ดีลลับ-สูตรรัฐบาลและนายกฯ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย จับมือกันแน่นหนาเพื่อเดินหน้าตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง ดูแล้วหนักแน่นมั่นคงแน่นอน แต่เพราะขั้นตอนการโหวตนายกฯ ยังมีด่านสำคัญคือ 250 ส.ว. ตั้งป้อมสกัดขัดขวางนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล อย่างไม่ลดละ

เชื่อกันว่าเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง กลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ รวมหัวกัน เพื่อดันหลัง ส.ว.ให้เดินหน้าต้านผู้นำพรรคสีส้มอย่างสุดกำลังอีกด้วย สถานการณ์ตั้งรัฐบาลจึงยังดูไม่แน่นอนนัก

อีกทั้งเชื่อว่า ยังมีความเคลื่อนไหวในทางลับ เพื่อทำให้สูตรการตั้งรัฐบาลเกิดการพลิกผัน หวังจะผลักก้าวไกลให้หลุดไปเป็นฝ่ายค้านอีกด้วย

นี่จึงเป็นที่มีของข่าว “ดีลลับ” ซึ่งมีทั้งข่าวจริง และข่าวปล่อยเพื่อต้องการทำให้ก้าวไกลกับเพื่อไทยแตกคอกัน

เนื่องจากทุกกระแสข่าวยืนยันตรงกันว่า เครือข่ายที่สกัดพรรคก้าวไกลนั้น ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลเอง เพราะมีความชอบธรรมในฐานะพรรคที่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 ง่ายที่สุดหากจะจัดการให้พรรคอันดับ 1 พ้นทางไป ก็ต้องให้พรรคอันดับ 2 นั่นแหละ เป็นผู้จัดรัฐบาล

อ้างเหตุผล เหมือนหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 แต่พรรคอันดับ 2 คือ พลังประชารัฐ สามารถรวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้มากกว่า แถมมี 250 ส.ว.พร้อมยกมือให้อีกด้วย สุดท้ายพรรคอันดับ 2 ก็ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน

ข้อสำคัญ การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาเป็นก้าวไกล เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบแหลมคม เปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง

นี่จึงกลายเป็นภาพเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย พรรคที่โดนทหารก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มมาแล้วถึง 2 หน ภายใต้ข้อกล่าวหาร้ายแรง

แต่พอมีก้าวไกล ทำให้เพื่อไทยดูซอฟต์ลงทันที ในสายตาของเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองไทย ทำให้เพื่อไทยเป็นที่ไว้วางใจจากเหล่าขุนศึกขุนนางเป็นอย่างมาก

เพราะเชื่อว่ามีฝีมือมาฟื้นเศรษฐกิจได้ พร้อมกับสามารถประนีประนอมกับเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองได้ด้วย แถมพรรคลุงๆ ตัวแทนอนุรักษนิยมการเมืองของแท้ก็หมดสภาพไปตามๆ กัน

ถึงขนาดที่ว่า หากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่เกิดการพลิกล็อก โดยเพื่อไทยเป็นพรรคชนะอันดับ 1

เชื่อได้เลยว่า การตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย จะลื่นไหล ไม่โดนอำนาจพิเศษ กลไกอำนาจพิเศษ จัดการเหมือนในอดีตอีกต่อไป

เพราะพรรคที่ฝ่ายอำนาจนอกระบบ หวั่นเกรง ไม่ต้องการให้เข้ามามีอำนาจเลย คือ ก้าวไกล!

 

เมื่อผลเลือกตั้งเกิดปรากฏการณ์ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบถึงระดับโครงสร้าง ต้องการพรรคประชาธิปไตยแหลมคม ไม่ใช่พรรคประชาธิปไตยเน้นแก้ปากท้องอย่างเดียว จึงทำให้ก้าวไกล ชนะเป็นอันดับ 1 มี ส.ส. 151 เสียง เหนือกว่าเพื่อไทย ที่ได้ ส.ส. 141 เสียง

เพื่อไทยจึงไม่มีฐานะเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล ต้องถอยให้ก้าวไกลเป็นผู้ดำเนินการ

พร้อมๆ กัน ความที่เป็นพรรคขั้วเดียวกัน เป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นฝ่ายค้านเดิมมาด้วยกัน ทำให้ก้าวไกลกับเพื่อไทย ต้องร่วมกันเดินหน้าตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปไตย เท่ากับทำให้สูตรตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของพวกลุงๆ ต้องเป็นหมันไปด้วย

แต่เพราะเครือข่ายขุนศึกขุนนางพร้อมทั้งเหล่าทุนใหญ่รวมตัวกันทันที เพื่อเป้าหมายหยุดพิธาและก้าวไกล

จึงทำให้โอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธา เริ่มเต็มไปด้วยขวากหนาม แถมด้วยการร้องคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี ก็อาจจะเป็นอีกดาบเพื่อเชือดพิธาให้พ้นไปจากวงการการเมือง

เช่นนี้ จึงทำให้โอกาสเริ่มย้ายมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย!

