าจะมีร่องรอยปรากฎอยู่ตามรูปแบบศิลปกรรมในวัดบางแห่งที่สร้างโดยเจ้านายวังหน้า เช่น วัดพระแก้ววังหน้า, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดมหาธาตุ, และวัดชนะสงคราม เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบใบเสมาแบบติดฝังผนังกำแพงโบสถ์ การทำหน้าบันรูปพระลักษณ์ทรงหนุมาน การออกแบบพระอุโบสถในลักษณะทรงโรง ตลอดจนภาพจิตรกรรมสายสกุลวังหน้า เป็นต้น

ที่เราเหลือหลักฐานน้อยเช่นนี้ก็เป็นเพราะ โครงสร้างเมืองแบบวังหลวง-วังหน้า ได้เริ่มถูกทำลายลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการตัดถนนราชดำเนิน และการสร้างวังสวนดุสิตขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์

โครงการนี้ได้ทำให้โครงสร้างเมืองแบบวังหลวง-วังหน้า สูญสลายไป รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และความทรงจำวังหน้าก็พลอยถูกลบเลือนตามไปด้วย

ภาพเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของพื้นที่วังหน้าก่อนและหลังการตัดถนนราชดำเนิน จากแผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย (ภาพบน) และแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 (ภาพล่าง) ที่มา : หนังสือแผนที่กรุงเทพ จ.ศ.1249 และ หนังสือแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ.2450-พ.ศ.2475 : การรวบรวมและจัดระบบฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาสถาปัตยกรรมและเมืองกรุงเทพ

เราทราบกันดีว่า ภายหลังการทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าคนสุดท้ายในปี พ.ศ.2428 รัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกตำแหน่ง “วังหน้า” โดยเปลี่ยนมาสถาปนาตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” ขึ้นแทน

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ การยกเลิกสถานะของพื้นที่วังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคลลงอย่างสิ้นเชิง แม้เจ้านายฝ่ายในยังคงอาศัยอยู่ภายในพื้นที่พระราชฐานชั้นในของวังหน้าต่อไปได้ แต่ก็ทยอยลดลงเรื่อยๆ และสุดท้าย พระราชฐานชั้นในได้ถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเปลี่ยนเป็นพื้นที่กรมทหาร และต่อมากลายเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน

ส่วนพระที่นั่งต่างๆ ในบริเวณพระราชฐานชั้นกลาง รัชกาลที่ 5 ปรับปรุงใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน) ส่วนอาคารสถานที่อื่นๆ เช่น กำแพงและป้อมถูกรื้อถอนออกไปเกือบหมดสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนพระราชฐานชั้นนอกที่ถูกรื้อออกทั้งหมดเพื่อทำเป็นส่วนต่อขยายของสนามหลวง จากเดิม สนามหลวงเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูได้กลายมาเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายแคปซูลยาดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ไม่เพียงแค่นั้น จาก “แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย” (ซึ่งเป็นแผนที่ที่แสดงลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ก่อนการตัดถนนราชดำเนิน) ยังได้แสดงหลักฐานให้เราสามารถจินตนาการถึงอาณาบริเวณทางการปกครองและพระราชอำนาจของวังหน้าที่กว้างขวางใหญ่โตอย่างชัดเจน

ในแผนที่ชุดดังกล่าว เราจะเห็นว่าพระราชวังบวรสถานมงคลถูกรายล้อมไปด้วยวังของเจ้านายหลายพระองค์กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์

หากเราเอารายชื่อเจ้านายที่ประทับอยู่ในวังต่างๆ บริเวณนี้มาพิจารณาอย่างละเอียด ก็จะเห็นชัดว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้านายที่เป็นสายตระกูลวังหน้าทั้งหมด เช่น วังพระองค์เจ้าชายรัตนะวโรภาสและวังพระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศริมถนนเจ้าฟ้า, วังพระองค์เจ้าภาณุมาศบริเวณที่เป็นหอศิลป์เจ้าฟ้าในปัจจุบัน และวังพระองค์เจ้าโตสินีที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆ สวนสันติพรในปัจจุบัน เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ วังหลายแห่งของสายตระกูลวังหน้า ในเวลาต่อมาได้ถูกรื้อลงและเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นพื้นที่ถนนราชดำเนิน

ตัวอย่างเช่น วังพระองค์เจ้านันทวัน และวังพระองค์เจ้าจรูญ ซึ่งเคยอยู่บริเวณที่เป็นท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือเยื้องไปทางกลุ่มอาคารศาลฎีกาในปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นพื้นที่ถนนราชดำเนินในและสะพานผ่านพิภพลีลา

หรือในกรณีวังของกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ ที่เคยตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นโรงแรมรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน ก็ได้ถูกเปลี่ยนกลายมาเป็นพื้นที่ที่ส่วนต้นของถนนราชดำเนินกลาง

 

