ก้าวไกล-เพื่อไทย ‘รบ’ ระหว่าง ‘รัก’

การเมืองไทยเคลื่อนมาสู่หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางประวัติศาสตร์ ว่าจะนำพาการเมืองประชาธิปไตยแบบไฮบริดเลือกตั้งผสมลากตั้ง สู่สภาวะประชาธิปไตยปกติได้หรือไม่

นี่คือช่วงจังหวะเวลาสำคัญที่สุด ตัวแปรการเปลี่ยนผ่านสำคัญช่วงเวลานี้ อยู่ที่ 2 ขั้วความคิดสำคัญ คือสถาบันทางการเมืองจากพลังอำนาจเดิม อย่างองค์กรอิสระ และ สถาบันทางการเมืองของกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ คือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

ตัวแทน 2 ขั้วความคิดจะปะทะกันภายใต้กติกาและกลไกทางการเมืองของรัฐธรรมนูญปี 2560 และนี่แหละคือปัญหา

เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศส่งเสียงผ่านการเลือกตั้งมากกว่า 25 ล้านเสียง หรือกว่า 67% ของผู้มาเลือกตั้ง แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองให้ก้าวไกลกับเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ติดกับดักด้านกติกา

หากคิดในเกมปัจจุบัน ก้าวไกลขณะนี้อยู่ในอาการไม่ค่อยดีนัก แม้จะมี 14.4 ล้านเสียงเป็นฐาน ทิ้งห่างอันดับ 2 คือเพื่อไทยที่ 10.9 ล้านเสียง แต่ก็มี ส.ส.แค่ 151 เสียง จะคิดอ่านการเมืองไปในทางไหน ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อไทย แต่หากลดเป้าหมายการเมืองมากไป ก็จะเสียสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับคน 14.4 ล้านคน

ขณะที่เพื่อไทยดูเหมือนจะมีความยืดหยุ่นในทางการเมืองเพื่อหลบเลี่ยงกลไก ส.ว.ได้มากกว่า แต่ก็ทำได้แค่ประกาศหนุนก้าวไกลสุดทาง ทั้งที่รู้ว่าไปไม่ถึงเสียง 376 เสียง เพราะมีที่นั่งอันดับ 2 ก็ต้องปล่อยให้พรรคคะแนนอันดับ 1 เป็นคนนำ เพื่อไทยค่อยช่วยเหลือ ประคับประคอง หากถือวิสาสะรวมพรรคตั้งรัฐบาล 4 ปีข้างหน้าก็คงเจ็บหนัก

ขณะที่พรรค 2 ลุงซึ่งรวมเสียงกันได้เพียง 76 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง จนถึงวันนี้เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีวี่แววจะออกมายินดีกับผู้ชนะ หรือแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ อาการคล้ายรอ “ส้มหล่น” บางอย่าง

 

สภาวะอึมครึมทางการเมือง มองไปข้างหน้าแทบไม่เห็นแสงสว่าง ส่งผลทันทีโดยเฉพาะในวงการตลาดทุนไทย

กระนั้นความขัดแย้งระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทยกลับร้าวลึกลงยิ่งขึ้น

เมื่อปรากฏการถกเถียงอย่างดุเดือดระหว่างผู้สนับสนุนทั้งสองพรรค ตั้งแต่กองเชียร์ระดับพรีเมียม ไปยันติ่งโซเชียล เปิดปฏิบัติการถล่มถ้อยคำรุนแรงใส่กันแบบไม่ยั้ง

ฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำในด้านการข่าว จะเจอการตอกกลับ แซะ เหน็บแนม ขุดข้อคิดข้อเขียนเก่ามาโต้แย้ง พลังความโกรธคละคลุ้งไปทั่วทุกแพลตฟอร์มทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แม้แต่ติ๊กต็อก

ล่าสุดคือกรณีการปะทะกันทางความคิดเรื่องเก้าอี้ประธานสภา ว่าจะเป็นของใคร เพราะทั้งแกนนำของก้าวไกลและเพื่อไทย ต่างไม่ยอมกันช่วงแรก

ก้าวไกลในฐานะชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 อยากได้เก้าอี้นี้ไว้ผลักดันกฎหมายสำคัญ และให้เพื่อไทยเป็นรองประธานสภา ขณะที่เพื่อไทยเห็นว่า ก้าวไกลได้เก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว ควรไว้ใจกันให้เพื่อไทยเป็นประธานสภาบ้าง คะแนนเสียงห่างกันแค่ 10 เก้าอี้เอง

