เงินต่อเงิน | หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “บทเรียนคุณค่า ความสุขและการลงทุน” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดร.นิเวศน์ ถือเป็นปรมาจารย์เรื่องการลงทุนแบบ VI หรือเน้นหุ้นที่มีคุณค่า ปัจจัยพื้นฐานดี

ไม่หวือหวาเหมือนหุ้นเก็งกำไร

เขาจะลงทุนแบบ “ทบต้น” คือ เอาเงินปันผลแต่ละปีไปโปะลงทุนในหุ้นต่อไปเรื่อยๆ

ดร.นิเวศน์มีกฎของ “ความมั่งคั่ง” โดยเปรียบเป็น “ตะเกียง” 3 ดวง

ดวงแรก คือ เงินต้น

ดวงที่สอง คือ การลงทุน

และดวงที่สาม คือ เวลา

คนเราเกิดมามี “ตะเกียง” ดวงแรก คือ เงินต้นไม่เท่ากัน

ใครฐานะดีก็ได้เปรียบ

แต่ “ความอิจฉา” ไม่ช่วยอะไร เราต้องมีความพยายามเป็นเชื้อเพลิงเติมตะเกียง

ไฟในตะเกียงดวงนี้อาจติดยากกว่าลูกหลานคนรวย

แต่ถ้าพยายาม มันต้องจุดติดจนสว่างอย่างแน่นอน

เมื่อมี “เงินต้น” ที่จะลงทุนแล้ว

จากนั้นก็ต้องคิดเรื่อง “การลงทุน”

ลงทุนรูปแบบใดอยู่ที่คุณเป็นคนเลือก

ถ้าฝากเงินในธนาคาร ดร.นิเวศน์บอกว่าเป็นการลงทุนที่มืดมัวมาก

เพราะดอกเบี้ยที่ได้แต่ละปีจะสู้เงินเฟ้อ 3% ไม่ได้

ถ้าลงทุนกับทอง ตะเกียงจะสว่างขึ้นมาเล็กน้อย แต่ต้องอยู่กับความสว่างระดับนั้นไปอย่างน้อย 10 ปี

แต่ถ้าลงทุนกับพันธบัตรหรือกองทุนรวม “ตะเกียง” จะสว่างปานกลาง

ดร.นิเวศน์แนะนำให้ลงทุนกับหุ้นสาย VI เก็งกำไรปันผล

“ตะเกียง” จะมีโอกาสสว่าง 10 เท่า 100 เท่า

“ผมอยู่กับหุ้นสาย VI มาครึ่งชีวิต คิดว่าช่องทางนี้พลิกชีวิตคนได้”

ส่วน “ตะเกียง” ดวงที่ 3 “เวลา”

เขาบอกว่า “เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับนักลงทุน

ยิ่งลงทุนนานก็ยิ่งรวยขึ้น

ดร.นิเวศน์นั้น แต่ละปีจะได้เงินปันผลอย่างน้อย 10%

หลายคนคงสงสัยว่ามีบริษัทอะไรในตลาดหุ้นที่ปันผลสูงเท่านี้

อัตราผลตอบแทนจากการปันผลของหุ้นในตลาดนั้นคิดจากฐานราคาหุ้นในวันนี้

ส่วนใหญ่ประมาณ 4-5-6%

แต่หุ้นที่ ดร.นิเวศน์ลงทุนนั้น เขาซื้อมาตอนราคายังต่ำอยู่

คำนวณผลตอบแทนที่วันนี้จากฐานต้นทุนของเขา

ตัวเลข 10% จึงธรรมดามาก

และถ้าวันไหนราคาหุ้นสูงจนพอใจ

เขาก็ขาย แล้วเอามาลงทุนตัวใหม่แทน

ดร.นิเวศน์ลงทุนแบบนี้เป็นเวลา 20 ปี

ไม่เคยถอนเงินมาใช้เลย เอาไปทบต้นอย่างเดียว

เพราะไม่เคยเห็นเงินในมือเลย

เขาจึงไม่มีความรู้สึกว่า “รวย”

หนังสือ “บทเรียนคุณค่า ความสุขและการลงทุน” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เคยได้ยินเรื่องกฎของเลข 72 ไหมครับ

ผมฟังเรื่องความมหัศจรรย์ของเลข 72 นี้จาก “พี่จิ๋ม” สุวภา เจริญยิ่ง

แต่เพิ่งรู้ว่าคนที่คิดเรื่องนี้คือ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”

เป็นเรื่องการคำนวณว่าต้องใช้ “เวลา” เท่าไร ตัวเลขจำนวนหนึ่งจึงจะเพิ่มเป็น 2 เท่า

ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับเรื่องการออมเงินหรือการลงทุน

สูตรง่ายๆ ก็คือ ถ้าอยากรู้ว่าเงินต้นของเราจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลากี่ปี

ให้เอา 72 หารด้วย “อัตราผลตอบแทนต่อปี”

เช่น มีเงินอยู่ 1 ล้านบาท ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทน 2% ต่อปี