เกิดกระแสร้อนแรงในหมู่ ส.ว. ให้สกัดนายพิธา แล้วเปิดให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย เป็นนายกฯ แทน ให้เพื่อไทยเป็นผู้นำรัฐบาลแทน

แต่พร้อมๆ กันก็เกิดกระแสในหมู่ ส.ว. แยกออกเป็น 2 ทาง

ทางหนึ่งคือ ปิดประตูตายการเป็นนายกฯ ของก้าวไกล เพื่อให้เพื่อไทยเป็นนายกฯ แต่การตั้งรัฐบาลอยู่ในสูตรเดิม คือ ก้าวไกลกับเพื่อไทยยังร่วมเป็นรัฐบาล ภายใต้ 8 พรรคเดิม

อีกทางหนึ่งคือ ปิดประตูเป็นนายกฯ ของก้าวไกล แต่จะกดดันเพื่อไทย ให้สลายขั้วในการตั้งรัฐบาล เพื่อเอาก้าวไกลออกไปจากการเป็นรัฐบาลด้วย

กระนั้นก็ตาม สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว หากแผนของเหล่า ส.ว.จัดการกับแคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกลได้สำเร็จ เป็นการเปิดทางให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยได้เป็นแทน

แต่เพื่อไทยย่อมปรารถนา การตั้งรัฐบาลตามสูตรเดิมคือ มีก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย จะเป็นสูตรที่ทำให้ไม่เกิดแรงกระเพื่อมมากไป ไม่ทำให้มวลชนที่เลือกก้าวไกล เกิดความไม่พอใจจนถึงจุดเดือด

ถ้าสกัดก้าวไกล จนทำให้เพื่อไทยได้เป็นนายกฯ แต่จะถึงขั้นสลายขั้วไปเลยนั้น เพื่อไทยไม่อยากเลือกหนทางนี้แน่ๆ เพราะจะทำให้เพื่อไทยเองต้องตกเป็นจำเลยไปด้วย

แต่ถึงที่สุดแล้ว กว่าจะถึงวันโหวตแต่งตั้งนายกฯ คือต้นเดือนสิงหาคม

เท่ากับว่ายังมีเวลาให้พรรคก้าวไกลทำงาน ประสานพูดคุยกับ ส.ว. ได้อีกไม่น้อย อาจจะสามารถคลี่คลายกระแสของ ส.ว. จนได้เสียง 64 วุฒิสภามาโหวตให้ก็เป็นได้

แม้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว มีแนวโน้มจะเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย!!

 

สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้เกิดกระบวนการ “ดีลลับ” เพื่อเปลี่ยนสูตรตั้งรัฐบาล มีทั้งข่าวจริงบ้าง ข่าวปล่อยบ้าง โดยเฉพาะข่าวล่าสุดจากสนามฟุตบอลคิง เพาเวอร์ สเตเดียม เมืองเลสเตอร์ อังกฤษ

เมื่อปรากฏภาพนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ไปนั่งเชียร์บอลในสนาม แล้วมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปปรากฏตัวด้วย แต่อันที่จริงยังมีคนดังอีกมากมายจากไทยไปอยู่ในที่แห่งนั้น เช่น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่มีสายสัมพันธ์กับหลายพรรค

แต่เมื่อเป็นเศรษฐากับอนุทิน ก็เลยโดนจับตามอง กลายเป็นข่าวลือดีลลับ

กระนั้นก็ตาม คำอธิบายเศรษฐาก็ยืนยันว่า ไม่มีดีลเรื่องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าคุยกันคงไม่ต้องมาถึงอังกฤษมั้ง

โดยเศรษฐายืนยันว่า มีความสนิทสนมกับครอบครัวเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของทีมเลสเตอร์มายาวนาน มาให้กำลังใจในนัดสุดท้ายเพื่อหนีตกชั้น ตามประสาคนบ้าบอล และแพลนเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนแล้ว

ส่วนอนุทิน รู้จักกันส่วนตัวอยู่แล้ว บังเอิญมาเจอกันก็ทักทายกัน

ความจริงแล้ว สถานที่ที่เศรษฐาและอนุทิน รวมทั้งบิ๊กเนมอีกหลายคนไปเจอกันนั้น อยู่ท่ามกลางคนราว 3 หมื่นคนที่ไปดูบอลวันนั้น คงไม่เป็นความลับแน่ๆ

ความที่เลสเตอร์ เป็นสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ที่เจ้าสัวคนไทยเป็นเจ้าของ และเคยกว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษได้เมื่อ 8 ปีก่อน จึงมีกระแสนิยมในหมู่คนไทย

ในนัดสุดท้ายของฤดูกาล จะเป็นนัดชี้ชะตาว่าจะตกชั้นไปอยู่ลีกระดับถัดไปหรือไม่ บรรดาคนดังในไทยที่สนิทสนมกับเจ้าสัว จึงพากันมาร่วมให้กำลังใจ

ดังนั้น “ดีลลับ” กลางสนามเลสเตอร์ จึงไม่น่าเป็นไปได้

แต่ก็นั่นแหละ ตราบใดที่พรรคก้าวไกลยังเป็นเป้ารุมสกัด และโอกาสของเพื่อไทยจะได้นายกฯ มีอยู่สูงมาก

เช่นนี้แล้วข่าวดีลลับ ก็คงไม่จบสิ้นไปง่ายๆ!!