ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
จับตาหุ้นไอทีวี ชนักปักหลัง ‘พิธา’ หลัง ‘เรืองไกร’ ขยับ ‘วิษณุ’ เปิดปาก อย่าวางใจ-เกมแห่งความเสี่ยง
แม้ดราม่าระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จากประเด็นเก้าอี้ตำแหน่งประธานสภา จะปรับโทนเบาลง
สิ่งต่อไปที่ชวนให้ติดตามอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ นอกจากการรับรองผลการเลือกตั้ง 2566 เมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็คงหนีไม่พ้นกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังถูก “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน กกต. กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของพิธา
โดยต้องการให้ กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
ทันทีที่ตกเป็นกระแสข่าว พิธาก็ได้โพสต์ข้อความในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเอง ชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก.มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช.ไปนานแล้ว ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้”
แต่ก็ไม่ทำให้ยอดนักร้องอย่างนายเรืองไกร รามือ ยังคงเข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2566 และตารางรายได้รวมของไอทีวี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2565 (ยกเว้นปี 2555) พร้อมกล่าวว่านายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 การที่นายพิธาออกมาระบุว่าได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ก็ขอบคุณ เพราะถือว่าเป็นการยอมรับแบบแบ่งรับแบ่งสู้ เป็นเรื่องที่ดี แม้จะระบุว่าหุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง เป็นกองมรดก และตัวเองเป็นผู้จัดการเท่านั้น แต่อยากให้ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เขียนเพียงว่าผู้จะลงสมัคร ส.ส.ต้องไม่เป็นผู้ถือครองหุ้นสื่อ
ล่าสุดเมื่อ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายเรืองไกรได้เข้าให้ข้อมูล กกต.เพิ่มเติม พร้อมพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมอีกครั้ง ก่อนจะพูดเรื่องนี้ว่า นายพิธาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยพรรคอนาคตใหม่ ปี พ.ศ.2562 จึงต้องย้อนไปตรวจสอบด้วย ถ้าถือหุ้นไอทีวี ตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 แล้วได้เป็น ส.ส. ทาง กกต.ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตัดสิทธิพิธาย้อนหลังด้วย
นอกจากนี้ เรืองไกรยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลจะต้องมีการเซ็นรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขต 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และยังให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายขาดคุณสมบัติทั้งหมด หากพิธาผ่านด่านไปได้จนถึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็ยืนยันที่จะเดินหน้าร้องเรียนต่อไปเพื่อยุบทั้งคณะรัฐมนตรี
เมื่อเกิดประเด็นขึ้นมา สื่อมวลชนก็ไม่พลาดต้องไปสอบถามความเห็นจาก “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีดังกล่าว โดยนายวิษณุกล่าวว่าตนไม่ทราบ ถ้าตอบไปก็อาจไม่ถูก เรื่องนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากี่หุ้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสื่อขนาดไหน ดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเรื่องนี้มาแล้วหลายคดี
เมื่อถามว่ากรณีถือหุ้นสื่อของนายพิธา จะต้องรีบทำให้เสร็จก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นเรื่องระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญ คือด่านที่ 1 กกต. ด่านที่ 2 ไปศาลรัฐธรรมนูญ
และเมื่อถามย้ำว่า ถ้า กกต.เห็นด้วย ก็ไปศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถปัดตกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่
ส่วนเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องไต่สวนฉุกเฉินก่อน หรือให้เป็นไปตามกระบวนการ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรแปลกประหลาด แต่เมื่อศาลรับเรื่อง มีสิทธิสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างเช่นเมื่อคราวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เลือกนายกฯ กันตอนนั้น อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ตัดสินออกมาในเดือนพฤศจิกายน แล้วกรณีนี้ กกต.จะต้องรับรองเป็น ส.ส.ก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่
