ถึงอย่างไรก็ ‘ไม่เหมือนเดิม’

ไม่มีใครตอบได้ว่าที่สุดแล้ว “การจัดตั้งรัฐบาลคณะใหม่” จะลงเอยอย่างไร และจะเกิดขึ้นได้วันไหน

เพราะโครงสร้างอำนาจการเมืองไทย ไม่เหมือนชาวบ้านเขา อารยประเทศเมื่อประชาชนตัดสินอ่านผลการเมืองเลือกตั้งไร บทสรุปของคณะผู้บริหารประเทศจะเป็นไปตามนั้น

แต่ประเทศเราไม่ใช่ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” ที่เริ่มต้นด้วยการใช้กำลังยึดอำนาจจาก “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ได้ถ่ายโอน “การสืบทอดอำนาจ” มาไว้ใน “กฎหมาย” และสถาปนาองค์กร แต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปปฏิบัติการเพื่อ “การสืบทอดอำนาจ”

ทางหนึ่ง ใช้กฎหมายและองค์กรสถาปนาทั้งหลาย เพื่อขจัดขัดขวาง ทำลายล้าง “ผู้ต่อต้านอำนาจ”

อีกทางหนึ่ง เคลียร์ปัญหาที่เป็นอุปสรรค และส่งเสริมการสืบทอดอำนาจ

 

การดีไซน์โครงสร้างอำนาจแบบนี้ทำให้ “เกมอำนาจ” ของประเทศไทยเรามีความซับซ้อน และให้ความรู้สึกถึงความอุบาทว์ เนื่องจากการต่อสู้ต้องเป็นไปแบบ 2 ขยัก

หนึ่ง “เกมการเลือกตั้ง” ที่ตัดสินกันด้วยการลงคะแนนของประชาชน

สอง “เกมตั้งรัฐบาล” ที่มี “กติกาและองค์กรสถาปนา” ของ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” เข้ามาตัดสินชี้ขาด

“เกมการเลือกตั้ง” ชัดเจนอย่างยิ่ง จากผู้มาใช้สิทธิ 39,514,964 หรือ 75.71% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์

ถ้าวัดกันด้วยคะแนนพรรค ผ่านการเลือกในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพราะน่าจะชัดเจนที่สุดว่าประชาชนเลือกฝ่ายไหนมาเป็นรัฐบาล

ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เริ่มจาก “รวมไทยสร้างชาติ” 4,799,408 คะแนน, “ภูมิใจไทย” 1,138,202 คะแนน, “ประชาธิปัตย์” 925,349 คะแนน, “พลังประชารัฐ” 537,625 คะแนน, “ชาติไทยพัฒนา” 129,497 คะแนน, “รักษ์ผืนป่าประเทศไทย” 12,601 คะแนน, รวมแล้วแค่ 7,542,682 คะแนน หรือแค่ 19.08% ของผู้มาใช้สิทธิ

ขณะในกลุ่มพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 8 พรรค “ก้าวไกล” 14,438,851 คะแนน, “เพื่อไทย” 10,962,522 คะแนน, “ประชาชาติ” 602,645 คะแนน, “เสรีรวมไทย” 351,376 คะแนน, “ไทยสร้างไทย” 340,178 คะแนน, “เป็นธรรม” 184,817 คะแนน, “พลังสังคมใหม่” 177,379 คะแนน, “เพื่อไทรวมพลัง” 67,692 คะแนน, รวม 27,125,460 คะแนน หรือ 68.64% ของผู้มาใช้สิทธิ

นั่นหมายถึงระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” กับ “พรรคร่วมรัฐบาลใหม่” การตัดสินใจของประชาชนว่าเลือกให้ใครเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลนั้นขาดแล้ว

แต่อย่างที่บอก โครงสร้างอำนาจที่ถูกดีไซน์ไว้เพื่อส่งเสริมขบวนการสืบทอดอำนาจ ทำให้ “อำนาจประชาชน” ยังจะต้องถูกต่อต้านจาก “กฎหมายและองค์กรสถาปนาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน”

 

การจัดตั้งรัฐบาลตามความหวังความฝันของประชาชนที่แห่กันมาลงคะแนนเลือกพรรคที่เชื่อมั่น ศรัทธา ยังต้องผ่านกระบวนการมากมายที่พร้อมจะแทรกแซง หรือละเมิดอำนาจประชาชน โดยกลไกของ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” เริ่มแสดงชัดเจนในภารกิจตั้งหน้าตั้งตาทำลายความฝัน ความหวังของประชาชน

สารพัดวิธีการถูกนำมาใช้ เพื่อต่อต้านอำนาจประชาชน

มีข้อมูล ความคิดเห็น การตีความกฎหมาย และการชี้นำมากมายเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสับสนต่างตรรกะเกิดขึ้นในสังคม

แต่นั่นดูเหมือนไม่ได้ผล เพราะยิ่งเวลาล่วงเลยไปเท่าไร ยิ่งพิสูจน์ว่า “การตื่นตัวในอำนาจของประชาชน” ในครั้งนี้ ไม่เหมือนเมื่อครั้งก่อนๆ อีกแล้ว

เป็นความตื่นตัวในระดับพร้อมเผชิญหน้า แม้จะคงวางสติไว้ที่ “สันติวิธี” แต่จะเป็นการต่อต้านที่ส่งผลรุนแรงให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน

ไม่ว่าในที่สุด “อำนาจประชาชน” หรือ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” จะเป็นฝ่ายบริหารประเทศ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะความฝัน ความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ จะถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่างไม่มีใครต่อต้านได้