ประวัติศาสตร์ของการ ‘ลด-ละ-เลิก’ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในศาสนาพุทธมีสิ่งที่เรียกว่ามี “ศีล” (ซึ่งก็คือ “ข้อปฏิบัติ”) ที่คนไทยรู้จักกันดีคือ ศีล 5 ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ให้ละเว้นการเสพสุรา

น่าสนใจว่าในบรรดาศีลทั้ง 5 ข้อนั้น มีเฉพาะศีลข้อสุดท้ายคือ “สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา” ที่ให้ละเว้นจากการดื่มเครื่องมึนเมาเท่านั้น ที่ให้คำอธิบายว่า “สุรา” (เหล้า, น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น) “เมรัย” (น้ำเมาที่ได้จากการหมัก หรือการแช่) และ “มัชชะ” (น้ำเมา, ของเมา) เป็น “ปมาทฏฺฐานา” คือ “ที่ตั้งของความประมาท” ในขณะที่ศีลข้ออื่นไม่ได้มีคำอธิบายอะไรไว้เลย เพียงแค่ “เวรมณี” คือ “ขอเว้น” ไว้เท่านั้น

ทำไมต้องอธิบาย?

คำอธิบายที่ได้ยินกันให้เกร่อ ในปัจจุบันก็คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาซึ่งความประมาท เพราะเมาแล้วขาดสติยั้งคิด ซึ่งก็เป็นคำอธิบายที่ไม่น่าแปลกอะไร หากมองจากมุมคิดเรื่องสุขภาพ และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

แต่คงจะใช้อธิบายได้ไม่ดีนักในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่

 

คัมภีร์พระเวท อันเป็นคัมภีร์สูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปัจจุบัน แต่เดิมเป็นคัมภีร์ของศาสนาพระเวท (ที่จะพัฒนามาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั่นแหละ) มาก่อน มีบทที่ว่าด้วยการถวาย “น้ำโสม” (Soma) คือ “เครื่องดื่มที่ให้ฤทธิ์มึนเมา” อยู่เต็มไปหมด

ในคัมภีร์สามเวท ซึ่งเก่าที่สุดเป็นอันดับสอง ในบรรดาคัมภีร์ทั้งสี่เล่มที่ประกอบเข้าเป็นคัมภีร์พระเวท ถึงกับมีบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าที่ใช้สำหรับให้พราหมณ์อุทคาตา (Utgata) สวดในขณะที่คั้น กรอง และถวายน้ำ “โสม” แก่เทพเจ้าทั้งหลาย (ย้ำว่า “ทั้งหลาย” ซึ่งหมายความว่าเทพเจ้าแต่ละพระองค์ต่างก็นิยมที่จะดริงก์ด้วยกันทั้งนั้น) เป็นการเฉพาะ แถมยังมีเทพปกรณ์ในพระเวทหลายเรื่องเลยเสียด้วยซ้ำ ที่กล่าวถึงประโยชน์ของการดื่มน้ำโสม

พูดง่ายๆ ว่าการดื่มน้ำโสม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชมพูทวีปยุคโน้น (ซึ่งหมายรวมถึงสมัยของพระพุทธเจ้า) เป็นเรื่องของพิธีกรรมในศาสนาพระเวท อันเป็นรากเหง้าที่จะก่อกำเนิดเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต่อไปในภายภาคหน้า

ดังนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าจะเคยตรัสว่าให้ละเว้นเครื่องดองของเมาเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นที่ตั้งของความประมาท “ความประมาท” ที่ว่าก็คงจะไม่ใช่ฤทธิ์ของพวกมันในทางวิทยาศาสตร์แน่

มีคำเรียกนักบวชในพระพูทธศาสนาคำหนึ่ง ที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดีคือคำบาลีว่า “สมณะ” พระพุทธเจ้าเองก็ถูกเรียกว่า “พระสมณโคดม” อยู่บ่อยๆ แต่ที่จริงคำนี้ไม่ได้หมายถึงพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะนักบวชในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ก็ถูกเรียก “ศรมณะ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตด้วย

