คนมองหนัง : เคล็ดลับ การคัดเลือก “นักแสดงสมัครเล่น” ในหนังอภิชาติพงศ์

คนมองหนัง

“ผู้คนธรรมดาสามัญ” ซึ่งไม่ใช่ “นักแสดงมืออาชีพ” นั้นมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในแผ่นฟิล์ม ตั้งแต่ยุคแรกสุดของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

ส่วนการเลือกใช้ “นักแสดงมือสมัครเล่น” อย่างจริงจัง ก็เริ่มปรากฏชัดเจนในหนังตระกูล “สัจนิยมใหม่” ของอิตาลี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

กระทั่งถึงปัจจุบัน ยังมีคนทำหนังจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจทำงานกับ “นักแสดงที่ไม่ใช่มืออาชีพ” แม้มันจะเป็นเรื่องยากลำบากและท้าทายมากๆ ก็ตาม

ในทางทฤษฎี บรรดา “นักแสดงสมัครเล่น” ช่วยเบลอร์เส้นแบ่งระหว่าง “หนังบันเทิงคดี” กับ “หนังสารคดี” รวมทั้งกระตุ้นคนดูให้ตั้งคำถามกับนิยามของแนวคิด “สัจนิยม” และ “ธรรมชาตินิยม”

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” คนทำหนังชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์ คือ ผู้กำกับภาพยนตร์อีกหนึ่งรายที่ชอบร่วมงานกับ “นักแสดงมือสมัครเล่น” ซึ่งเป็นชาวบ้านร้านตลาดธรรมดา

ล่าสุด “คริส ชีลด์ส” จากนิตยสาร “Film Comment” ชวนคนในวงการภาพยนตร์นานาชาติ มาพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกนักแสดง (แคสติ้ง) ให้แก่หนังที่ไม่ใช้ “นักแสดงมืออาชีพ”

หนึ่งในบุคลากรที่ชีลด์สพูดคุยด้วย คือ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ผู้ช่วยผู้กำกับฯ ขาประจำของอภิชาติพงศ์ (ซึ่งเพิ่งมีผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวของตนเอง เรื่อง “หมอนรถไฟ” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา)

สมพจน์บอกว่าเขาทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกนักแสดงให้แก่หนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์

สำหรับหนังยาวเรื่องล่าสุด คือ “รักที่ขอนแก่น” นั้น นอกจากนักแสดงนำสองคนแล้ว ตัวละครที่เหลือล้วนสวมบทบาทโดย “นักแสดงสมัครเล่น” ที่ใช้ชีวิตจริงอยู่ในจังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของผู้กำกับฯ อันเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังทั้งเรื่อง เพราะทีมงานต้องการนักแสดงที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนผู้คนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในวิถีชีวิตประจำวัน

ปัจจัยสำคัญสุด ซึ่งตัดสินว่า “นักแสดงสมัครเล่น” รายใดจะได้รับคัดเลือกมาร่วมเล่นหนังของอภิชาติพงศ์ ก็คือ “ความเป็นธรรมชาติ” ของพวกเขา และการมีสัญชาตญาณที่ดีพอจะ “ด้นสด” ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างลื่นไหล

สมพจน์เปิดเผยว่า ในกระบวนการแคสติ้ง ทีมงานจะจู่โจมผู้มาคัดตัวเป็นนักแสดงด้วยการสุ่มโยนคำถามมั่วๆ ใส่พวกเขา หรือทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอะไรบางอย่างที่เหนือการคาดเดา

“ยกตัวอย่างเช่น เราอาจถามเขาว่า “ที่ไปเที่ยวทะเลกับวิมลมาเมื่ออาทิตย์ก่อนเป็นยังไงบ้าง? ผมได้ยินว่าเธอยังอยู่ในช่วงพักฟื้นจากการรักษามะเร็งใช่มั้ย?” จากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับคนชื่อวิมลก็จะถูกแต่งเติมเสริมต่อโดยคนที่มาแคสติ้ง”

สมพจน์อธิบายว่า คำถามตั้งต้นทำนองนั้นช่วยทำให้เรามองเห็นว่าผู้มาคัดตัวแต่ละคนจะสนองตอบต่อคำถามที่คาดไม่ถึงด้วยวิธีการเช่นใด

ในมุมของบุคคลธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีคนรู้จักชื่อ “วิมล” เมื่อพวกเขาเจอคำถามแนวนี้ ก็อาจมีอาการ “อึ้ง” และ “ไปไม่เป็น”

ทว่า คนผู้มีคุณสมบัติดีพอจะเป็น “นักแสดงสมัครเล่น” ย่อมสามารถแต่งเติมเสริมสร้างเรื่องราวของ “วิมล” ได้อย่างน่าเชื่อถือและสนุกสนาน

เหมือนที่อภิชาติพงศ์เคยบอกกับสมพจน์และทีมงานเอาไว้ว่า กระบวนการคัดเลือกแบบนี้จะทำให้เราประจักษ์ว่าใครคือคนที่โกหกได้เก่งที่สุด

สมพจน์เล่าต่อว่า ทีมงานคัดเลือกนักแสดงในหนังอภิชาติพงศ์จะบันทึกภาพผู้มาแคสติ้ง ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาแนะนำตัว เรื่อยไปจนถึงตอนที่พวกเขาเริ่มทดลองทำการ “แสดง” เพราะต้องการพิจารณาว่าคนเหล่านั้นจะรักษา “ความคงเส้นคงวา” เอาไว้ได้หรือไม่

“โดยปกติ คนทั่วไปมักจะมีอาการตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาต้องเริ่มต้นด้นสดกับบทบาทการแสดงที่เพิ่งได้รับ พลังงานในตัวพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เราต้องการคนที่สามารถรักษาระดับอารมณ์เอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ จนเราไม่อาจประเมินได้ว่าเรื่องที่เขาเล่าให้พวกเราฟังนั้น เป็นความจริงหรือสิ่งหลอกลวง”

คำถามอีกข้อหนึ่งที่ทีมงานคัดเลือกนักแสดงในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มักนำมาพิจารณาประกอบ ก็คือ ผู้จะมาร่วมแสดงในหนังเรื่องนั้นๆ สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนนักแสดงคนอื่นๆ ได้ดีเพียงใด

เพราะการจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง ทีมงานทุกคนต้องมองไปที่ภาพรวมและการทำงาน “ร่วมกัน” เป็นสำคัญ

บางที การแสวงหาจุดลงตัวเรื่อง “ทีมเวิร์ก” ก็อาจส่งผลให้กระบวนการคัดเลือกนักแสดงมีความยืดเยื้อเกินคาด อาทิ ในหนัง “สัตว์ประหลาด” ซึ่งกว่าทีมงานจะหานักแสดงที่เหมาะสมมารับบทเป็นตัวละคร “ทหาร” ได้

ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่าหนึ่งปีเลยทีเดียว