ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (2)

 

ภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่ความศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 กองทัพคือหน่วยงานหนึ่งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการปรับเปลี่ยนความเป็นทหารแบบจารีตสู่ทหารสมัยใหม่ ที่นำมาสู่การจัดตั้งกระทรวงกลาโหมใน พ.ศ.2437, การปรับระบบเกณฑ์ทหาร, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนรูปแบบสงครามที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยดินปืนเป็นยุทธภัณฑ์หลักเหมือนเดิม

ทั้งหมดส่งผลให้ “ตึกดิน” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อสังคมแบบจารีตหมดบทบาทหน้าที่ลง

ต่อมา (ตามที่เราทราบกันดี) พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะถูกแนวถนนราชดำเนินกลางตัดผ่าน โดยแนวถนนวิ่งผ่านกลางเข้ามาในพื้นที่ตึกดิน ณ บริเวณด้านเหนือของตัวอาคารตึกดิน

ซึ่งทำให้อาคารตึกดินกลายมาเป็นอาคารที่อยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง

แม้ตัวอาคารจะหมดประโยชน์ใช้สอยแล้ว แต่ด้วยตำแหน่งที่สะดวกในการเดินทาง ทำให้ในปี พ.ศ.2449 ได้มีการขอใช้อาคารตึกดินที่ทิ้งร้างนี้เป็นสถานศึกษาของ “โรงเรียนสตรีวิทยา” (เวลานั้นมักเรียกว่า “โรงเรียนตึกดิน”)

ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารแบบจารีตมาสู่ประโยชน์ใช้สอยสมัยใหม่ที่น่าสนใจ

อาคารตึกดินของโรงเรียนสตรีวิทยา
ที่มา : สมุดภาพ 100 ปีสตรีวิทยา พุทธศักราช 2443-2543

ในช่วงของการปรับปรุงอาคารให้เป็นโรงเรียน ปรากฏหลักฐานเอกสารที่ทำให้เราสามารถย้อนจิตนาการลักษณะทางกายภาพของตึกดินในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้ ดังเนื้อความบางส่วนที่ยกมาด้านล่าง

“…ตึกดินเป็นตัวตึกสองแถวหันหน้าเข้าหากัน มีแถวละ 3 ห้อง มีชานกว้างตรงกลางที่ชานนั้นมีต้น ชมพู่อยู่ 4 ต้น…โรงเรียนตึกดิน เป็นนามที่เรียกกันทั่วไปแทนที่จะเรียกว่า โรงเรียนสตรีวิทยา เพราะตึกดินเป็นอาคารที่ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาดินปืนมาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงมีฝาผนังหนามากประมาณ 1 เมตร ก่อด้วยอิฐ ซึ่งดูแล้วสันนิษฐานได้ว่านำมาจากอยุธยาตอนมาตั้งราชธานี ลักษณะอิฐแผ่นใหญ่และหนามาก การก่อสร้างใช้ซุง และเสาทั้งต้น ทำเป็นเครื่องบนหลังคา พื้นกระดานหนาประมาณ 5 นิ้ว เพดาน หลังคาสูง ภายในตึกเรียนจึงเย็นชื้นแสงสว่างไม่ค่อยมี เพราะหน้าต่างเล็กหนาเท่ากับความหนาของกำแพง ห้องริมสองข้างมีหน้าต่างมากหน่อย คือ 5 ช่อง ด้านข้าง 2 ด้านหลัง 2 ด้านทางบันได ส่วนห้องกลางมีเพียง 2 ช่อง…” (อ้างถึงในหนังสือ “10 ทศวรรษ สตรีวิทยา” หน้า 102)

นอกจากหลักฐานเอกสาร ยังปรากฏภาพถ่ายเก่าบางมุมบางด้านของอาคารตึกดิน ในช่วงเวลาที่โรงเรียนสตรีวิทยาเข้ามาใช้สอย จากภาพแสดงให้เห็นว่าตึกดินเป็นอาคารทรงปั้นหยาสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลังตั้งขนานกัน มีเสาพาไลขนาดใหญ่โดยรอบอาคาร ช่องหน้าต่างค่อนข้างเล็ก

ส่วนพื้นที่ด้านในตึกดินใช้เก็บสิ่งของอะไรบ้าง แม้เราจะไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด แต่จากเอกสารกระทรวงโยธาธิการ พ.ศ.2436 ที่ระบุถึงเรื่องการเข้าไปสำรวจตึกดินแห่งหนึ่งเพื่อวางแผนซ่อมแซมและก่อสร้างใหม่ ได้ระบุว่าภายในตึกดินมี “ดินดำ” “ดินถ้ำ” “ถ้ำปัศตัน” และ “กระดาษไทย” ที่ใช้ในครั้งทัพฮ่อสำหรับรักษาพระนครเก็บรักษาอยู่