แน่นอนว่า คำว่า “สมณะ” ในภาษาบาลี ตรงกับคำว่า “ศรมณะ” ในภาษาสันสกฤต และถึงแม้วรรณกรรมในพุทธศาสนาอย่างพระไตรปิฎกจะไม่เรียกนักบวชในศาสนาว่า สมณะ เหมือนกับพวกตนเอง แต่หลักฐานเอกสารร่วมสมัยใช้คำคำเดียวกันนี้หมายรวมทั้งหมดว่า “ผู้ปฏิเสธพระเวท”

แม้ว่าพระพุทธเจ้า กับพระมหาวีระ จะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เป็นผู้ปฏิเสธในพระเวทเหมือนกัน และส่วนหนึ่งที่พระศาสดาทั้งสองพระองค์ปฏิเสธก็คือพิธีกรรม แน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึงพิธีกรรมที่มีเครื่องดื่มมึนเมาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย

ดังนั้น ถ้าพระพุทธองค์จะทรงเคยตรัสให้ละเว้นจากเครื่องดื่มอันเป็นที่ตั้งของความประมาทแล้ว ความประมาทที่ว่า ก็คือความหลงใหลในพิธีกรรมของศาสนาที่พระองค์ปฏิเสธ ไม่ใช่ความประมาทในฐานะสิ่งให้โทษต่อร่างกาย หรือในฐานะของยาเสพติด เพราะทัศนะของผู้คนในยุคสมัยของพระองค์นั้น เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นของวิเศษ และมีสรรพคุณในฐานะ “ยาบำรุง” เสียด้วยซ้ำไป

 

ลักษณะอย่างเดียวกันนี้ก็พบในโลกตะวันตกเช่นกันนะครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การดื่ม “ไวน์” ที่เป็นสัญลักษณะแทนโลหิตของพระคริสต์ในพิธีศีลมหาสนิท (The Eucharist) ของชาวคริสต์

ดังนั้น แต่ดั้งเดิมแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ จึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก ทั้งในแง่ของการเป็นเครื่องดื่ม, ยารักษาโรค และสินค้าทั่วไปสำหรับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้กระทั่งเยาวชนก็ตาม

เรียกได้ว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในสังคมตะวันตก ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ตรงกับในช่วงราวสมัยพระนารายณ์-พระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา) เป็นต้นมา

(แน่นอนว่า การยอมรับในการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นคนละเรื่องกันกับอาการเมามายจนขาดสติ โดยเฉพาะเมื่อเมาแล้วเดือดร้อนผู้อื่น ที่ไม่มีใครยอมรับได้แน่ และในสังคมตะวันตกยุคโน้นก็เป็นเช่นเดียวกันนี้)

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติของชาวตะวันตกที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่งจะมาเริ่มเปลี่ยนไปเป็นแง่ลบเมื่อเกิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ที่เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2303 (ตรงกับช่วงปลายสุดของกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของพระเจ้าเอกทัศ) ที่ความต้องการแรงงานมีเพิ่มขึ้นมาก

และก็แน่นอนด้วยว่า ต้องเป็นแรงงานที่ไม่ได้เมาหัวราน้ำเข้ามาทำงานด้วย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับเครื่องจักรกลหนัก ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาที่ว่านี้เอง

ดังนั้น คำอธิบายในทำนองที่ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสารพัดเรื่องราวเชิงลบ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างมากมายนับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

 

แต่อันที่จริงแล้ว ในสังคมตะวันตกยุคก่อนหน้าที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นเล็กน้อยนั้น ก็มีแนวโน้มของการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปในเชิงลบมาบ้างแล้ว

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ บาทหลวง (cleric) ควบตำแหน่งนักเทววิทยาคนสำคัญชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น เวสลีย์ (John Wesley) ได้เคยเทศน์เอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2286 ว่า

“การซื้อ การขาย และดื่มกินสุรานั้น เป็นสิ่งชั่วร้าย (evils) ที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เว้นก็แต่จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

