ชุมชนเริ่มแรก หลายพันปีมาแล้ว | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประเทศไทย และคนไทย มีประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาทั้งของดินแดนและผู้คนเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากดินแดนและผู้คนของอุษาคเนย์และของโลก ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว กระทั่งสืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน

อุษาคเนย์สมัยโบราณมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว้างขวางกว่าปัจจุบัน (อุษาคเนย์ปัจจุบันมีเส้นกั้นอาณาเขตซึ่งถูกกำหนดใหม่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานมานี้) ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ด้านทิศเหนือของอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ครอบคลุมถึงลุ่มน้ำแยงซีในจีน บริเวณมณฑลยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง

สมัยดั้งเดิมไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต (แบบรัฐชาติสมัยใหม่) ดังนั้น อุษาคเนย์จึงมีลักษณะ “พื้นที่กว้าง คนน้อย” ดินแดนหรือพื้นที่เป็นผืนเดียวกันกว้างขวางทั่วภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ ส่วนผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ มีไม่มาก ล้วนตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายอยู่ห่างไกลกัน

ดินแดนประเทศไทย เริ่มจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วขยายไปลุ่มน้ำอื่น โดยสรุปมีดังนี้

(1.) สมัยเริ่มแรก พื้นที่จำกัดอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ต่อเนื่องถึงตอนบนของคาบสมุทร โดยไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต

(2.) สมัยหลัง เริ่มมีเส้นกั้นอาณาเขต โดยผนวกเอาดินแดนบริเวณอื่นๆ ของคนกลุ่มอื่นๆ เข้ามารวม แล้วเรียกดินแดนสยาม ในที่สุดเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย

ผู้คนในประเทศไทย “ความเป็นคน มีก่อนความเป็นไทย” โดยสรุปมีดังนี้

(1.) สมัยเริ่มแรก ไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่เรียกตามชื่อชาติพันธุ์ตนเองซึ่งมีหลากหลาย และพูดตามชาติภาษาของตนซึ่งแตกต่างกัน

(2.) สมัยต่อมา ภาษาไท-ไตเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีป คนหลายชาติพันธุ์พูดภาษาไท-ไตเพื่อสื่อสารกับคนอื่น

(3.) สมัยหลัง ภาษาไท-ไตถูกเรียกภาษาไทย แล้วมีอำนาจทางการเมืองและการค้า ดึงดูดให้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางได้พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แล้วเรียกตนเองว่าไทย ในที่สุดก็กลายตนเป็นไทย หรือคนไทย

 

ชุมชนเริ่มแรก หลายพันปีมาแล้ว

ชุมชนเริ่มแรกมีอายุหลายพันปีมาแล้ว สมัยมนุษย์หยุดร่อนเร่เมื่อรู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพบทั่วไปในอุษาคเนย์ ทั้งบริเวณหุบเขาและทุ่งราบของดินแดนภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ

[ส่วนสมัยก่อนหน้านั้นนับหมื่นปีมาแล้ว มนุษย์เร่ร่อนแสวงหาอาหารตามธรรมชาติ ด้วยการใช้เครื่องมือหิน เช่น ขวานหิน ฯลฯ และไม้ เช่น ไม้ซาง ฯลฯ ไม่มีเพาะปลูก และไม่มีเลี้ยงสัตว์ จึงไม่มีชุมชน]

ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้ของอุษาคเนย์ ดังนั้น ไทยมีวัฒนธรรมร่วม (หมายถึงมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมร่วมกับคนในอุษาคเนย์) ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเริ่มแรกของไทยมีร่วมกันกับคนในอุษาคเนย์

ในไทยหลายพันปีมาแล้ว มีชุมชนเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์บริเวณหุบเขาและทุ่งราบกระจัดกระจายอยู่ห่างๆ กันทั่วทุกภาค ทั้งภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้

หุบเขา เป็นที่สูง มี 2 ส่วน ได้แก่ ยอดเขา และไหล่เขา ปลูกข้าวแบบ “เฮ็ดไฮ่” หรือทำไร่หมุนเวียน

ทุ่งราบ เป็นที่ลุ่มและดอนสลับกัน ปลูกข้าวแบบ “เฮ็ดนา” หรือนาหว่าน, นาดำ

 

