80 ต้นไม้รอบโลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ขอพูดถึงการเมืองอีกสักวันเพราะคนไทยทั้งประเทศตั้งหน้าตั้งตารอคอยกระบวนการเปลี่ยนผ่านประเทศเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นไปอย่างราบรื่นตามระบอบประชาธิปไตยที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนให้เคารพในมติของเสียงส่วนใหญ่

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นที่รู้ว่า มีผู้หย่อนบัตรเลือกพรรคก้าวไกลมีมากถึง 14,438,851เสียง ได้ ส.ส.รวมกัน 151 คน

พรรคก้าวไกลจับมือร่วมกับพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรค มี ส.ส.มากถึง 313 คน มากเกินกึ่งของ ส.ส.ทั้งรัฐสภา และคะแนนที่ได้รับเลือกรวมกันกว่า 25 ล้านเสียง

นี่คือมติมหาชนที่ผนึกใจเลือกพรรคการเมืองฝั่งนิยมประชาธิปไตยเข้ามาเปลี่ยนผ่านประเทศ

เปลี่ยนจากประเทศที่มีผู้นำซึ่งมาจากรากเหง้า “เผด็จการ” มาเป็นผู้นำที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งและได้รับฉันทามติจากมหาชน

ผู้คนที่หย่อนบัตรเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคการเมืองฝั่งนิยมประชาชนมีมากเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิจำนวน 39,514,973 คน

ถ้าหากสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มเผด็จการ “คสช.” ยกมือโหวตค้าน “พิธา” เป็นนายกฯ เท่ากับปฏิเสธการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล

นั่นจะเป็นสัญญาณเตือนว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบเกิดปัญหาแล้ว และจะเป็นปัญหาอันร้าวลึกระหว่างฝั่งนิยม “เผด็จการ” กับนิยม “ประชาธิปไตย”

ยิ่งหากมีการเล่นเกมสกปรกเอาพรรคที่มาจากฝั่งเผด็จการผสมพันธุ์กันแล้วจัดตั้งรัฐบาลแทน “ก้าวไกล” ทำนายไว้เลยว่า ประเทศไทยลื่นไถลตกเหวนรก เป็นเหวแห่งความปั่นป่วนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

 

ผมเชื่อว่าทุกคนไม่อยากเห็นประเทศไทยลื่นไถลไปถึงจุดนั้น อยากให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างนื่มนวลราบรื่นและปล่อยวางให้คนรุ่นใหม่อย่าง “พิธา” เป็นผู้นำ บริหารประเทศ

ถ้า 4 ปี “พิธา” บริหารล้มเหลว ประเทศไม่เดินหน้าก็กลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งกันใหม่ ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน เพราะในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยก็พังย่อยยับมาแล้ว

อย่าลืมว่าตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มาจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ “คสช.” รวม 17 ปีประเทศไทยมีแต่ถอยหลังเข้าคลองในแทบทุกด้าน

ระบบการศึกษาของไทยวันนี้ ติดอันดับล้าหลังโลก ยิ่งภาษาอังกฤษที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของมวลมนุษยชาติ คนไทยมีทักษะในอันดับ 97 ของโลกเป็นรองพม่าและเขมร

รายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ในการประเมินสมรรถนะเด็กนักเรียนมาตรฐานสากลหรือที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) เด็กไทยมีมาตรฐานต่ำมาก เมื่อปี 2561 ด้านการอ่านอยู่อันดับ 68 คณิตศาสตร์อันดับ 59 และวิทยาศาสตร์อันดับที่ 55

ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เด็กไทยนำหน้าแค่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น

เมื่อเอาผล PISA ของเด็กในกรุงเทพฯ ไปเทียบกับเด็กต่างจังหวัด พบว่าเด็กใน กทม.มีคะแนนใกล้เคียงกับเด็กในประเทศพัฒนาแล้ว

เวิลด์แบงก์ยังสำรวจพบอีกว่า เด็กไทยในต่างจังหวัดอ่านออกเขียนได้แต่ใช้ในการทำงานไม่ได้ เมื่อใช้งานไม่ได้จะยกระดับคุณภาพการทำงานได้อย่างไร

นี่เป็นดัชนีชี้ให้เห็นความล้าหลังของระบบการศึกษาไทยซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นขบวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจน และเศรษฐกิจ

โลกวันนี้ อยู่กับภาษาอังกฤษ อยู่กับอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีดิจิทัล

ถ้าเด็กไทยไร้ทักษะขาดประสิทธิภาพในด้านการศึกษา โอกาสจะแข่งขันชิงนำประเทศอื่นๆ ริบหรี่มาก

บรรทัดนี้จึงอยากวิงวอนร้องขอผู้สูงวัยโดยเฉพาะ “สมาชิกวุฒิสภา” ซึ่งผ่านโลก ผ่านประสบการณ์ชีวิต โหวตเสียงสนับสนุนเปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” เช่นคุณพิธา และพรรคก้าวไกล เข้ามาบริหารประเทศ