หรือ 20,000 บาท

พอได้เงินมาก็เอาไปโปะในเงินต้น 1 ล้านบาทเป็น 1,020,000 บาท แล้วเอาไปลงทุนในอัตราผลตอบแทนเท่าเดิม

หรือที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยทบต้น”

ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

เราจะต้องใช้เวลา 72/2

หรือ 36 ปีกว่าจะได้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 2 ล้านบาท

แต่หากเราเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี

เราจะใช้เวลา 72/10 หรือแค่ 7.2 ปีเท่านั้น ก็ได้จะได้เงินเพิ่มขึ้นเท่าตัว

หรือ 2 ล้านบาท

กฎ 72 ของ “ไอน์สไตน์” ทำให้เราเห็นภาพ “กฎความมั่งคั่ง” ของ ดร.นิเวศน์ได้ชัดเจนขึ้น

ถ้าเราลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อปีสูงเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้เรามีเงินเป็น 2 เท่าเร็วเท่านั้น

“เวลา” กับ “อัตราผลตอบแทนต่อปี” เป็นเรื่องสำคัญ

คนหนุ่มสาวจึงต้องออมเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน

และให้ความสำคัญกับเรื่อง “อัตราผลตอบแทนต่อปี”

เพราะจะร่นเวลาการออมได้เยอะมาก

ขนาด “ไอน์สไตน์” ยังบอกเลยว่าการค้นพบกฎ 72 ของเขา “เป็นการค้นพบระบบคณิตศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด”

 

ช่วงนี้รุ่นน้องและเพื่อนๆ หลายคนมักคุยกันเรื่องการวางแผนการเงินก่อนเกษียณ

ต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไรจึงจะ “พอ”

ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไร แล้วคำนวณต่ออีกสัก 20 หรือ 25 ปี

เผื่ออายุยืน

วางแผนเรื่องการรักษาพยาบาล จะประกันสุขภาพ หรือใช้ประกันสังคม

เท่าไรจึงจะพอ

ส่วนรายได้อื่นๆ หลังเกษียณ แต่ละคนก็มีวิถีแตกต่างกัน

บางคนยังจะทำงานต่อไป บางคนทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ

และบางคนก็พร้อมเกษียณใช้เงินเก็บแล้ว

ดร.นิเวศน์เคยตั้งคำถามว่า “เราหาเงินไปเพื่ออะไร”

บางคนอยากซื้อของแพงๆ

อยากซื้อรถใหม่

อยากซื้อบ้าน 10 ล้าน

แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน และไม่มีถูกมีผิด

แต่สำหรับ ดร.นิเวศน์ ที่เคยคิดว่ามีเงินแล้วจะช้อปปิ้งแบบไม่คิด จะซื้อทุกอย่างที่วางบนชั้น

แต่พอมีเงินพันล้าน วิธีคิดของเขาก็เปลี่ยนไป

เขาได้คำตอบแล้ว

“ความรวย” สำหรับเขาไม่ใช่เรื่องการใช้จ่าย

เพราะการใช้ชีวิตของ ดร.นิเวศน์เรียบง่ายมาก กินอยู่แบบง่ายๆ

คล้าย “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีนักลงทุนแบบ VI ของโลก

แต่ความมั่งคั่งของเขา คือ ความมั่นคง

เป็นความสุขที่ไม่ต้องกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

เพื่อนผมคนหนึ่งที่วางแผนการเงินอย่างรอบคอบมาตลอดเคยตั้งคำถามกับเพื่อนๆ ว่าถ้าเกษียณแล้วมีเงินเก็บ 10 ล้านบาท

พอไหมสำหรับการใช้ชีวิตในวัยชรา

“ไม่น่าจะพอ ต้องสัก 20 ล้าน” เพื่อนคนหนึ่งตอบ

แล้วเขาก็เริ่มคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล

ยิ่งฟังเพื่อนยิ่งเหี่ยวลง

จนวันหนึ่งเพื่อนกลับมาใหม่ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

“กูไปปรึกษาเมียแล้ว เรื่องเงินเก็บ เล่าให้ฟังว่ามึงบอกว่า 10 ล้านไม่น่าจะพอ”

“เมียว่าไง” เพื่อนคนเดิมถาม

“เธอบอกว่า เวลาที่มีคนถูกหวย 6 ล้านบาท หนังสือพิมพ์จะพาดหัวว่าเศรษฐีใหม่” เขาบอก

“เมียบอกว่าเราเป็นเศรษฐีแล้วนะ”

ครับ “เงินเก็บ” ของเพื่อนยังเท่าเดิม

แต่ “ความรู้สึก” เปลี่ยนไป

จาก “ไม่มั่นคง” กลายเป็น “ความมั่นคง”

เพียงแค่เปลี่ยน “ตัวเปรียบเทียบ” ใหม่

ความรู้สึกจากลบกลายเป็นบวก

เขาเป็น “เศรษฐี” แล้วครับ •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 

www.facebook.com/boycitychanFC