ศัลยา ประชาชาติ : สู้กระแสดิจิตอลไม่ไหว อาร์เอส เลิกปั้นนักร้อง เดินหน้าขายครีมเต็มตัว

ธุรกิจค่ายเพลง ผู้ปลุกปั้นศิลปินนักร้อง สร้างความสุขให้กับคนทั้งประเทศ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูก “ล้างไพ่” ถูก “ดิสรัปชั่น” (Disruption) หรือทำลายล้างอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนการขยายตัวของสื่อดิจิตอล

สดๆ ร้อนๆ ก็คือ ค่ายเพลงยักษ์ “อาร์เอส โปรโมชั่น” ที่ยืดอกออกมาประกาศเว้นวรรคจากธุรกิจนี้

จากเดิมที่ “เพลง” คือแหล่งขุมทรัพย์สร้างรายได้หลัก และสร้างชื่อให้ชาวบ้านร้านตลาดรู้จัก ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าอาร์เอสจะจับ หรือจะทำอะไร จะปั้นศิลปินคนไหน ก็เรียกว่าดังแบบพลุแตก

ยกตัวอย่าง โดม ปกรณ์ลัม, แร็พเตอร์, เจมส์ เรืองศักดิ์, ดีทูบี และอีกมากหน้า ล้วนแจ้งเกิดจากที่นี่ สามารถสร้างสถิติด้วยยอดขายเทประดับล้านตลับ ส่งให้ชื่อของอาร์เอสขึ้นเป็นค่ายเพลงยอดนิยมของวัยรุ่น

นั่นคือยุคแรกของอาร์เอส ทุกอย่างเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบไปหมด

กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มเบ่งบาน

 

ช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว อาร์เอสต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกับผู้ผลิตเพลงทั่วโลก นั่นคือ รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ผู้บริโภคจะไม่ได้ฟังเพลงลดลง แต่ก็เปลี่ยนช่องทางการฟังเพลง

การสร้างรายได้จากธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอาร์เอสมาตลอดหลายปี ต้องถูกตีโจทย์ใหม่ เพราะพฤติกรรมคนฟังเพลงเปลี่ยน ไม่ได้ซื้อเทป แต่เปลี่ยนเป็นการดาวน์โหลดเพลงจากอินเตอร์เน็ต

ทำให้ต้องปรับรูปแบบการหารายได้ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2553 พร้อมเปิดกลุ่มธุรกิจใหม่ “ออนไลน์บิสสิเนส” เพื่อเปิดตลาดขายเพลงออนไลน์ หวังสร้างฐานสมาชิก สร้างรายได้จากช่องทางการดาว์นโหลดเพลงของคนฟัง

ทว่าการขยายตัวของสื่อดิจิตอลไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่กลับเพิ่มโจทย์ยากขึ้นเรื่อยๆ จากแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ขยายตัวนบนโลกดิจิตอล โดยเฉพาะยูทูบ ขณะที่เจ้าของค่ายเพลงก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้จากช่องทางนี้ได้

ปี 2555 อาร์เอสตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ถนนเส้นใหม่กับการเกาะกระแสทีวีดาวเทียมที่กำลังรุ่งเรือง เพื่อหารายได้มาทดแทนธุรกิจเพลง

พร้อมๆ กับการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลในปี 2556

 

ช่วงปี 2558 ทิศทางของอาร์เอสก้าวสู่ธุรกิจทีวีเต็มตัว มีทั้งทีวีดิจิตอล (ช่อง 8) และทีวีดาวเทียม 4 ช่อง ขณะเดียวกับธุรกิจเพลงถูกลดบทบาทลง เป็นเพียงธุรกิจต้นน้ำในการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ๆ

แต่ที่สร้างความตื่นตะลึงก็คือ จู่ๆ อาร์เอสเปิดตัวธุรกิจใหม่ที่แทบไม่เกี่ยวข้องธุรกิจเดิมแม้แต่น้อย

นั่นคือ การพัฒนาธุรกิจสุขภาพ และความงาม ภายใต้ชื่อแบรนด์ มาจีค รีไวฟ์ และ เอส.โอ.เอ็ม