“80 ต้นไม้รอบโลก”

วันก่อนมีโอกาสไปร่วมแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ก้าวสู่ปีที่ 47 แวะเข้าร้านหนังสือ “มติชนบุ๊คคลับ” ของมติชน เหลือบไปเห็นหนังสือ “80 ต้นไม้รอบโลก” หน้าปกสวยงาม รีบคว้าหมับเพราะแค่ชื่อก็ชอบแล้ว

คนเขียนหนังสือเล่มนี้ชื่อ “Jonathan Drori” หรือเรียกย่อๆ ว่า จอน เป็นทั้งนักสิ่งแวดล้อม นักเทคโนโลยี นักเขียน และเคยเป็นผู้อำนวยการผลิตหนังสารคดีวิทยาศาสตร์ของสำนักข่าวบีบีซีแห่งอังกฤษ ปัจจุบัน “จอน” เป็นสมาชิกของสวนพฤกษศาสตร์หลวง “คิว” กรุงลอนดอน และนักพูดสาธารณะ

ขึ้นพูดบนเวที “TED” ที่มีคนดูทั่วโลกกว่า 3 ล้านวิว

“จอน” เขียนในบทนำในหนังสือเล่มนี้ว่า ต้นไม้ในโลกนี้มีความหลากหลายมากจนน่าทึ่ง ตอนนี้รู้กันแล้วว่ามีชนิดที่แตกต่างกัน 60,000 ชนิด

“พืชไม่อาจวิ่งหนีจากสัตว์ที่ชอบกินก็เลยต้องผลิตสารน่ารังเกียจเพื่อไล่สัตว์เหล่านั้น ทั้งยางไม้ (gum) เรซิน (rasin) และน้ำยาง (latex) ไหลซึมออกมาเพื่อท่วมตัวแมลงและศัตรูพืชอื่นๆ วางยาพวกมัน รวมถึงตรึงไม่ให้เคลื่อนไหวได้ นอกจากนั้น ยังใช้กำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียได้ด้วย กลไกป้องกันตัวเองเหล่านี้ทำให้เรามีหมากฝรั่ง ยางพารา รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยที่ซื้อขายกันมานานที่สุดในโลกอย่างแฟรงคินเซนส์หรือกำยาน”

ต้นไม้ยังมีความสัมพันธ์อันน่าทึ่งกับสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย ต้นไม้โดยทั่วไปใช้ลูกเล่นฉลาดๆ เพื่อให้เกิดการถ่ายเรณูหรือยื่นหมูยื่นแมวเพื่อให้เมล็ดพืชกระจายออกไป หรืออาจถึงขั้นล่อศัตรูของศัตรูมาช่วยงาน

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสิ่งมีชีวิตยังเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามร้ายแรง

ยกตัวอย่างเมื่อดอกไม้บานเร็วขึ้นกว่าที่เคย แล้วต้นไม้ต้องพึ่งพาแมลงบางชนิดเพื่อถ่ายเรณู แต่แมลงยังมาไม่ถึง ณ ตอนนั้น พืชชนิดนี้อาจแพร่พันธุ์ไม่ได้เลย หรือแมลงอาจไม่มีอาหารกินเพราะมาเร็วเกินไปแล้วก็ยังมีพืชและสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องพึ่งพาแมลงชนิดนี้อีกต่อไป

“การปฎิเสธไม่เชื่อเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สมควรกล่าวถึงเพราะความกังขาในวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศไม่ว่าจะโดยจงใจหรือหลงผิด ก็ล้วนส่งผลต่อความอยู่รอดของต้นไม้หลายชนิด”

 

เนื้อหาในหนังสือ “80 ต้นไม้รอบโลก” ให้ความรู้ทั้งทางพฤกษ์ศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อย่างต้นลอนดอนเพลน (London Plane) มีใบใหญ่เหมือนใบเมเปิล ลำต้นสูงชะลูด

ชาวลอนดอนปลูกต้นลอนดอนเพลนในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อประดับจัตุรัสและถนนสายใหญ่ของกรุงลอนดอน เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติของเมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักร

การปลูกลอนดอนเพลนเหมือนจะสื่อให้รู้ว่านี่คือศูนย์กลางของประเทศอุตสาหกรรมอันทรงอำนาจ เป็นประเทศที่มั่นคงและมั่นใจมากพอจะวางแผนล่วงหน้านับร้อยปี แม้แต่ต้นไม้ยังแข็งแกร่งไม่ผุสลาย ช่างสมเป็นบริติชจริงๆ

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงยางพาราที่ปลูกกันมากในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างมีอรรถรส

ใครสนใจรายละเอียดก็ขอเชิญไปหาซื้ออ่านกันครับ •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]