
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งงานหินที่สุด สำหรับประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ที่ปกครองตุรกีมานานสองทศวรรษ เนื่องจากมีคู่แข่งที่สำคัญอย่างนายเคมาล คิลิชดาโรกลู จากพรรคฝ่ายค้าน
ผลที่ได้ มีความสูสีอย่างมาก แม้ว่าแอร์โดอานจะได้เสียงมากกว่า คือ 49.39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคิลิชดาโรกลูได้ 44.92 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากไม่มีใครได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ที่จัดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
กระนั้นก็ตาม การลงคะแนนครั้งแรกก็ชี้ให้เห็นถึงแววชัยชนะของแอร์โดอาน ที่มีคะแนนกระเตื้องนำหน้าคู่แข่งขึ้นมาได้ หลังจากที่ผลสำรวจก่อนหน้านี้ แอร์โดอานมีคะแนนความนิยมน้อยกว่าคู่แข่ง เนื่องจากประชาชนไม่พอใจในการที่รัฐบาลมีความเชื่องช้าในการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นในตุรกีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่ผลการเลือกตั้งรอบ 2 ผลปรากฏว่า แอร์โดอานสามารถเอาชนะคิลิชดาโรกลูได้ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 52.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคิลิชดาโรกลูได้ 47.9 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่า แอร์โดอานในวัย 69 ปี จะได้เป็นประธานาธิบดีตุรกีต่อ ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ปกครองตุรกีต่อไปอีก 5 ปี กลายเป็นผู้นำตุรกีที่ปกครองประเทศยาวนานที่สุด
อย่างไรก็ตาม คิลิชดาโรกลู ในฐานะผู้พ่ายแพ้ เรียกการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมมากที่สุดในรอบหลายปีของตุรกี แต่ก็ไม่ได้โต้แย้งผลการเลือกตั้งที่ออกมาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของตุรกี เนื่องจากฝ่ายค้านมองว่า มีโอกาสอย่างมากที่จะสามารถโค่นแอร์โดอานที่ปกครองประเทศมานาน 2 ทศวรรษลงได้ และจะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ได้ หลังจากความนิยมในตัวแอร์โดอานตกต่ำลง เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ และประชาชนมองว่าเป็นผลจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศของแอร์โดอาน
แต่ชัยชนะที่แอร์โดอานได้รับอีกครั้ง ได้กลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของการอยู่ยงคงกระพันของแอร์โดอาน หลังจากที่เขาได้เปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการต่างประเทศ ในฐานะที่เขาเป็นคนทำให้ตุรกีได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
การที่แอร์โดอานจะได้ปกครองประเทศต่อไปอีก 5 ปี ถือเป็นระเบิดครั้งใหญ่สำหรับฝ่ายค้าน ที่กล่าวหาแอร์โดอานว่า เป็นบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และสะสมอำนาจมากขึ้น
แต่แอร์โดอานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ในการปราศรัยหลังได้รับชัยชนะ แอร์โดอานได้ให้คำมั่นว่าจะทิ้งความขัดแย้งทั้งหมดไว้เบื้องหลัง และทำให้ค่านิยมและความฝันของชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่หลังจากนั้น เขาก็พุ่งเป้าโจมตีฝ่ายค้าน และกล่าวหาคิลิชดาโรกลู ว่าเข้าข้างพวกผู้ก่อการร้าย โดยไม่มีหลักฐานแสดงแต่อย่างใด
แอร์โดอานกล่าวด้วยว่า เรื่องภาวะเงินเฟ้อของประเทศ ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของตุรกีในตอนนี้ และว่า ผู้รับชัยชนะเพียงหนึ่งเดียวในวันนี้คือ “ตุรกี”
ทั้งนี้ แอร์โดอานเป็นผู้ก่อตั้งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) และได้เป็นนายกรัฐมนตรีตุรกีตั้งแต่ปี 2003 ถึงปี 2014 ก่อนจะได้เป็นประธานาธิบดีตุรกีในปี 2014 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยแอร์โดอานรอดพ้นจากการถูกรัฐประหารเมื่อปี 2016 และได้ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ควบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ประธานาธิบดี แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมไปถึงการจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างมาก จนกลายเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของตุรกี
ต่อจากนี้ เป็นหน้าที่ของแอร์โดอาน ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่า จะนำพาตุรกีให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 44 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ค่าเงินตุรกีที่ต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น
และการย่างก้าวสู่การปกครองตุรกี ในทศวรรษที่ 3 ของแอร์โดอาน จะเป็นบทพิสูจน์การเป็นผู้นำตุรกีของแอร์โดอาน…อีกครั้ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022