ในโซเชียลยิ่งทะเลาะกันเดือด บ้างก็แรงขนาดขุดเฟกนิวส์สาดใส่กัน จบที่กองเชียร์เพื่อไทยบางกลุ่มประกาศนัดรวมตัวที่พรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นกดดันขอให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล

 

ถ้าติดตามการเมืองมานาน ก็คงเข้าใจว่า แม้ก้าวไกลกับเพื่อไทยจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่มีอาการไม่ลงรอยกันในทางความคิดมานานหลายปีแล้ว

หากย้อนกลับไปก็ตั้งแต่คราวการแข่งขันกับพรรคอนาคตใหม่ หรือแม้แต่การทำงานตลอด 4 ปีของการเป็นฝ่ายค้าน มีกฎหมายหลายฉบับที่ 2 พรรคมีความเห็นและลงมติไม่ตรงกัน

ช่วงปลายของสภาชุดก่อน แรงถึงขนาดแกนนำผู้ใหญ่สองพรรคออกมาซัดกันตรงๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่นกรณีเห็นไม่ตรงกันเรื่องโหวตสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หากยังจำกันได้

ล่าสุดช่วงขณะหาเสียงเลือกตั้ง ก็มีการปะทะคารมกันหลายครั้ง ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ระดับจอดรถแห่เปิดปราศรัยหันลำโพงข่มใส่เวทีหาเสียงของอีกพรรค ก็ทำกันมาแล้วจนเป็นข่าวดัง

ในมิติการเมือง แม้ 2 พรรคจะมีเป้าหมายตรงกันคือโค่นกลุ่มอำนาจเดิม แต่ก็มีวิธีปฏิบัติการทางการเมืองที่ต่างกัน วิธีการหาเสียง การจัดทำนโยบาย การระดมทรัพยากรพรรค แม้แต่วิธีคิดจัดเวทีปราศรัย ก้าวไกลกับเพื่อไทยก็ต่างกันลิบ

วิธีการของก้าวไกล คือการท้าทายวิธีการแบบเดิมที่เพื่อไทยเคยปฏิบัติและประสบความสำเร็จในระดับตรงกันข้าม เป็นการเล่นในเกมใหม่ ไม่ได้เล่นในเกมที่เพื่อไทยเคยชนะ

ยิ่งเจาะไปเรื่องนโยบาย ดูเหมือนจะคล้ายกัน ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ลึกๆ แล้วแตกต่าง เพราะมีโจทย์คนละชุด เช่น เรื่องแจกเงินดิจิทัล กับ หวยใบเสร็จ ที่สะท้อนวิธีคิดกระตุ้นเศรษฐกิจต่างกัน

หรือเรื่องการเมือง ที่ก้าวไกลมีความชัดเจนกว่า เช่น การประกาศแก้ไข ม.112 ในทุกเวทีดีเบต โดยยืนยันจะกระทำอย่างมีวุฒิภาวะ มีเหตุมีผล แสดงความจริงใจให้คนคลายความกังวล

ขณะที่เพื่อไทย ทั้งที่เป็นคำถามหลักๆ ของแทบจะทุกเวทีดีเบต แต่กลับประเมินความสนใจเรื่องนี้ต่ำไป แกนนำบางคนบอกไม่แก้ ไม่แตะ บางคนบอกแก้ได้ บางคนไม่แสดงความเห็น แต่จะให้ไปคุยกันในสภา เป็นต้น

นั่นคือตัวอย่างของความต่างกันในทางอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมือง และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ทั้งสองพรรคที่เหมือนจะรักกันในฉากหน้า ควงแขนกันชนะ เหมือนจะสงบ แต่ก็รบกันเองมาอย่างต่อเนื่อง

ปะทะทางความคิดกันหนัก ตั้งแต่ช่วงแข่งขันในสนามเลือกตั้งมาจนถึงช่วงจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้

 

ทั้งหมดคือพื้นฐานสำคัญของการไม่ไว้ใจกัน เมื่อยามต้องเข้ามามีอำนาจหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐร่วมกัน ยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์สุ่มเสียง ฝ่ายอำนาจนิยมเดิมยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ความไม่มั่นใจ ความหวั่นไหวยิ่งเกิดขึ้นง่าย

ดังจะเห็นได้จากข่าวสารพัดดีลที่ถูกปูดขึ้นมา ทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ ยิ่งช่วยหล่อเลี้ยงรอยร้าวระหว่างสองพรรค หล่อเลี้ยงข้อมูลการทำสงครามความคิดกันของกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางความขัดแย้งของสองฝ่าย กระพือหนักยิ่งกว่าสู้กับการเมืองระบอบเก่า ยังดีที่แกนนำหลายคนมองเห็นและรวมกันเตือนสติ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวร่วมกับก้าวไกล และแม้จะแพ้เลือกตั้ง ต้องผ่านมันไปให้ได้ ด้วยสติ ปัญญา และความศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อจะกลับมายืนในที่เดิมที่เคยยืนมาตลอดอีกครั้ง