และก็เป็นด้วยความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังนี้เอง ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็น ขบวนการเคลื่อนไหว “Temperance Movement” ที่มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านค่านิยมการดื่มสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท โดยอ้างถึงการที่เครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ ให้โทษต่อทั้งสุขภาพร่างกาย, บุคลิกภาพของผู้ดื่ม รวมไปถึงผลต่อครอบครัวของผู้ดื่มอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ จะสนับสนุนให้ผู้คนเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง แล้วค่อยเริ่มย่างกรายเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2363

เมื่อแรกที่ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้ามาในอเมริกานั้น พวกอเมริกันชนที่เป็นนักศีลธรรมทางสังคม หรือที่มักจะถูกเรียกอย่างกระทบกระเทียบในปัจจุบันว่า “ตำรวจศีลธรรม” ยังหมกมุ่นอยู่กับความพยายามในการเลิกทาสกันมากกว่า ดังนั้น ต้องรอจนกระทั่งอเมริกาประกาศเลิกทาสไปแล้วนั่นแหละ ถึงจะเป็นช่วงที่คนพวกนี้หันมาจับประเด็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันให้เป็นที่เอิกเกริก

และในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรในหลายภาคส่วน ทางการสหรัฐก็ค่อยๆ ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาทีละตัว จนกระทั่งพวกเขาก็ได้ฟินกันถึงที่สุด เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงที่เรียกว่า “Volstead. Act” ในปี พ.ศ.2463

 

แต่ผลจากการสั่งให้เลิกจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง กลับไม่ได้นำพาสังคมอเมริกันเข้าสู่ยุคของยูโทเปีย อย่างที่พวกตำรวจศีลธรรมวาดฝันเอาไว้

การห้ามจำหน่ายสุรากลับทำให้การค้า “เหล้าเถื่อน” กลายเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีสำหรับพวกมาเฟีย จนทำให้พวกมาเฟียมีทั้งเงินทองและอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังไปติดสินบนทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล จนทำให้เมื่อทำผิดก็สามารถลอยนวลไปได้ง่ายๆ

ตลกร้ายก็คือ มาเฟียบางคนยังกลายเป็น “ไอดอล” ของยุคสมัย ที่น่ารู้จักกันดีก็คือ “อัล คาโปน” คนดังนั่นเอง

และเนื่องจากในยุคโน้น เครื่องดื่มเหล่านี้ยังมีความจำเป็นในแง่อื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของความเมา ในกฎหมาย Volstead Act จึงต้องระบุไว้ว่า ให้โบสถ์สามารถใช้ “ไวน์” ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ส่วนคลินิกทางการแพทย์ก็ยังสามารถใช้ “วิสกี้” ในการรักษาโรค ทั้งนักบวช และนายแพทย์จึงกลายเป็นยี่ปั๊วชั้นดีในการจำหน่ายสุราให้แก่ทั้งมาเฟียและประชาชนทั่วไป

ผลจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้สหรัฐอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นรัฐที่วุ่นวายจนถึงที่สุด แถมยังเป็นเวลายาวนานถึง 13 ปี อันเป็นเลขอัปมงคลสิ้นดี สำหรับประเทศที่คนส่วนใหญ่ ณ ขณะจิตนั้นเป็นชาวคริสต์ จนสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องประกาศยกเลิกกฎหมายฉบับที่ว่า

 

เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะปัจจัยต่างๆ ของแคมเปญการ ลด-ละ-เลิก การดื่มในแต่ละยุคสมัยแล้ว เจ้าเครื่องดื่มพวกนี้จึงมีมิติมากกว่าแค่เรื่องของมุมมองเชิงสุขภาพ หรือคำสอนทางศาสนา อย่างที่ในปัจจุบันมักจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอันดับแรก

การพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านเลนส์แบบนี้เพียงอย่างเดียว ย่อมทำให้พวกมันกลายเป็น “ผู้ร้าย” แน่

และเมื่อเป็นผู้ร้ายแล้วก็ทำให้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสุราทางด้านอื่นๆ

เช่น การผูกขาดทางธุรกิจ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบด้าน ไม่มีและไม่สร้างอคติจะสร้างประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจได้อีกมาก

ไม่ต้องปฏิเสธ “สุรา” ก็พาให้ประเทศ “ก้าวหน้า” ได้ •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