เพาะปลูกบนที่สูง

การเพาะปลูกบนที่สูง หรือที่ดอนแห้งแล้ง จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าเป็นแบบคำลาวเรียก “เฮ็ดไฮ่” มีความโดยสรุปดังนี้

เฮ็ดไฮ่ (เฮ็ด แปลว่า ทำ, ไฮ่ ตรงกับ ไร่ ถอดเป็นคำไทยว่าทำไร่ แต่ควาหมายต่างกัน) วิธีการเพาะปลูกแบบไร่นี้เป็นแบบล้าหลัง คือเอาไฟเผาป่าให้ราบลงเป็นแปลงเท่าที่ต้องการ ไม่ต้องพรวนต้องไถ อย่างดีก็เอาจอบช่วยเกลี่ยหน้าดินนิดหน่อย

แล้วก็เอาไม้ปลายแหลมแทงดินให้เป็นรู เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงทีละรูๆ แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม, แล้วแต่ดิน ฝน และแดด

แต่ข้าวชนิดที่ปลูกก็เป็นพันธุ์ข้าวป่าแบบที่ไม่ต้องขวนขวายทดน้ำมาหล่อเลี้ยง, มิฉะนั้นก็ปลูกข้าาวโพด ปลูกฝิ่น ฯลฯ ตามแต่จะต้องการ

พอพืชโตได้ที่มีดอกออกผลก็เก็บเกี่ยว แล้วก็ทิ้งดินแปลงนั้นให้หญ้าและต้นไม้ขึ้นรกชัฏไปตามเรื่อง ใช้ได้ครั้งเดียว ปีรุ่งขึ้นก็ขยับไปเผาป่าในที่ถัดออกไปใหม่, ขยับเวียนไปรอบทิศตามสะดวก ไม่มีใครหวงห้ามหรือจับจอง บางที 2-3 ปีผ่านไปก็หันกลับมาเผาที่ตรงแปลงเดิมใหม่ แต่ถ้าหากดินจืด ใช้ไม่ใด้ผล ก็ย้ายหมู่บ้านกันเสียที ไปเลือกทำเลใหม่, หอบไปแต่สิ่งของสำคัญๆ ไม่มีสมบัติ

[คำว่าเฮ็ดไฮ่ในภาษาลาว มีความหมายต่างกับคำว่าทำไร่ของไทย เฮ็ดไฮ่คือการปลูกข้าวบนเขาบนดอน ตรงกับคำไทยว่า “ปลูกข้าวไร่” ถ้าจะพูดถึงการทำไร่อย่างอื่นแบบภาษาไทยสมัยนี้ เช่น ทำไร่ปอ ก็เรียกออกชื่อไปเลยว่าเฮ็ดปอ.]

[สรุปจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 หน้า 238]

“เฮ็ดไฮ่” ด้วยวิธีหยอดหลุมของคนอีสานบางกลุ่มสมัยโบราณ (ภาพจาก Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860. Henri Mouhot. Oxford University Press, 1989.)

เพาะปลูกบนที่ลุ่ม

การเพาะปลูกบนที่ลุ่ม จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าเป็นแบบคำลาวเรียก “เฮ็ดนา” มีความโดยสรุปดังนี้

ตั้งหลักแหล่งทำการผลิตและเลี้ยงสัตว์ในที่ลุ่มหรือริมน้ำ, รู้จักสร้างทำนบอย่างหยาบๆ พร้อมทั้งคันคูระบายน้ำ (คือเหมืองฝาย), ทำนาโดยใช้แรงสัตว์ช่วย, มีเครื่องมือผลิตหลายชนิด เป็นต้นว่าจอบ คราด ไถ

ส่วน ทำนา นั้นจะต้องหมายถึงทำในที่ลุ่ม มีน้ำขัง หรือมีคันกักน้ำไว้หล่อเลี้ยงข้าว (คำว่า นา หมายถึงที่ราบลุ่มและมีน้ำขังเสมอ อย่างนาเกลือ, นากุ้ง, ตรงข้ามกับไร่ ซึ่งเป็นที่แห้ง).