ตําแหน่งวังที่ผมกล่าวถึงข้างต้น หากสืบสาวลงไปในรายละเอียด ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งวังเดิมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เช่น พื้นที่ของวังพระองค์เจ้านันทวันและวังพระองค์เจ้าจรูญ ก็คือตำแหน่งที่เคยเป็นวังของพระองค์เจ้าลำดวน, วังพระองค์เจ้าอินทปัต, วังพระองค์เจ้าอสนีกาย และวังของพระองค์เจ้าช้าง ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายวังหน้าเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 1

แม้กระทั่งพื้นที่ “ตึกดิน” ที่ผมกล่าวถึงในสัปดาห์ก่อน ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นตึกดินที่อยู่ภายใต้การดูแลของวังหน้าเช่นเดียวกัน ทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ในบริเวณครึ่งบนของพระนคร และขนาดที่ใหญ่โตที่สุดของตึกดินที่ย่อมแสดงถึงการเป็นพื้นที่เก็บดินปืนที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับการที่วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 ขึ้นชื่อมากในเรื่องการทำศึกสงครามและเป็นเจ้านายที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการทำสงคราม

ย้อนกลับมาที่การตัดถนนราชดำเนิน (นอกจากการอธิบายเหตุผลของการตัดถนนและสร้างวังสวนดุสิตในเวอร์ชั่นฉบับทางการที่เราคุ้นเคยทั่วไป) ผมมีสมมุติฐานว่า ถนนสายนี้เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับความพยายามในการยกเลิกบทบาท สถานะ และอำนาจของวังหน้า ผ่านการทำลายโครงสร้างเมืองของวังหน้าลง โดยแทนที่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานแบบศิวิไลซ์สมัยใหม่แทรกทับลงไปแทน

เราต้องเข้าใจนะครับว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองที่ใช้มายาวนานหลายร้อยปี (ระบบกษัตริย์สองพระองค์ “วังหลวง-วังหน้า”) คงไม่จบลงอย่างง่ายดายทันทีภายหลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต

การเปลี่ยนผ่านทางความคิดและโครงสร้างอำนาจใดๆ ก็ตาม ซึ่งรวมถึงกรณีนี้ด้วยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการมากมายที่ตามมาหลังจากนั้นอีกพอสมควรกว่าที่ระบบวังหน้าจะสูญสิ้นลงอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการทยอยให้เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าค่อยๆ ทยอยย้ายออกจากพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งกว่าจะหมดสิ้นก็ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 6 ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

หรือการชำระประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขียนขึ้นใหม่โดยลดบทบาทของวังหน้าลงจนเกือบหมดสิ้น ฯลฯ

 

ภายใต้กระบวนการดังกล่าว ผมอยากเสนอว่า การเข้าไปจัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกายภาพของเมืองที่เคยถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนให้สูญสลายไป และเปลี่ยนกลายมาเป็นโครงสร้างพระนครเพียงหนึ่งเดียวที่รวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์วังหลวงเพียงพระองค์เดียว คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง

การรื้อพื้นที่พระราชวังชั้นนอกของพระราชวังบวรสถานมงคลเปลี่ยนมาเป็นสนามหลวง และการเปลี่ยนพื้นที่พระราชวังชั้นกลางของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพิพิธภัณฑ์ เราสามารถวิเคราะห์ได้บนฐานคิดนี้

โครงการตัดถนนราชดำเนินก็ไม่ต่างกัน การเลือกแนวถนนที่พุ่งผ่ากลางเข้าไปยังพื้นที่อำนาจของวังหน้าโดยตรง ที่ตามมาด้วยการรื้อวังเจ้านายในเครือข่ายของวังหน้าไปหลายวังเพื่อเปิดพื้นที่ทำถนน ตลอดจนการเลือกสร้างวังสวนดุสิตขึ้นใหม่ในพื้นที่ทางอำนาจของวังหน้าเดิม ทั้งหมดนี้มีความน่าสนใจมากหากเราจะมองมันในฐานะของความพยายามในการทำลายและลบความทรงจำของระบบโครงสร้างทางการเมืองแบบจารีตที่มีวังหน้าเป็นตัวละครที่สำคัญ

เราต้องไม่ลืมนะครับว่า รัชกาลที่ 5 มีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักต่อ “ระบบการเมืองแบบวังหลวง-วังหน้า” อันเนื่องมาจากการที่พระองค์ไม่สามารถเลือกวังหน้าได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ตำแหน่งวังหน้ามีอำนาจมาก และวังหน้าทุกพระองค์ก่อนหน้านี้ก็ล้วนแล้วแต่ถูกเลือกขึ้นมาโดยกษัตริย์ทั้งสิ้น จนนำมาสู่ “วิกฤตการณ์วังหน้า” ในช่วง พ.ศ.2417-2418

ดังนั้น การยกเลิกระบบวังหน้าจึงเป็นนโยบายที่สำคัญมากประการหนึ่งของรัชกาลที่ 5 ในห้วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นสมัยใหม่ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

และโดยที่ไม่เกินเลยไปนัก ผมอยากเสนอว่า การตัดถนนราชดำเนินคือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์