ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เพิ่งได้ชมซีรีส์จีนเรื่อง “Ruyi’s Royal love in the palace” หรือ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” (2018) ที่ทางช่อง 3 นำมาฉายในตารางเวลาหลังเที่ยงคืน วันจันทร์-ศุกร์ จบบริบูรณ์ไป (ผู้สนใจยังสามารถหาชมแบบเต็มเรื่องได้ทาง https://ch3plus.com/ เพียงแต่ต้องสมัครสมาชิกของเว็บไซต์ด้วย)
ต้องยอมรับว่าจับพลัดจับผลูไปดูซีรีส์เรื่องนี้แบบไม่รู้อะไรมาก่อนเลย เช่น มีเพื่อนหลายคนแนะนำว่านี่เป็นเหมือนภาคต่อของซีรีส์เรื่อง “Empresses in the Palace” (เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน) ซึ่งสุดท้าย ผมก็ยังไม่เคยได้ดู “เจินหวน”
พอสืบค้นข้อมูลเพิ่ม ก็พบว่า “หรูอี้” ฮองเฮาลำดับที่สองของ “จักรพรรดิเฉียนหลง” แห่งราชวงศ์ชิงนั้น เคยปรากฏตัวในสื่อบันเทิงอื่นๆ มามากพอสมควร เช่น การเป็นตัวร้ายในซีรีส์ชุด “องค์หญิงกำมะลอ” เมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน และเป็นตัวละครกึ่งร้ายกึ่งดีในเรื่องเล่าอีกจำนวนหนึ่ง
ทว่า ใน “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” จักรพรรดินีองค์นี้กลับถูกบอกเล่าถึงในฐานะ “นางเอก” โดยมิได้เป็นสตรีที่ดีงดงามบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียทีเดียว แต่เป็นทั้งผู้หญิงที่ถูกกระทำ รอโอกาสจะกระทำกลับ รอเวลาเถลิงอำนาจ แล้วค่อยๆ ร่วงโรยสู่สามัญ ในโลกของพระราชวังฝ่ายใน หรือ “วังหลัง” ตามภาษาพากย์ไทยของซีรีส์จีนแนวนี้
จุดเด่นของ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” อยู่ตรงไหนบ้าง?
ประการแรก นี่คือซีรีส์แนวชีวประวัติที่จับภาพช่วงชีวิตทั้งชีวิตของตัวละครรายหนึ่ง เริ่มจากในวัยสาวที่เธอกับองค์ชายคนหนึ่งตกหลุมรักกัน แม้จะได้เสกสมรส แต่เธอก็มิได้มีสถานะเป็นชายาเอกขององค์ชาย เพราะความขัดแย้งเรื่องสายตระกูล
เมื่อองค์ชายดังกล่าวได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ เธอได้ตามเข้าวังหลวงโดยมีสถานะเป็นกุ้ยเฟย แต่ชีวิตในวังก็มีทั้งความรุ่งเรือง และความสูญเสียนานัปการ
เพียงแค่เข้าวังช่วงแรกๆ “หรูอี้” ก็ต้องสูญเสียป้าแท้ๆ จากสกุลอูลาน่าลา ซึ่งเป็น “อดีตจักรพรรดินี” ผู้ถูกกักบริเวณตั้งแต่ปลายรัชกาลก่อน
ต่อมา เธอต้องสูญเสียหญิงรับใช้คนสนิท ซึ่งทะเยอทะยานอยากเป็นคนโปรดของจักรพรรดิบ้าง ส่วนชีวิตของ “หรูอี้” เองต้องระหกระเหิน ถูกตั้งข้อกล่าวหา นำตัวไปกักขังในตำหนักเย็น ก่อนจะพ้นโทษ ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเอง และชำระแค้นบรรดาศัตรู เวียนวนเป็นวงจรไปเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับสตรีรายอื่นๆ ที่รายล้อม “จักรพรรดิเฉียนหลง” ซึ่งมีจังหวะชีวิตขึ้นและลง เป็นและตาย เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไม่ต่างกัน
ซีรีส์วาดภาพให้เห็นว่า ในแต่ละห้วงเวลา วังหลังต้องมี “สตรีผู้ร้ายกาจ” สักคนหนึ่งฉายบทบาทโดดเด่นออกมา แต่เมื่ออำนาจวาสนาของเธอหมดสิ้นลง กระทั่งต้องจบชีวิตไป “สตรีร้ายกาจ” รายใหม่ก็จะค่อยๆ โผล่กายมาสู่หน้าฉากแทน
ราวกับเป็นคำสาปมิรู้จบของพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้
แง่หนึ่ง ตัวละครทั้งหมดของ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” จึงคล้ายถูกกักกันอยู่ภายใน “กรงขังแห่งเวลา”
มิติเวลาในซีรีส์เรื่องนี้ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ในบางฉากก็จะมีการพูดหรือขึ้นข้อความชัดๆ ว่าในรัชสมัยเฉียนหลงปีที่เท่าไหร่ มีตัวละครสำคัญรายใดเสียชีวิต หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งปรากฏขึ้นบนจอห่างจากเหตุการณ์ในฉากก่อนหน้ากี่ปี
