สองมรรคาประชาธิปไตย

หลายคนมองว่าทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” นั้นได้ตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว ในบริบทของการเลือกตั้งใหญ่หนนี้

เมื่อคนเมืองกับคนชนบทในหลายพื้นที่มิได้มีพฤติกรรมและการตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดแผกแตกต่างกัน ตรงกันข้าม พวกเขากลับมีค่านิยมและทัศนคติที่สอดคล้องกันมากขึ้น

พิสูจน์ได้จากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ซึ่งรุกคืบจากเขตในเมืองไปสู่นอกเมือง จากพื้นที่เมืองใหญ่ไปสู่เมืองใหม่

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพสุญญากาศหลังการเลือกตั้ง เรากลับได้มองเห็นถึงภาวะคู่ขนานทางการเมืองในอีกรูปแบบ

 

ด้านหนึ่ง เรายังเห็นวิถีการเมืองแบบเดิมๆ

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการเมืองเรื่องตัวเลขหรือคณิตศาสตร์การเมือง ที่มุ่งเน้นความสนใจไปยังสูตรและความเป็นไปได้ต่างๆ ในการรวบรวมเสียง ส.ส. (และ ส.ว.) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ตลอดจนการตัดพ้อพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุด ว่าชนะแค่นี้ ทำไมถึงคิดจะกินรวบทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา

ไม่ต่างอะไรกับกระแสข่าวลือเรื่อง “ดีลลับ” ซึ่งการมีหรือไม่มีอยู่จริงของดีลเหล่านั้น ไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับโดยทั่วกันว่า การต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองในที่ลับถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับสังคมไทย

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็มีบางกาละและเทศะที่เอื้อให้นักการเมืองรุ่นใหญ่หรือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ในสังคม สามารถไปสนทนาปัญหาบ้านเมืองหรือสังสรรค์ร่วมกันได้ ไม่ว่าการพบปะนั้นจะนำไปสู่การดีลอะไรหรือไม่ก็ตาม

(ขณะเดียวกัน เราก็มักจินตนาการไม่ออกว่า “คนแปลกหน้า” บางรายจะโผล่หน้าเข้าไปในสถานที่และห้วงเวลาเฉพาะพิเศษแบบนั้นได้อย่างไร เช่น คงแทบไม่มีใครนึกภาพว่าจะมีสมาชิกปีกแรงงานของพรรคก้าวไกลที่บินไปดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดปิดฤดูกาลร่วมกับอีลีตทั้งหลาย)

ระหว่างรอการประกาศรับรอง ส.ส. โดย กกต. ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังเปิดไม่ได้ สังคมการเมืองไทยจึงฟุ้งไปด้วยวิถีทางในลักษณะนี้ วิถีทางที่พวกเราคุ้นชินกันดี

กระนั้นก็ตาม กลับมีวิถีการเมืองอีกแบบที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน-แปลกแยก หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

เป็นวิถีที่แผ้วถางโดยพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอย่างก้าวไกล

“วิถีก้าวไกล” มีลักษณะเด่นอะไรบ้าง?

 

จุดเด่นประการแรก คือ หากเป็นเรื่องทางการเมืองระดับชาติ หากเป็นประเด็นว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็มีแนวโน้มสูงว่าพรรคก้าวไกลจะแบเรื่องราวทั้งหมดบนโต๊ะ หรือแถลงข่าวชัดๆ ต่อสาธารณชน และไม่ค่อยผลักเรื่องดังกล่าวให้กลายเป็น “เรื่องลับ-เรื่องวงใน” สักเท่าไหร่

ถึงแม้การให้ข่าวชัดๆ ในบางเรื่อง จะนำไปสู่การเจ็บตัวและการต้องแก้เกมอย่างเร่งด่วนก็ตาม ดังประเด็น “พรรคชาติพัฒนากล้า”

จุดเด่นประการถัดมา คือ แม้ยังไม่มีตำแหน่งแห่งที่และอำนาจรัฐใดๆ ยังไม่เป็นผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำ แต่สมาชิกหลายระดับของพรรคก้าวไกลกลับเดินหน้าทำงานกันแล้ว โดยมีความชอบธรรมเดียวที่พวกเขาและเธอยึดถืออยู่ ได้แก่ เสียงสนับสนุน 14 ล้านเสียงของประชาชน

ในระนาบของหัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้เดินสายไปพูดคุย-รับฟังปัญหากับกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ

ส่วนนักการเมืองระดับนำของพรรคก็ออกมา “แอ๊กชั่น” ในบางเรื่อง จนเกิดเป็นกระแสข่าวโด่งดัง และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตรงพื้นผิวได้ เช่น กรณีที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พยายามขับเคลื่อนหรือแฉเรื่อง “ส่วยทางหลวง” และส่วยอื่นๆ

ขณะที่บรรดา ส.ส.เขต ที่มีเยอะเกินคาดของก้าวไกล ก็ตะลุยไปสำรวจปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ แม้อาจทับซ้อนปนเปกับการทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นอยู่บ้าง ทว่า ก็แลดูกระฉับกระเฉงสมกับคะแนนเสียงที่ได้รับมา

 

แน่นอนว่า หลายคนย่อมมองวิถีการเมืองแบบใหม่นี้อย่างไม่เป็นสุขนัก ผ่านการแสดงอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจและตั้งคำถามประมาณว่า คุณใช้อำนาจอะไรมาแทรกแซง-สอบถามข้อมูลจากระบบราชการ

บางคนอาจวิพากษ์ว่าก้าวไกลเก่งแต่การรวบรวมปัญหายิบย่อย แล้วเลือกพุ่งชนใส่ปัญหาบางประเด็น แต่สุดท้าย ยังน่าตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองพรรคนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้จริงหรือไม่? และจะจัดการปัญหาต่างๆ นานาอย่างเป็นระบบในฐานะรัฐบาลอย่างไร? มากกว่าการแฉ-การเปิดข้อมูลแบบพรรคฝ่ายค้าน

ไม่ว่าใครจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม สุดท้าย ก้าวไกลได้เดินหน้าทำงานของตนไปแล้ว ได้เกี่ยวแขนสานสัมพันธ์กับประชาชนและประชาสังคมไปเรียบร้อยแล้ว โดยไม่สนใจอนาคตหรืออุปสรรคขัดขวางภายภาคหน้า

สิ่งที่เรากำลังมองเห็น จึงเป็นสภาพ “สองมรรคาประชาธิปไตย”

มองในมุมหนึ่ง เกมและกติกาทางการเมืองคล้ายยังอยู่ในมือคนรุ่นเก่า โดยที่คนรุ่นใหม่ ซึ่งขยันขันแข็งและมีเสียงประชาชนคอยหนุนหลัง นั้นยังอ่อนด้อยประสบการณ์ และอาจไม่สามารถไขว่คว้าอำนาจรัฐมาครองได้สำเร็จ

แต่ถ้าสถานการณ์ผันแปร วิถีการเมืองแบบใหม่สามารถเดินทางไปถึงฝั่งฝัน ประเทศไทยได้รัฐบาลที่นำโดยนักการเมืองรุ่นใหม่

วิถีทางเก่าๆ ย่อมถูกกลืนกลาย และต้องปรับตัว-วิวัฒน์ตามวิถีทางใหม่ๆ ในท้ายที่สุด •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน