เสน่ห์ของหนังสือ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ เขียนถึงเรื่องราวของหนังสือที่โปรยเสน่ห์ในผลงานของนักเขียนวัย 63 ปี ที่ชื่อ “ประชาคม ลุนาชัย”

กับผลงานเขียนสองเล่มของเขา “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” และ “ให้ร้านหนังสือนำทางรัก”

เชื่อว่าคนที่เป็นนักอ่านหนังสือ คงจะได้ท่องอาณาจักรของอักษรผ่านจินตนาการของผู้เขียนทั้งต่างประเทศและของไทยมาแล้ว

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือบรรยากาศของสถานที่ สิ่งแวดล้อม ผู้คน ที่หากเป็นเรื่องของนักเขียนไทยแล้ว ก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่เป็น “แบบไทยๆ” ให้คนอ่านได้ซึมซับ

เพราะความเป็นเด็กต่างจังหวัดมาตั้งแต่เกิด และใช้ชีวิตเติบโตกับความเป็นธรรมชาติของประชาคม ทำให้เขาสามารถพรรณนาถึงบรรยากาศในท้องเรื่องได้อย่างดี

 

“แม่น้ำใหญ่ปลายฤดูแล้งลดระดับลงจนเห็นพื้นทรายโผล่ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง กระชังเลี้ยงปลาพลอยลดต่ำลงห่างตลิ่ง ถนนเลียบแม่น้ำยามบ่ายคล้อยว่างโล่ง แดดส่องสาดมาพร้อมไอร้อน แต่อีกด้านหนึ่งของขอบฟ้า คล้ายกับว่าเมฆฝนกำลังแต่งตัวรับฤดูกาลใหม่”

นี่เป็นการบรรยายถึงท้องถิ่นที่ตัวเอกของเรื่องไปใช้ชีวิตอยู่ หนึ่งในการพรรณนาบรรยากาศของฉากหลังในหนังสือ “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก”

หรือหากเป็นการบรรยายตัวละคร ก็จะเห็นภาพของเด็กท้องทุ่งในต่างจังหวัดได้อย่างดี

“ยืนรอไม่นาน ตั้มก็พาเพื่อนสนิทขึ้นจากน้ำ เนื้อตัวของสมพลเปียกโชก เขาเปิดยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ทักทายครูสาว ใบหน้าซึ่งเข้มดำตามประสาเด็กท้องทุ่ง ฟันหน้าสองซี่ที่หายไปเป็นเหตุให้เขาได้ชื่อเล่นใหม่…หลอลี่”

เพียงเท่านี้คงจะเดาได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างจังหวัด มีคุณครูและนักเรียน ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

จริงๆ แล้วเรื่องนี้เล่าผ่านตัวละครหลักที่เป็นคุณครู ชื่อว่า “ครูแก้ม” หรือ “นลินดา” ที่ย้ายมาเป็นครูอัตราจ้างหนึ่งปี ที่โรงเรียนในชนบทแห่งหนึ่งที่พี่ชายของตนเป็นครูใหญ่อยู่

 

 

 

แก้ม จบปริญญาตรีด้านภาษาไทย และกำลังเรียนต่อปริญญาโท แต่ด้วยการใช้ชีวิตแบบเด็กสาวในเมืองกรุงที่ออกจะฉาบฉวย และเพ้อฝันไปกับนิยายรักเกาหลีจนไม่เป็นอันทำวิทยานิพนธ์ให้จบเป็นเรื่องเป็นราว จนถูกพ่อไล่ให้มาใช้ชีวิตกับพี่ชายที่ว่าเป็นเวลาหนึ่งปี เผื่อจะมีอะไรดีขึ้น

อะไรที่ดีขึ้นนั้น ตอนแรกแก้มก็ไม่ได้คาดหวังอะไร และเธอเองก็รู้สึกว่าเธออาจจะอยู่ที่นี่ได้แค่ไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ แถมการเป็นครูก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดเลยด้วยว่าจะทำได้ แม้จะเกิดมาในครอบครัวครูก็เถิด

เพราะไม่มีอะไรทำในเมืองเล็กๆ ระหว่างรอเวลาเปิดเทอม หญิงสาวเพ้อฝันอย่างเธอซึ่งชอบอ่านนิยายรักเกาหลีจึงพยายามหาหนังสือที่ว่ามาอ่านฆ่าเวลา แต่หนังสือเล่มกับจังหวัดบ้านนอกไกลๆ ดูจะเป็นของแสลง เหมือนอย่างที่ประชาคมพูดไว้ในประวัติชีวิตตนเองว่า

“ผมเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม แทบทั้งหมดไม่อยู่ในวัดก็โรงเรียน ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องสั้นคืออะไร ไม่มีใครรู้ว่าโลกนี้มีนิยาย มีเรื่องแต่งและสารคดี ชาวบ้านที่นี่ไม่เคยเห็นร้านหนังสือหรือห้องสมุด”

ที่หมู่บ้านนี้ก็เช่นกัน แต่ในที่สุดแก้มก็พบเจอสถานที่ที่จะเยียวยาความอยากอ่านหนังสือของเธอได้ หลังต้องขี่รถจักรยานซอกซอนไปจนพบกับบ้านหลังหนึ่งที่เปิดเป็นร้านหนังสือชื่อว่า “ร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่าน”

ที่นั่นเธอได้พบกับหนังสือหลากหลายชนิดจำนวนมากที่จัดเรียงไว้บนชั้นอย่างดี แต่ไม่ยักกะมีหนังสือที่เธออยากอ่านสักเล่ม จนเมื่อเจ้าของร้านปรากฏตัวขึ้นด้วยร่างสูงโปร่ง ผอมซีดเซียว ดวงตาแห้งผากเย็นชา เขาชื่อ “ภูดิน”

เมื่อเขาถามเธอว่าอยากได้หนังสืออะไร เธอตอบว่า “นิยายรัก” เขาก็ตอบกลับมาว่า

“หนังสือทุกเล่มเป็นนิยายรัก” ซึ่งเธอไม่เข้าใจในความหมายเลย

เขาเสนอหนังสือนิยายรักเรื่องหนึ่งให้เธออ่าน แต่จะต้องมารับวันเสาร์หน้า เขามีให้อ่านทีละตอน เหมือนเวลาคนติดตามอ่านนิยายในนิตยสารรายสัปดาห์อย่างนั้น โดยขอคิดค่าอ่านเรื่องของเขาที่ว่าเพียงตอนละ 2 บาท

เธอหลวมตัวรับปาก ไม่ใช่เพราะอยากอ่าน แต่เพราะอยากเอาชนะและพิสูจน์ว่านิยายรักที่เขาเสนอจะดีกว่านิยายรักเกาหลีแค่ไหนกันเชียว

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ แม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ทำให้ทั้งสองได้พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็น และเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น

นอกจากนิยายรักเป็นตอนๆ ที่ภูดินผลิตเป็นแบบหนังสือทำมือที่สวยงามจากภาพประกอบที่เขาบรรจงวาดเองผสมไปกับเรื่องราวของรักสามเส้าที่เขาแต่งขึ้นมาจากจินตนาการ และประสบการณ์จากการอ่านมาทั้งชีวิต

แก้มยังได้พลอยได้อ่านหนังสือเล่มอื่นที่ภูดินแนะนำแกมท้าทายให้อ่าน โดยบอกย้ำว่า “ทุกเรื่องเป็นนิยายรัก” และนั่นเท่ากับว่าได้เปิดโลกทัศน์การอ่านอันคับแคบของเธอให้ได้สัมผัสกับเรื่องราวชีวิตและความรักที่หลากหลายของตัวละคร ที่ทำให้หญิงสาววัย 24 ปีอย่างเธอได้มองโลกกว้างขึ้นอย่างมาก

นี่เองที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือที่สร้าง “ความคิดที่เปิดกว้าง” ให้กับคนอ่านได้จริงๆ

ปีศาจ

หนังสือที่ภูดินให้เธออ่าน เป็นหนังสือที่ผู้เขียนคัดเลือกมาจากประสบการณ์การอ่านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักเขียนไทยอย่าง “ชั่วฟ้าดินสลาย” “แผ่นดินของเรา” “ปีศาจ” “ความรักของวัลยา” หรือของนักเขียนต่างประเทศอย่าง “ยะมิลายอดรัก” (Jamila) “พรากจากแสงตะวัน” (Out of Africa) “คนขี่เสือ” (He Who Rides a Tiger) เป็นต้น

และเธอได้นำเอาวิธีคิดจากหนังสือเหล่านี้มาปรับใช้กับอาชีพครูของเธอ รวมทั้งการมองชีวิตของตนเองที่เธอควรจะเป็นคนเลือกและกำหนดเอง

ผลคือเธอกลายเป็นครูอัตราจ้างที่ครูคนอื่นและนักเรียนต่างชื่นชม และรักใคร่ วิชาที่เธอสอนปรากฏว่านักเรียนโดดเรียนน้อยที่สุด ข้อสำคัญคือ เธอยังได้เปิดโลกทัศน์ของลูกศิษย์ของเธอด้วยหนังสือที่นำมาจากร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่านอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ลูกศิษย์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่กับภูดินก็ด้วย เขากลายมาเป็นชายที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ร้านหนังสือของเขามีเด็กๆ และผู้คนแวะเวียนมาอ่านหนังสือมากขึ้น และเพราะครูแก้มก็ทำให้เขาได้นำวิชาศิลปะที่ตนเองมีมาสอนเด็กๆ ที่สนใจอยากวาดรูปให้ได้ขยายจินตนาการ เขากลายเป็น “อาภูดิน” ที่รักของเด็กๆ ไปแล้ว

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปด้วยดี ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็นั่นแหละนะ ใครจะลิขิตชีวิตได้ มันต้องเป็นไปตามวิถีของมัน

จะว่าไปสำหรับตัวละครเอกฝ่ายชายในเรื่องนี้ กับตัวละครเอกฝ่ายชายในเรื่อง “ให้ร้านหนังสือนำทางรัก” ผลงานอีกเล่มหนึ่งของประชาคม ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน คือ เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวละครที่มีปมในชีวิตอย่างรุนแรง เขาจึงใช้ชีวิตอย่างขอไปที ไม่มีแรงจูงใจใดๆ จนกระทั่งมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต และเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นคนใหม่ได้

ใน “ให้ร้านหนังสือนำทางรัก” เรื่องราวเกิดขึ้นที่ชุมชนเล็กๆ ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร ประชาคมก็ยังใช้การบรรยายพรรณนาถึงสถานที่และผู้คนอกมาได้อย่างดี จนนึกภาพออก แม้รายละเอียดจะต่างจากเมืองชนบทอย่างเรื่องแรก แต่ก็มีนัยยะของความอบอุ่นของสังคมและผู้คนคล้ายๆ กัน

“ถนนลาดยางขรุขระเปียกฝน ป่าหญ้าข้างทางชื้นหยดน้ำ ลุงหง่าวแหงนหน้ายิ้มรับม่านแดดขมุกขมัวรอบกาย เสียงนกร้องก้องตามหลังเหมือนพวกมันกำลังบินตามแกมาห่างๆ เท้าที่ถีบซาเล้งลงจังหวะสม่ำเสมอ แกไม่ได้รีบร้อน ฝนที่เทกระหน่ำหนักก่อนค่อนรุ่งเป็นประหนึ่งกำแพงขวางกั้นภารกิจประจำวัน แกไม่ต้องออกหาของเก่า ใช้วันหยุดอันล้ำค่าพักผ่อน และอยู่พูดคุยกับคนรู้จักในชุมชน”

ตัวเอกของเรื่องชื่อ “บรรเจิดฝัน” เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ในชุมชน และนั่นนำทางให้ตัวละครฝ่ายหญิงเข้ามาในชีวิตเหมือนกัน ผิดแต่เล่มหลังมีเรื่องของการตายและการจากพรากเข้ามายุ่งขิงตั้งแต่ต้นเรื่องเลยทีเดียว ในคำโปรยของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า

“ที่นี่จะสอนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับแง่งามของชีวิต และช่วงเวลาแห่งความสุขที่อาจหาไม่ได้ หากยังมองหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะความเข้าใจและความรักเท่านั้นที่จะมอบสิ่งที่เราตามหาอยู่ได้”

ไม่ว่าอย่างไร ผลงานทั้งสองเล่มของประชาคมนี้ ก็น่าจะทำให้คนที่รักหนังสือ รักการอ่าน ได้อ่านอย่างมีความสุขพร้อมจินตนาการตามถึงร้านเล็กๆ ที่น่ารัก น่าเข้าไปจับต้อง ของทั้งสองเรื่องแน่นอน

และมันคือเสน่ห์ของหนังสือ ที่ทั้งเปิดมุมมอง สร้างปัญญา และให้โอกาสดีดีกับชีวิต

ยืนยันได้จากบทความนำร่องของผู้เขียนเองที่เขียนไว้ตอนต้นๆ ของหนังสือว่า

“หนังสือแต่ละเล่มที่ได้อ่าน ได้จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้อยากทำงานเขียนออกมาไม่รู้จบ หนังสือแต่ละเล่มที่สร้างสรรค์ออกมาได้สำเร็จ นอกจากเป็นเม็ดผลแห่งการอ่านแล้ว ทุกเล่มล้วนเป็นแรงงานแห่งความรัก”

“ความรักที่ทุ่มเทให้กับการทำงานทุกชิ้น จึงแฝงความมุ่งมาดปรารถนาในสันติ ความสุข ความเสมอภาคของผู้คนไว้ในเรื่องราวที่ได้บอกเล่า”

“ขอให้การอ่านจงอยู่กับท่าน พร้อมด้วยพลังชีวิต และแรงบันดาลใจ”

มาเริ่มอ่านกันนะครับ เลือกเล่มไหนก็ได้ หรือบางทีหนังสือนั่นแหละเป็นฝ่ายเลือกเรา ภูดินได้บอกกับครูแก้มไว้ตามนี้ •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์