อย่างไรก็ดี มีหลายครั้งหลายหน ที่ซีรีส์แอบพาคนดูเดินทางข้ามกาลเวลาอันยาวนานไปอย่างแนบเนียน หนึ่งในกระบวนท่าที่ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลงก์” เลือกใช้อยู่บ่อยครั้ง คือ การเล่าเรื่องราวในปีหนึ่งอยู่ในฉากหนึ่ง ก่อนจะตัดข้ามมายังฉากใหม่ ที่ตัวละครยังคงเดิม และบริบททั่วไปคล้ายไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ยกเว้นองค์ประกอบเรื่องเสื้อผ้าหรือฤดูกาล)
แต่แล้วตัวละครบางรายกลับจะค่อยๆ เฉลยบอกผู้ชมว่าวันเวลาในฉากใหม่นี้ ล่วงเลยจากวันเวลาในฉากก่อนหน้ามาได้ 3-4 ปีแล้ว
กาลเวลาที่ผันผ่านไปโดยที่เราไม่ทันได้สังเกต ย่อมหมายถึงชีวิตอันเดินวนเป็นเส้นวงกลมไม่รู้จบ และอาจหลุดพ้นได้ด้วยความตายหรือการปลดเปลื้องสถานภาพสูงส่งของตนเองลงเท่านั้น
แม้เรื่องราวของ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” จะขับเคลื่อนไปโดยรายละเอียดเกี่ยวพันกับการชิงรักหักสวาทหรือการชิงอำนาจในวังหลัง ภายใต้เงื้อมมือของบรรดาตัวละครหญิง
แต่การชิงรัก-แย่งอำนาจในซีรีส์ก็มีความโหดเหี้ยมน่าสะพรึง ดังชะตากรรมของตัวละครชายชื่อ “หลิงอวิ๋นเช่อ”
“หลิงอวิ๋นเช่อ” ปรากฏบทบาทขึ้นครั้งแรกเมื่อ “หรูอี้” โดนลงโทษนำตัวไปขังในตำหนักเย็น แรกๆ เขาดูจะเป็นแค่องครักษ์เฝ้าวังกึ่งดิบกึ่งดี ที่ยอมช่วยเหลือกุ้ยเฟยตกยากเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ (ก่อนจะมีการเฉลยว่า มีคนใกล้ชิดจักรพรรดิจัดวางองครักษ์นายนี้เข้าไปคอยดูแล “หรูอี้”)
ยิ่งนานวันเข้า ความช่วยเหลือ ความสนิทสนม ก็แปรผันกลายเป็นความจงรักภักดีระหว่างบ่าวกับนาย ที่ไม่ได้หมายถึงความรักระหว่างชาย-หญิง
นี่กลายเป็นจุดอ่อนที่ส่งผลให้ทั้ง “หลิงอวิ๋นเช่อ” และ “หรูอี้” ถูกเล่นงานกล่าวโทษอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อ “เว่ยเยี่ยนหวัน” หรือ “ลิ่งเฟย” อดีตรักแรกของ “หลิงอวิ๋นเช่อ” ได้กลายเป็นสตรีคนโปรดของจักรพรรดิและทรงอำนาจอิทธิพลมากขึ้นทุกวัน
กระทั่ง “จักรพรรดิเฉียนหลง” ก็หลงเชื่อเรื่องเล่าลือนี้ จึงหาทางลงโทษ “หลิงอวิ๋นเช่อ” และหาวิธีบีบบังคับหัวใจ “หรูอี้” ต่างๆ นานา
ทั้งการจับมหาดเล็กผู้ห้าวหาญไปเป็นขันที แล้วส่งขันทีฝึกหัดผู้นี้ไปรับใช้ (เสียดแทงใจ) “หรูอี้” เมื่อความไม่ไว้วางใจขององค์จักรพรรดิพุ่งสูงขึ้น “หลิงอวิ๋นเช่อ” ก็ถูกนำตัวไปทรมานอย่างหนัก สุดท้าย เครือข่ายอำนาจที่ใกล้ชิดกับ “หรูอี้” จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยปลิดชีวิตอดีตมหาดเล็ก เพื่อหวังตัดปัญหาทุกอย่าง แม้ปัญหาจะยืดเยื้อไปอีกหลายปีหลังจากนั้นก็ตาม
ถ้าถามว่าอะไรคือจุดอ่อนสำคัญของซีรีส์ “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์”?
โดยส่วนตัวเห็นว่าการที่เรื่องราวทั้งหมดหมกมุ่น-มุ่งเน้นไปยังความขัดแย้งภายในวังหลัง ได้ส่งผลให้สถานการณ์และการใช้เหตุผลทางการเมืองต่างๆ ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เอาเข้าจริง ผู้ชมแทบจะไม่ได้มองเห็น “เฉียนหลง” ในฐานะจักรพรรดิ (ผู้เก่งกาจหรือโหดเหี้ยม) เลย เพราะในเรื่องเล่านี้ เขาเป็นเพียงบุรุษผู้คอยบังคับขู่เข็ญสตรีรายรอบตัว พร้อมๆ กับที่ยอมทำตนเป็นหุ่นเชิดให้พวกเธอชักเล่นชั่วครู่ชั่วยาม
ขณะที่ความเป็น-ความตายของตัวละครจำนวนมาก เช่น บรรดาโอรส-ธิดาของจักรพรรดิ ก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นผลจากการแย่งอำนาจในหมู่สตรี ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสียหมด
อย่างไรก็ตาม ยากจะปฏิเสธว่า “หรูอี้ จอมนางเคียงบัลลังก์” นั้นเป็นซีรีส์ที่ดูสนุก ดูเพลิน และทำให้เผลอติดได้ง่ายๆ
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022