High End Munich 2023

McIntosh ML1 Mkll

High End Munich 2023

 

ผลิตภัณฑ์อีกชิ้นที่บรรดาสื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือลำโพงรุ่นใหม่ที่ถูกนำเสนอออกมาภายใต้โครงสร้างภาพลักษณ์แบบย้อนยุค หรือ Retro Style ที่นอกจากจะแลดูขรึมเข้มแล้ว ยังออกจะแฝงความ ‘ขลัง’ อยู่ในทีด้วย

ลำโพงที่ว่าก็คือ McIntosh ML1 Mkll ที่ถอดแบบมาจาก Model ML-1C ซึ่งออกตลาดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 โน่น คือย้อนเวลากลับไปร่วมครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว

โดยภาคต่อของ ML-1C ได้นำเสนอวิศวกรรมร่วมสมัย เข้าไว้ในโครงสร้างตู้ที่เป็นแบบ Solid American Walnut เพื่อให้รับรู้ได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นไฮ-ไฟยุคแรกๆ อันสุดแสนจะคลาสสิค

เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่างยิ่งยวดค่ายนี้ จะทำลำโพงออกมาให้เราท่านได้สัมผัสกัน จึงเมื่อในงานนี้มีข่าวว่าบิ๊กแม็ค’ มีลำโพงใหม่ออกมาโชว์ ผู้คนจึงให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ

ยิ่งเมื่อเห็นภาพลักษณ์ที่เป็นแบบ Retro-Modern ซึ่งลำโพงหลายๆ ค่ายนิยมทำกันมากในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง กับวาระพิเศษต่างๆ ของแบรนด์นั้นๆ ลำโพงรุ่นนี้จึงเป็นอีกจุดเด่นของงานไปโดยปริยาย

แม็ค’ บอกว่าลำโพงรุ่นนี้ได้มีการปรับปรุงภายในอย่างทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของระบบเสียงในปัจจุบัน เป็นลำโพงแบบ 4 ทาง, 5 ไดรเวอร์ ประกอบไปด้วยวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว ติดตั้งอยู่ในห้องที่เป็นตู้ปิดเฉพาะ ใช้มิดเรนจ์ขนาด 4 นิ้ว, สองตัว ตัวหนึ่งทำงานในย่านความถี่กลางตอนล่าง ส่วนอีกตัวทำงานในย่านความถี่กลางตอนบน และทั้งคู่ติดตั้งอยู่ในห้องปิดเฉพาะเช่นเดียวกัน

โดยทั้งวูฟเฟอร์และมิดเรนจ์ต่างขึ้นรูปกรวยด้วยโพลีโพรไพลีน ใช้ทวีตเตอร์สองตัวอีกเหมือนกัน ตัวหนึ่งเป็นแบบซอฟต์ โดม ขนาด 2 นิ้ว อีกตัวขึ้นรูปด้วยไทเทเนียมแบบโดม ขนาด 3/4 นิ้ว ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในลำโพงวางหิ้งรุ่น XR50 และลำโพงตั้งพื้นรุ่น XR100 ของแม็ค’ เอง

McIntosh ML1 Mkll ระบุว่าสามารถรองรับกำลังขับได้สูงถึง 600 วัตต์ และมาพร้อมชุดขาตั้งที่ออกแบบพิเศษให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างตู้ โดยมีป้ายอะลูมิเนียมหล่อระบุชื่อ/รุ่นติดอยู่ตรงฐานที่เป็นแบบเรโทรด้วย

ลำโพงรุ่นนี้เปิดตัวที่ราคาคู่ละ US$ 12,000 ซึ่งก็คือคู่ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ

Naim Nait 50

อีกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในงานนี้ และมาในแนวย้อนยุคเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเครื่องรุ่นพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี นั่นคือ Naim Nait 50 ซึ่งแรกที่เห็นก็ให้หวนนึกย้อนไปถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 80s คราวที่ Naim Nait ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกกับการเป็นอินติเกรตเต็ด แอมป์ ที่มาแปลกแหวกใครมาก เพราะไม่มีสเป๊ก ไม่ระบุกำลังขับ แต่ไม่เกี่ยงที่จะขับลำโพงใด ทั้งยังมีขนาดกะทัดรัดแบบแผงหน้าปัดกว้างเพียงครึ่งเดียวของเครื่องทั่วไปอีกด้วย

Nait 50 ยังคงความเป็นแอมป์อะนาล็อกอย่างเคร่งครัด ไม่มีภาค DAC หรือรองรับการสตรีมมิ่งแต่อย่างใด ทำงานใน Class-A/B ให้กำลังขับ 25 วัตต์, ที่โหลด 8 โอห์ม หรือ 40 และ 60 วัตต์, ที่โหลด 4 และ 2 โอห์ม ตามลำดับ มีเอาต์พุตให้สำหรับหูฟังพร้อมภาคปรีแอมป์แบบใหม่ และมีภาคโฟโนสเทจ ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่แบบแยกชุดทรานซิสเตอร์ สำหรับทำงานกับหัวเข็ม MM ซึ่งระบุว่าให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น นำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิม พร้อมทั้งมี DIN Input ให้สองชุดสำหรับ Stream และ AUX

Naim Nait 50 ผลิตขึ้นแบบจำกัดจำนวน (Limited Edition) ตามเลขปี ค.ศ.ที่ก่อตั้งบริษัท คือ 1,973 เครื่อง ด้วยราคา US$ 3,599

 

 

มาดูผลิตภัณฑ์จากแถบเอเชียที่เป็นดาวเด่นในงานนี้กันบ้าง นั่นก็คือค่าย Yamaha ที่งานนี้มีผลิตภัณฑ์น่าสนใจสี่ชิ้น