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ มาพร้อมกับกระแสหนาหูว่า อาร์เอสกำลังปิดค่ายเพลงทั้งหมด เพราะบรรดาผู้บริหารค่ายเพลงเล็กใหญ่ในเครืออาร์เอส ต่างทยอยลาออก เช่นเดียวกับศิลปินในสังกัดที่พากันตบเท้าออกไปรับงานบันเทิงแบบอิสระ

เช่นเดียวกับคำถามที่ตามมาถึงย่างก้าวในอนาคตของ “อาร์เอส”

 

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากอาร์เอสครั้งสำคัญ เมื่อเฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ประกาศชัดว่า ปี 2561 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของอาร์เอส ที่มีธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจหลักมากว่า 35 ปี

ด้วยการเริ่มต้นโมเดลธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์การทำธุรกิจจากสถานการณ์การแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทในระยะยาว

“เฮียฮ้อ” ย้ำว่า … จากนี้ไปถึงแม้ธุรกิจเพลงของอาร์เอสจะยังคงอยู่ แต่จะไม่เน้นที่การเติบโตของรายได้ แต่จะให้ความสำคัญกับการปรับรูปแบบการบริหารจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น ด้วยการปรับยุบค่ายเพลงทั้งหมด และเหลือเพียงค่ายอาร์สยามที่มาด้วยรูปโฉมใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคมนี้ ภายใต้แนวคิด “ดนตรีไร้ขอบ” ที่ไม่จำกัดเฉพาะการนำเสนอเพลงลูกทุ่ง แต่จะเปิดกว้างสำหรับทุกๆ แนวเพลง

ขณะเดียวกันก็คืนสัญญาให้แก่ศิลปินในสังกัดกว่า 100 ชีวิต พร้อมกับการเริ่มคัดศิลปินที่มีศักยภาพเพื่อเริ่มต้นตามนโยบายของค่ายอาร์สยามโฉมใหม่

แน่นอนว่า ศิลปินทำเงิน ยังคงอยู่กับอาร์สยามต่อไป ทั้ง ใบเตย จ๊ะ นงผณี กระแต กระต่าย และจะเริ่มสตาร์ตนโยบายใหม่ในปีหน้าด้วยการปล่อยผลงานใหม่ 40 ซิงเกิลตลอดปี

แม้อาร์เอสไม่ได้ปิดฉากธุกิจเพลง แต่ลดสเกลการปั้นศิลปินนักร้องลงเรื่อยๆ

 

แผนงานใหม่ของ “เฮียฮ้อ” จะพุ่งเป้าไปที่การให้น้ำหนักกับรายได้ที่จะมาจากธุรกิจสุขภาพ ความงาม ภายใต้ 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ มาจีค, รีไวฟ์ และ เอส.โอ.เอ็ม ซึ่งเจ้าตัวมั่นใจว่าจะสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำแน่นอน เพราะมีขนาดตลาดที่ใหญ่มาก หลังจากทดลองเปิดตลาดสินค้ามาพักใหญ่

งานนี้ “เฮียฮ้อ” สั่งลุยเต็มกำลัง ด้วยการประกาศเป้าหมายว่า ปี 2561จะมีรายได้รวม 5,300 ล้านบาท มาจากธุรกิจสุขภาพความงาม 2,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47%

ส่วนธุรกิจสื่อ (ทีวีดิจิตอล) ที่เคยเป็นเรือธงหลัก ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2,450 ล้านบาท คิดเป็น 46%

ขณะที่ธุรกิจเพลงคาดว่าจะทำรายได้เพียงแค่ 250 ล้านบาท หรือราวๆ 5% เท่านั้น (ที่เหลือมาจากรายได้อื่นๆ)

แนวคิดของ “เฮียฮ้อ” ชัดเจนว่าที่ไหนมีปลาชุมก็พร้อมจะลงแข่งในสมรภูมินั้น แม้ธุรกิจใหม่อาจมีความเสี่ยง แต่ถ้ายังอยู่ในธุรกิจเดิมๆ พื้นที่เดิมๆ ทั้งที่สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยน น่าจะเป็นความเสี่ยงมากกว่า

และวันนี้ถึงเวลาที่อาร์เอสต้องพลิกตัวแบบ 360 องศา เพื่อสร้างความอยู่รอด โดยไม่ยึดติดกับการเป็นค่ายเพลงหรือธุรกิจสื่ออีกต่อไป