ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Soul City (Pyramid of Oranges) | ประติมากรรมพีระมิดส้ม ที่ให้ทุกคนเลือกหยิบได้อย่างเสรี
ท่ามกลางกระแสการเมืองไทยในช่วงนี้ ที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ และ (หวังว่า) กำลังจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดจากเสียงประชาชนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ในตอนนี้เราเลยขอเกาะกระแสที่ว่านี้ ด้วยการเล่าถึงผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกันในเชิงสัญลักษณ์บางอย่างก็แล้วกัน
ผลงานศิลปะที่ว่านี้เป็นของ โรโลฟ เลาว์ (Roelof Louw) ศิลปินชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกัน ผู้ทำงานในสื่อประติมากรรมและภาพถ่าย
เลาว์เกิดในแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะย้ายไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1961 เขาทำงานในลอนดอน, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, เคปทาวน์ แอฟริกาใต้ และเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการประติมากรรมสำคัญๆ ของศตวรรษที่ 20 หลายต่อหลายครั้ง

ผลงานของเขามักทำขึ้นในรูปแบบของศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงาน โดยมากมักเป็นวัตถุข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อยประกอบเข้าด้วยกันเป็นผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ และมักเป็นวัสดุรอบตัวทั่วไปอันหลากหลาย ตั้งแต่แผ่นไม้, เหล็ก, เสานั่งร้าน, เชือก, หลอดไฟนีออน, หนังยางรัดของ, แผ่นตะกั่วม้วน หรือเทปบันทึกเสียง ที่บันทึกความเคลื่อนไหวของผู้ชมรอบๆ พื้นที่แสดงงาน
ผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขาที่เรากำลังจะกล่าวถึงในตอนนี้ก็คือ Soul City (Pyramid of Oranges) (1967) ผลงานประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยผลส้มเปลือกหนาจำนวนเกือบหกพันผล วางเรียงกันเป็นรูปพีระมิด ในกรอบไม้สี่เหลี่ยมปูด้วยผืนผ้าพลาสติกสีเทา แล้วก็ไม่ได้แค่วางเอาไว้เฉยๆ
หากแต่ในระหว่างจัดแสดง ทางศิลปินและหอศิลป์ก็เชื้อเชิญผู้คนที่เข้าชมงานให้เลือกหยิบส้มไปได้คนละหนึ่งผล

เลาว์ทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อแสวงหาความเข้าใจและความหมายใหม่ๆ ของงานประติมากรรม รวมถึงผลักพรมแดนของงานประติมากรรมให้กว้างไกลออกไป เขากล่าวว่า เขาต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงโต้ตอบระหว่างผลงานประติมากรรมกับสภาพแวดล้อมที่มันตั้งอยู่ รวมถึงผู้ชมที่เข้ามาชมมันด้วย
ถึงแม้จะเป็นงานที่แลดูทำง่าย ใครๆ ก็ลอกเลียนแบบได้ แต่เลาว์และหอศิลป์ Tate ก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานชิ้นนี้ร่วมกันแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ประติมากรรมพีระมิดส้มชิ้นนี้ถูกแสดงเป็นครั้งแรกในนิทรรศการ The Orange Pyramid Show ที่หอศิลป์ Arts Lab ในลอนดอน ปี 1967 โดยเลาว์อธิบายถึงตัวงานและที่มาที่ไปว่า
“พีระมิดส้ม (ความสูง 5.6 ฟุต) ชิ้นนี้ สร้างขึ้นจากส้มจำนวน 5,800 ผล ทุกคนที่เข้ามาในหอศิลป์จะถูกเชิญชวนให้หยิบส้มไปกิน หรือเอากลับบ้านไปได้ตามใจชอบ โดยประติมากรรมส้มจะถูกตั้งเอาไว้เป็นเวลาสองสัปดาห์”
“ในแง่หนึ่ง ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นการใช้วัตถุ (ส้ม) ตามสภาพของตัวเอง (โดยไม่มีการดัดแปลงใดๆ) เพื่อสร้างสถานการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ในอีกแง่หนึ่ง มันก็สร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่และผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะเจาะจงด้วย”
เลาว์ได้แรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้จากการได้เห็นส้มวางเรียงเป็นกองพะเนินสูงท่วมหัวในร้านขายของชำ พีระมิดส้มขนาดความสูง 5 ฟุต 6 นิ้ว ชิ้นนี้ เป็นสัดส่วนที่ทำให้นึกไปถึงร่างกายมนุษย์ การจัดเรียงผลส้มเป็นกองรูปทรงพีระมิดอย่างเป็นระเบียบ ทำให้รู้สึกถึงความสมบูรณ์แบบ
แต่ในขณะเดียวกัน การให้ผู้ชมทุกคนที่เข้ามาชมงานหยิบส้มในกองไปได้ตามใจชอบ ก็ทำโครงสร้างรูปพีระมิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่พังทลายลง จากจำนวนส้มที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ได้
แต่ถึงแม้จะไม่มีใครหยิบส้มไปเลยแม้แต่ผลเดียวก็ตาม ส้มเหล่านี้ก็จะเหี่ยวเฉาและเน่าสลายไปตามธรรมชาติและกาลเวลาอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ ตัวประติมากรรมพีระมิดส้มชิ้นนี้จะถูกตั้งเอาไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และทุกครั้งที่ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงใหม่ ส้มสดใหม่จะถูกนำมาจัดแสดงเสมอ

ในปี 2000 เลาว์กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ของเขาว่า
“ผู้ชมแต่ละคนที่เข้ามาในหอศิลป์จะถูกเชื้อเชิญให้หยิบผลส้มหนึ่งผล ด้วยการหยิบส้มไปผลหนึ่ง ผู้ชมแต่ละคนจะทำหน้าที่เปลี่ยนรูปแบบโมเลกุลของกองส้มกองนี้ และมีส่วนร่วมในการบริโภคมัน (ส่วนจะบริโภคอย่างไรนั้น ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกัน)”
Soul City (Pyramid of Oranges) เป็นผลงานประติมากรรมที่ฉีกตัวเองออกจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของงานประติมากรรมสมัยใหม่ ด้วยการใช้วิธีคิดและวัสดุในการสร้างงานประติมากรรมที่แตกต่างจากแบบแผนเดิมๆ และสร้างปฏิสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผลงานศิลปะและผู้ชม ด้วยการไม่เพียงให้ผู้ชมสัมผัสจับต้องผลงานศิลปะ ทั้งที่ปกติ ผู้ชมทำได้แค่เพียง “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” เท่านั้น

หากแต่ในผลงานของเลาว์ ผู้ชมสามารถหยิบฉวยเอาไปกินลงท้อง หรือเอากลับบ้านไปได้ตามใจชอบ
สิ่งนี้ทำให้เลาว์ไม่เพียงสร้างแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานของประติมากรรมในพื้นที่และเวลา หากแต่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงโต้ตอบโดยตรงระหว่างงานประติมากรรมกับสภาพแวดล้อมและผู้คนที่อยู่รายรอบมัน เขายังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างงานประติมากรรมที่ทำงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคม (ดังเช่นชื่อของผลงานอย่าง Soul City หรือ “เมืองแห่งจิตวิญญาณ”) และเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันในชุมชนได้หรือไม่?
จะว่าไป ประติมากรรมพีระมิดส้มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างเสรีนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในสังคม ว่าไหมครับ ท่านผู้อ่าน? •
ข้อมูล https://shorturl.at/xzIPX, https://shorturl.at/adAR1, https://shorturl.at/hKORS
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022