“ไม่มีเกมอื่น ไม่มีทางเดินอื่น สองพรรคต้องเดินไปด้วยกัน สิ่งที่ยังเห็นต่าง ให้ไปจบในวงเจรจา ถ้าปล่อยมือกัน เท่ากับปล่อยมือจากประชาชน” ณัฐวุฒิระบุ

เช่นเดียวกับจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่า

“ถ้าตั้งไม่สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อนทำให้ไม่พอใจบ้างก็ต้องอดทน ถ้าความอดทนมีขีดจำกัด ก็ต้องขยายขีดความจำกัดให้ได้”

ตามด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ภาพในห้องประชุมร่วมกับบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย จำนวน 8 คน พร้อมชูมือมินิฮาร์ตกันทุกคน โดย น.ส.แพทองธารเขียนแคปชั่นว่า “ดีลลับ หรือ ดีลรัก แฮร่”

ปิดท้ายด้วยการกอดกันโชว์สื่อของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อไทยจะอยู่กับก้าวไกลไปตลอด ส่วนเรื่องเก้าอี้ประธานสภา เป็นเรื่องของสองพรรคจะตกลงกัน จะเป็นความเห็นร่วมกันเท่านั้น ไม่มีฟรีโหวต

นับเป็นห้วงจังหวะลดการตั้งป้อมใส่กันของทั้งสองพรรค ก่อนจะถลำเดินหน้าสู่สภาวะ สลายจุดร่วม แสวงจุดต่าง โดยมีขั้วอำนาจเดิมเฝ้ามองด้วยรอยยิ้ม

 

จะว่าไป หากก้าวไกล-เพื่อไทย ตั้งรัฐบาลสำเร็จ 4 ปีนับจากนี้ก็มีเรื่องให้ทะเลาะถกเถียงกันอีกมาก อย่าลืมว่าวิธีคิดทางเศรษฐกิจ-การเมืองของทั้งสองพรรค แม้จะดูเหมือนไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในเชิงรายละเอียดหลายเรื่องต่างกันมาก และหลายเรื่องก็ต่างกันในระดับจุดยืน

ไม่นับว่า นโยบายก้าวไกล-เพื่อไทยหลายอย่าง มุ่งเปลี่ยนโครงสร้าง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกับระบบคิดที่ฝังตัวลึกซึ้งอยู่เดิม ต้องไปสู้กับโครงสร้างกฎหมายที่ล้าหลังและเอาเปรียบ ต้องสู้กับรัฐราชการรวมศูนย์ที่สืบทอดวิธีคิดอนุรักษนิยมในระดับรากลึก ต้องสู้กับกองทัพและฝ่ายความมั่นคงที่ตั้งป้อมเล่นงานฝ่ายอำนาจใหม่มาตลอดสิบปีที่ผ่านมา

ยังไม่นับพลังฝ่ายอนุรักษนิยมอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย ที่อยู่นิ่งๆ หลังพ่ายศึกเลือกตั้ง ลับมีดรอวันกลับมา

หากยุทธศาสตร์การเมืองขั้วอำนาจใหม่ในขณะนี้คือการนำประชาธิปไตยแบบสากลโลกกลับคืนสู่ประเทศไทย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมัดกันให้แน่น มองเป้าหมายระยะยาว จุดต่างก็สงวน จุดร่วมก็ต้องไม่ล่มสลาย

ที่สำคัญต่างฝ่ายต่างต้องมองให้ออก ว่าทั้งสองพรรคที่จริงมีจุดยืนทางความคิดบางจุดต่างกัน จึงไม่ควรลดทอนการอธิบายความต่างนี้ว่าเป็นเรื่องปัญหาเชิงเทคนิค หรือตัวบุคคล หรือการถูกสร้างขึ้น ไม่เป็นไปตามปกติ มิฉะนั้น จะเหลือแต่ “รบ” กันอย่างเดียวไม่มี “รัก” ให้เห็นอีก

ต้องระลึกไว้ในวันนี้เสมอว่า ขั้วอำนาจใหม่ไม่ได้กำลังเล่นอยู่ในเกมปกติ แต่เป็นเกมประชาธิปไตยสูตรพิสดาร รอวันเมื่อการเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ต่างฝ่ายสรุปบทเรียน ปฏิรูปตัวเองให้สำเร็จ แล้วค่อยแข่งกันให้เต็มที่