เมื่อถามอีกว่า มองว่าห้วงเวลาที่จะตัดสินออกมาจะอยู่ในช่วงไหน จะกระทบกับการเลือกนายกฯ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนตอบไม่ถูก เพราะ กกต.ยังไม่ได้ทำอะไร
“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” ของมติชนทีวี อดีต กกต. โดยได้วิเคราะห์กรณีหุ้นไอทีวีของพิธา ว่าอย่าวางใจ เพราะมีความเสี่ยง และมีการเรียกร้องตีความตามเจตนารมณ์ อย่าสองมาตรฐาน ชี้ศาลรัฐธรรมนูญควรชี้ขาดก่อนโหวตเลือกนายกฯ จะทำให้ชัดเจนทุกฝ่าย
“ตอนนี้ผมกำลังคิดว่าถ้าหาก กกต.จะสรุปว่าผิดจะสรุปเมื่อไร คำตอบคือจะสรุปว่าผิดหรือไม่ผิด หลังจากที่มีการรับรอง ส.ส.แล้ว คือต้องรับรอง ส.ส.ก่อน เพราะหลังจากมีการรับรอง ส.ส.แล้ว มันจะอยู่ในเขตอำนาจของ กกต. ตามกฎหมายที่จะสรุปเรื่องนี้ได้ว่าผิดหรือไม่ผิด ในเชิงของคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ส.ส.คนใดมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ส.ส. 50 คนก็เข้าชื่อกันได้ หรือ กกต.พบเอง ก็สามารถที่จะส่งศาลวินิจฉัยแล้วก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างคราวที่แล้วจำได้ไหมครับ คุณสิระ เจนจาคะ เคยต้องโทษจำคุก ก็มีการเข้าชื่อกันของ ส.ส. 50 คน โดยท่าน “เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” เป็นแกนนำ ศาลก็วินิจฉัยว่าผิด ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ตั้งแต่วันแรก ต้องคืนเงินเบี้ยประชุม เงินเดือน ค่าเครื่องบิน ค่าผู้ช่วยต่างๆ คืนทางรัฐสภาทั้งหมด”
“ดังนั้น ฉากทัศน์ที่หนึ่งคือต้องรับรอง ส.ส.ก่อน ต่อจากนั้นคือ กกต.จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร เพราะขณะนี้มีคนร้องแล้วและเรื่องก็อยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนข้อเท็จจริง หลังการรับรอง ส.ส. วินิจฉัยเสร็จแล้วไม่ผิดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็จะวินิจฉัยก่อนหรือหลังวันเลือกนายกฯ ก็ได้ ซึ่งถ้าถามผม ใจผมอยากจะให้วินิจฉัยก่อนวันเลือกนายกฯ จะได้จบๆ ไป”
“เพราะถ้าหากว่าไม่ผิด เวลาที่ชื่อของคุณพิธาเข้าไปในขั้นของการโหวต ผมใช้คำว่าจะสะอาด โปร่งใส ดูสง่างาม มันจะไม่มีสาเหตุอื่นที่จะมาอ้างจากฝ่าย ส.ว. ยกเว้นว่าไม่ชอบขี้หน้าหรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าศาลบอกว่าผิดมันก็เป็นเรื่องที่คุณพิธาจะทำอะไรในแผนสอง เช่น จะยังดันชื่อเข้าไปโดยที่ขายหุ้นให้หมด แล้ววันที่เข้าไปไม่มีหุ้นในมือ เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ขาดคุณสมบัติในวันที่จะเสนอเป็นนายกฯ แต่ในลักษณะนี้ผมก็ยังเชื่อว่า ส.ว. ก็ยังจะหาเรื่องแม้ว่าจะไม่มีหุ้นในมือ เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่าเห็นด้วยที่จะให้ศาลรับตัดสินโดยเร็ว ดีกว่าของการที่ไปตัดสินช้าๆ ในจังหวะของการเลือกนายกฯ”
“ผมเลยบอกว่าเรื่องนี้เสี่ยง และพูดมาตั้งแต่เริ่มต้นว่าเป็นประเด็นสำคัญ ว่าอย่าวางใจมากเกินไปนะ ควรจะต้องมีแผนสองรองรับไว้ด้วยนะ ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ในกรณีซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด เราจะมีทางออกในกรณีต่างๆ อย่างไร”
“แล้วก็ในฝั่งของประชาชนเองก็เช่นกัน ผมใช้คำว่าจะต้องมีสติสักนิดหนึ่งว่าในกรณีแบบนี้ ถ้ามันมีกรณีถึงที่สุดออกมาเป็นในเชิงลบ เราจะมีสติแล้วก็จะมีวิธีการคิดต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไร”
“เพราะถ้าหากว่าเราขาดสติแล้วก็ใช้วิธีการที่อาจจะไปเข้าทางฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่ง มันก็อาจจะกลายเป็นสิ่งซึ่งเกิดผลในทางที่เราไม่ปรารถนาก็ได้ครับ” อ.สมชัยกล่าว
กรณีถือหุ้นไอทีวีของพิธา จึงกลายเป็นประเด็น “สำคัญ” ที่สังคมต่างจับตา นักกฎหมายรัฐธรรมนูญผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญออกได้ 2 ทาง จะชี้ว่า มีคุณสมบัติต้องห้าม หรือ ไม่ต้องห้าม ก็ได้ นี่คือ ความเสี่ยงของของพิธา และการเมืองไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022