และเพื่อให้ภาพการใช้งานภายในที่ชัดเจนขึ้น เราอาจพิจารณาโยงไปสู่คำว่า Powder Mills ที่ปรากฏในแผนที่เก่า โดยพิจารณาร่วมกับอาคารลักษณะเดียวกันที่หลงเหลืออยู่ในต่างประเทศประกอบ

กังหันและแท่นบดผสม
ที่มา : Les Tucker, The Listed Buildings and Other Principal Structures at the Royal Gunpowder Mills
Waltham Abbey

โดยความหมายแล้ว Powder Mills อาจมีความหมายรวมไปถึงการผลิตดินปืนด้วย (มิได้เก็บรักษาเพียงอย่างเดียว) โดยการผลิตจะต้องมีการบดผสมส่วนประกอบต่างๆ ของดินปืนเข้าด้วยกัน ซึ่งหากลองเทียบเคียงกับระบบการทำงานของ “ตึกดินหลวง” (Royal Gunpowder Mills) ของอังกฤษ (สร้างราว พ.ศ.2230) ซึ่งมีหลักฐานหลงเหลืออยู่มาก เราจะมองเห็นการสร้างอาคารที่เป็นตึกสองหลังคู่กัน คล้ายกับแผนผังตึกดินของไทย

นอกจากนี้ “ตึกดินหลวง” ของอังกฤษ เราจะมองเห็นกังหัน ซึ่งมีหน้าที่หมุนแท่นบดสองอันซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารที่สร้างติดกันเป็นอาคารแฝด รวมถึงการเลือกที่ตั้งของอาคารที่ติดอยู่กับคูน้ำหรือคลอง เพื่อใช้น้ำเป็นแหล่งพลังงานแก่กังหัน ซึ่งคูคลองเหล่านี้ยังใช้เป็นเส้นทางลำเรียงวัตถุดิบต่างๆ และเส้นทางคมนาคมเข้าออกพื้นที่อีกด้วย

ตัวอย่างเทียบเคียงดังกล่าว อาจช่วยทำให้เราเข้าใจหรือตั้งสมมุติฐานเพิ่มเติมในบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายคูคลองที่ปรากฏอยู่โดยรอบของตึกดินของไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้ นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่เป็นร่องสวนทั่วไป

ภาพสันนิษฐานอาคารตึกดินและพื้นที่โดยรอบ
ที่มา : งานวิจัย 120 ปีถนนราชดำเนิน โดย ชาตรี ประกิตนนทการ

จากหลักฐานที่กล่าวมา ประกอบเข้ากับแผนที่เก่าอีกหลายฉบับ ทั้งแผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย (พ.ศ.2430), แผนที่การวางแนวถนนจากบริเวณถนนข้าวสาร ไปต่อกับถนนรอบนคร (พ.ศ.2436), และแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 ทำให้พอจะสันนิษฐานหน้าตาอาคารตึกดินได้ดังนี้

ตัวอาคารออกแบบเป็นอาคารคู่สองหลังตั้งขนานกัน หลังคาทรงปั้นหยา ไม่มีการยื่นกันสาด แต่มีการทำเสาพาไลรับหลังคาด้านแปด้านหนึ่ง ส่วนด้านสกัดทำเป็นเสาพาไลหลังคาคล้ายลักษณะจันหับ หน้าต่างเจาะช่องเป็นสี่เหลี่ยมอาคารทึบ ผนังหนา ก่อด้วยอิฐ และเจาะช่องหน้าต่างขนาดเล็ก

จากรูปแบบข้างต้น ทำให้พบว่า มีอาคารซึ่งมีลักษณะการใช้งานคล้ายกัน โดยมีรูปแบบและอายุสมัยใกล้เคียงกันกับอาคารตึกดินหลงเหลืออยู่ คือ อาคารที่ปัจจุบันเรียกว่าอาคาร “คลังราชการ” บริเวณท่าเตียน อาคารแห่งนี้ไม่มีประวัติแน่ชัดนัก โดยแต่เดิมเป็นพื้นที่ “วังคลังเก่า” หรือ “วังคลังสินค้า”

ย้อนกลับมาที่โรงเรียนสตรีวิทยาอีกครั้ง หลังจากใช้งานตึกดินเป็นอาคารเรียนยาวนาน 30 ปี ราว พ.ศ.2480 รัฐบาลคณะราษฎรได้ทำการเวนคืนที่ดินสองข้างทางถนนราชดำเนินกลางเพื่อทำการสร้างอาคารสองข้างทางพร้อมทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