กอปรไปด้วยแอมปลิไฟเออร์สองเครื่องกับลำโพงสองคู่

โดยในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้จำลองความโดดเด่นของเครื่องในอนุกรม 2000-Series เข้ามาไว้ในเครื่องทั้งสองรุ่น คือ

Model R-N1000A

และ R-N800A ได้อย่างน่าสนใจ

โดยทั้งคู่ต่างเป็นสตรีมมิ่ง แอมป์ ที่แม้องค์ประกอบเครื่องโดยรวมจะต่ำชั้นกว่าเครื่องระดับอ้างอิงของค่าย แต่ภาครับสัญญาณเครือข่ายนั้นถอดแบบเชิงวิศวกรรมของเครื่องมาตรฐานอ้างอิงมาอย่างเคร่งครัด จึงสามารถวางใจในการเล่นเพลงแบบสตรีมมิ่งได้ ว่าย่อมมีความยอดเยี่ยมไม่แพ้กันอย่างแน่นอน

เครื่องทั้งสองยังผนวกเทคโนโลยีการปรับแต่งเสียงที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะแบบ YPAO : Yamaha Parametric Room Acoustic Optimizer ซึ่งเป็นวงจรเปรียบเทียบสัญญาณต้นฉบับกับสัญญาณก่อนจะส่งต่อไปยังภาคเอาต์พุต ให้มีความสมานเสมอทั้งด้วยการชดเชยและเสริมแต่ง เพื่อให้การรับฟังสัมผัสได้ถึงคุณภาพเสียงที่มีความถูกต้องเที่ยงตรงอย่างจริงจัง

ภาคดิจิทัลใช้ชิปเซ็ต DAC คุณภาพสูงของ Sabre ES9080Q 32-bit/384kHz รองรับการทำงานกับไฟล์ PCM และ Native DSD 11.2MHz ผ่านทางพอร์ต USB

Model NS-800A

ส่วนลำโพงสองรุ่นซึ่งเป็นแบบวางหิ้งนั้น คือ Model NS-800A และ NS-600A ทั้งคู่มีผิวตู้แบบผิวเปียโน หรือ Glossy Black ที่ดำมันเป็นเงา โดยกรวยของลำโพงเป็นแบบ Harmonious Diaphragm ที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งให้น้ำเสียงที่มีความกลมกลืนและสมดุลตลอดย่านความถี่ ที่ยามาฮ่ามุ่งมั่นในการพัฒนากรวยลำโพงมาช้านานแล้ว โดยมีส่วนผสมหลักของ Zylon ซึ่งเป็นเยื่อไฟเบอร์ชนิดหนึ่ง ที่ทีมวิศวกรบอกว่าช่วยให้มีความเร็วเสียงอันยอดเยี่ยม รวมทั้งยังให้การกระจายเสียงอย่างเหมาะสมอีกด้วย

และเพื่อขจัดเสียงสะท้อนไม่พึงประสงค์ที่ด้านหลังทวีตเตอร์ ยามาฮ่าได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะ ด้วยการออกแบบท่อทรงพิเศษ จำนวนสองท่อ เพื่อดูดซับเสียงสะท้อนแทนการใช้วัสดุซับเสียงแบบเดิม เพราะการใช้วัสดุซับเสียงจะทำให้น้ำเสียงขาดความมีชีวิตชีวา

ลำโพงทั้งคู่เป็นแบบ 2 ทาง, ออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 2.6kHz ทำงานในระบบ Bass Reflex ใช้ทวีตเตอร์แบบโดมตัวเดียวกัน ขนาด 1-1/4 นิ้ว ส่วนวูฟเฟอร์ที่เป็นแบบโคนนั้น รุ่น NS-800A มีขนาด 6-1/2 นิ้ว รุ่น NS-600A มีขนาด 5-1/8 นิ้ว

ลำโพงทั้งคู่มีกำหนดลงตลาดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้วยสนนราคา 2,098 ปอนด์ (NS-600A) และ 3,598 ปอนด์ (NS-800A)

Musical Fidelity LS3/5A

มีลำโพงรุ่นหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในวงการ คือ BBC Monitor LS3/5A และเป็นรุ่นที่หลายๆ ค่าย ขอนำสเป๊กหรือคุณสมบัติทางด้านเทคนิคไปผลิตให้กับแบรนด์ของตัวเองมากกว่ามาก โดยแบรนด์ที่ทำให้ลำโพงรุ่นนี้โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ Rogers นั้น ในงานหนนี้มี LS3/5A Monitor เกิดใหม่จากหนึ่งแบรนด์ดังของสหราชอาณาจักรอีกรายแล้วล่ะครับ

นั้นก็คือ Musical Fidelity LS3/5A ซึ่งบอกว่าได้สร้างขึ้นตามข้อกำหนดที่เรียกว่า BBC R&D ของปี ค.ศ.1976 อย่างเคร่งครัด

และไม่เพียงเฉพาะรุ่นที่ว่า มิวสิคัล ฟิเดลิตี ยังได้เปิดตัวลำโพงตามข้อกำหนดของบีบีซีในงานนี้พร้อมกันอีกรุ่น นั่นก็คือ LS5/9 ที่ออกสู่วงการครั้งแรกตาม R&D Design ของบีบีซี เมื่อปี ค.ศ.1983 ที่มีเจตจำนงในการพัฒนาให้เป็นลำโพงอเนกประสงค์มากยิ่งขึ้น

ซึ่งมิวสิคอล ฟิเดลิตี บอกว่าลำโพงนี้จะเติมเต็มความเป็นดนตรีทั้งหมดให้กับดนตรีตั้งแต่คลาสสิคไปจนถึงเพลงป๊อปได้เป็นอย่างดี

เที่ยวหน้าว่ากันอีกสักตอนครับ •

 

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]