E-DUANG : ชัยชนะ เดือนพฤษภาคม 2566 กับชัยชนะ เดือนมีนาคม 2562

ยิ่งการเมืองอึกทึกด้วย”การต่อสู้”อันร้อนแรงและแหลมคมมากเพียงใด การเมืองก็ยิ่งเผยให้เห็นลักษณะความเป็น”อนิจจัง”ให้ได้สัมผัสและรับรู้มากยิ่งขึ้น

ด้านหนึ่ง ได้เห็นการปรากฏขึ้นของสิ่ง”ใหม่” ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ได้เห็นการถอยร่นของสิ่ง”เก่า” บทบาทของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงถูกเฝ้ามอง ติดตาม

บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง ไม่ว่าที่เห็นในพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ

แม้กระทั่ง บทบาทของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย บทบาทของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ บทบาทของ นายวราวุธ ศิลปะอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนาก็อยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์

หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าเหตุใด”มรสุม”ในทางการเมือง จึงกระหน่ำเข้าไปยังพรรคก้าวไกล เข้าไปยัง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อย่างหนักหน่วงและรุนแรงอย่างนี้

ต้องยอมรับว่า แรง”ต้าน”อันมาจาก”พลังเก่า”ยังมากด้วยกัมมันต์ มิอาจประมาทได้อย่างเด็ดขาด

 

ในความใหม่ของพรรคก้าวไกล ในความใหม่ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น”ตัวแทน”ก็มิได้เป็นความใหม่โดยไร้รากฐานและความเป็นมา

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าพรรคก้าวไกลคือความต่อเนื่องและพัฒนาของพรรคอนาคตใหม่

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นจากความรู้สึก ไม่พอใจต่อสภาพของพรรคการเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะเดียวกัน กระบวนการทำลายล้างอย่างโหดเหี้ยมจากการสมคบคิดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็สำคัญ

สำคัญต่อพรรคก้าวไกลอันเป็นความต่อเนื่องแห่งพรรคอนาคตใหม่

 

จะอ่านความสำเร็จของพรรคก้าวไกลจึงต้องมองไปยังการก่อเกิดและสภาพที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้รับจากการสมคบคิดของรัฐบาลอันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้นำและพลัง”แฝง”จากรัฐประหารก็ยังดำรงอยู่เป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการก่อนและหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ชัยชนะของการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 จึงมีพื้นฐานมาจากชัยชนะของการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562