โครงการดังกล่าวทำให้ต้องมีการรื้ออาคารตึกดินลง รัฐบาลคณะราษฎรจึงได้ทำการย้ายโรงเรียนสตรีวิทยามาอยู่บนพื้นที่โล่งฝั่งตรงข้ามถนนราชดำเนินกลางแทน (พื้นที่ร่องสวนเดิมที่เคยเป็นขอบเขตด้านทิศเหนือของพื้นที่ตึกดินเดิม) ซึ่งก็คือพื้นที่โรงเรียนสตรีวิทยาในปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎรให้แทนอาคารเรียนเดิม

สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายในโรงเรียนสตรีวิทยาปัจจุบัน ยังปรากฏความทรงจำว่าด้วยตึกดินหลงเหลืออยู่

นั่นก็คือ “ศาลเจ้าพ่อตึกดิน”

แผนที่แสดงโรงเรียนสตรีวิทยาที่ใช้อาคารตึกดินเดิมเป็นโรงเรียน
ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ

ตามคำบอกเล่า ศาลเจ้าพ่อตึกดิน เชื่อกันว่าน่าจะเคยมีอยู่มาก่อแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งโรงเรียนยังใช้อาคารตึกดินเดิมเป็นอาคารเรียน โดยเป็นศาลที่สร้างขึ้นด้วยไม้ตั้งอยู่ในบริเวณบ่อน้ำและดงกล้วยหลังโรงเรียน

ศาลดังกล่าวมิได้เป็นเพียงที่เคารพสักการะเฉพาะของครูนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่เคารพของคนในละแวกนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อมีการย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่ใหม่ในปัจจุบัน จึงได้ทำการอัญเชิญเจ้าพ่อตึกดินข้ามถนนมาด้วย และทำการสร้างศาลให้ใหม่บริเวณใต้ต้นโพธิ์ด้านหน้าโรงเรียน

ศาลเจ้าพ่อตึกดินโรงเรียนสตรีวิทยามีการซ่อมและสร้างขึ้นใหม่หลายคราว และก็ยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่เคารพของครูนักเรียน ควบคู่กับศาลเจ้าแม่ทับทิม และศาลพระยาทรงสุรเดช

โรงเรียนสตรีวิทยาเมื่อย้ายมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน มองเห็นอาคารเรียนที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมคณะราษฎร
ที่มา : สมุดภาพ 100 ปีสตรีวิทยา พุทธศักราช 2443-2543

พื้นที่ถัดออกมาจากโรงเรียนสตรีวิทยาด้านทิศตะวันตก คือชุมชนมุสลิมเก่าแก่ชื่อ “ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน” ซึ่งมีศูนย์กลางชุมชนคือ “มัสยิดตึกดิน”

ชุมชนนี้ในอดีตอาศัยอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ก่อนจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยในอดีตผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำทองคำเปลว ชาวชุมชนมัสยิดตึกดินยังมีชื่อเสียงด้านการทำอาหารมุสลิมหลายอย่าง เช่น ข้าวหมกไก่ แกงมัสมั่น และมะตะบะ

เห็นได้ชัดว่า ชื่อชุมชนและมัสยิดถูกตั้งชื่อขึ้นมาจากความทรงจำของพื้นที่ตึกดิน หากสอบถามคนเก่าแก่ในชุมชนเราก็ยังพบเรื่องเล่าที่ยึดโยงกับอาคารเก็บดินปืนโบราณยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในแบบเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในโรงเรียนสตรีวิทยา

อีกหนึ่งหลักฐานความทรงจำ คือ ตรอกตึกดิน และ สะพานตึกดิน บนถนนดินสอ โดยที่ตั้งของตรอกและตัวสะพานก็คือพื้นที่ขอบเขตด้านทิศใต้ของอาคารตึกดินเดิม และแน่นอนว่า การตั้งชื่อลักษณะนี้ย่อมแสดงให้เห็นอีกเช่นกันถึงความทรงจำเก่าแก่ที่เคยครอบครองพื้นที่ความทรงจำหลักของผู้คนในบริเวณนี้มาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ และตั้งแต่ก่อนที่จะมีการตัดถนนราชดำเนินเป็นร้อยปี

ด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำมากมายที่กล่าวมา ย่อมเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าการอนุรักษ์และพัฒนาถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องในอนาคตจะละทิ้งเรื่องราวเหล่านี้ และปล่อยให้ความทรงจำทั้งหมดเลือนหายไป

ศาลเจ้าพ่อตึกดิน โรงเรียนสตรีวิทยา
ที่มา : สมุดภาพ 100 ปีสตรีวิทยา พุทธศักราช 2443-2543