การผลิตในที่ลุ่ม อาศัยปุ๋ย (ธรรมชาติ) ที่มากับกระแสน้ำ ทำให้ไม่ต้องโยกย้ายที่ได้นานๆ นับเป็นชั่วคน เริ่มมีการแบ่งสันปันส่วนที่ดิน การรักที่ดิน รักแม่พระธรณี รักแม่โพสพ รักสมบัติอสังหาริมทรัพย์ (สิ่งเหล่านี้ไม่มีในความรู้สึกของสังคมของชนชาติล้าหลังที่อยูในระบบ “เฮ็ดไฮ่”)

[ความเป็นมาของคำสยามฯ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ 2519 หน้า 239-241]

 

ที่ลุ่มเป็นต้นตอของคำว่าสยาม

บริเวณที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำเกิดจากตาน้ำและน้ำซับน้ำซึม จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าเป็นที่มาของคำว่าสยาม สรุปดังนี้

ซำ หรือ ซัม ในภาษาไตดั้งเดิม, ซึ่งบัดนี้ยังมีอยู่ในภาษาลาวและผู้ไท หมายความถึงบริเวณน้ำซับน้ำซึมประเภทที่พุขึ้นจากแอ่งดินโคลน. น้ำดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากน้ำที่รากต้นไม้บนภูเขาหรือเนินดอนอุ้มไว้ แล้วซึมเซาะซอนใต้ดินมาพุขึ้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือเนินดอน.

บริเวณที่พุขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นบึงโคลนสีเหลือง เป็นโคลนลึกแค่คอทีเดียว โคลนสีเหลืองนี้ในภาษาลาวเรียกว่าดูน, น้ำที่พุขึ้นจะดันโคลนหรือดูนขึ้นมาจนเป็นโคลนเดือดปุดๆ พุพลั่งๆ อยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง

น้ำที่พุขึ้นมานั้นมีปริมาณมาก ไหลเจิ่งซ่าไปตามทางน้ำหรือลำธาร, ลักษณะของน้ำใสสะอาด จืดสนิท.

ซำที่น้ำพุขึ้นนี้บางแห่งก็เป็นเทือกยาวมาก คือเป็นเทือกเขาที่ยาวหลายสิบกิโลเมตร และมีซำพุเป็นตอนๆ ทั้งสองด้านของเทือก บางแห่งก็เป็นแอ่งใหญ่โตราวกับบึง. ซำดังกล่าวนี้มีทั่วไปในบริเวณป่าเขาที่มีตันไม้แน่นหนา. เพราะรากไม้อุ้มน้ำไว้ได้ตลอดปี และต้องหาทางไหลลงสู่ที่ราบ. ถ้าป่านั้นถูกไฟไหม้ราบเตียนเมื่อใด ซำก็จะแห้งไปเมื่อนั้น.

ซำเหล่านี้ เป็นที่ชัยภูมิที่คนไท-ไต ยึดเป็นที่ตั้งบ้านเมืองทำมาหากินโดยทั่วไป เพราะอาศัยน้ำได้แม้ในฤดูแล้ง, คล้ายกับเป็นโอเอซิสของทะเลทราย.

บริเวณซำนั้นเป็นที่ดึงดูดคนไท-ไตมาชุมนุมตั้งชมรมกสิกรรมมาก เพราะพื้นที่บริเวณนั้นทำนาได้ปีละสองหน, เป็นสวนอันอุดมและให้ผลดีมาก. นาที่อยู่ติดกับซำนั้นเป็นนาดีถึงขนาดเรียกเป็นคำเฉพาะทีเดียวว่า “นาคำ” (คือนาทองคำ) และน้ำที่ซึมออกมาจากซำนั้น ก็เรียกกันว่า “น้ำคำ”

ชื่อบ้านที่เรียกว่า “บ้านซำ” มีอยู่ทั่วไปทางภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว และยังมีบริเวณที่เรียกว่าซำต่างๆ ตามชื่อเฉพาะของแต่ละซำอีกมาก. ชื่อบ้านนาคำและบ้านน้ำคำก็มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน (ซำ, ซัม ต่อไปข้างหน้าเป็นต้นตอหรือรากเหง้าของคำว่าสยาม)

[สรุปใหม่จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ 2519 หน้า 288-290]