กีดกันหรือโอบรับ แนวทางการหาเสียงเลือกตั้ง ของเพื่อไทยและก้าวไกล

ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นการหักปากกาเซียนทุกสำนัก เพราะพรรคก้าวไกลเบียดเอาชนะพรรคเพื่อไทย ที่หวัง “แลนด์สไลด์” ขึ้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 14.2 ล้านเสียง และได้ ส.ส.ทั้งหมด 151 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอันดับสองได้ 10.8 ล้านเสียง 141 ที่นั่ง

แม้ก่อนหน้านักวิเคราะห์มั่นใจว่าพรรคฝ่ายค้านเดิม 2 พรรค จะได้ถึง 300 ที่นั่งก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นอันดับที่ 1 อย่างค่อนข้างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์ว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสชนะ 150 เขตเลือกตั้ง และได้ ส.ส.ถึง 100 ที่นั่ง ทุกคนล้วนสงสัยว่าเอาความมั่นใจมาจากไหน

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดการเมือง จึงอยากทดลองเสนอการวิเคราะห์เปรียบเทียบการหาเสียงของทั้ง 2 พรรค อันเป็นที่มาของผลการเลือกตั้ง เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนสำหรับผู้สนใจและส่วนเกี่ยวข้อง

ผู้เขียนเสนอว่า สามารถสรุปรวบยอดทางความคิดเพื่อเปรียบเทียบ “การหาเสียง” ของทั้ง 2 พรรคออกเป็นลักษณะการกีดกัน (Exclusive) กรณีเพื่อไทย และโอบรับ (Inclusive) กรณีก้าวไกล

โดยพิจารณาจากการกระทำของผู้แสดงหลักที่เป็นจักรกล “ที่เป็นทางการ”

กลุ่มแรกประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย กลุ่มแคร์ซึ่งทำหน้าที่ Think tank และ Voice TV

ส่วนกลุ่มที่สองประกอบด้วย พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า อดีตสมาชิกอนาคตใหม่ที่ทำงานด้านท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนทั่วไปที่รวมตัวกันเองธรรมชาติหรือแฟนคลับ ไม่ได้ไม่เกี่ยวโยงกับตัวองค์กรพรรคโดยตรงไม่ถูกนำมาพิจารณา เพราะมีมากมายหลายแบบด้วยกันทุกฝ่าย

ข้อสรุปรวบยอดต่อไปนี้อาจไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงย่อยๆ จำนวนมาก และอาจถูกวิจารณ์ได้ว่าทำเรื่องที่ซับซ้อนให้ง่ายเกินไป แต่ทำให้เข้าใจภาพรวมได้ดีเช่นกัน

 

เพื่อไทยต่อสู้กับคนที่ไม่เลือกตน
เพื่อระบอบการเมืองเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน
ที่มีทักษิณเป็นผู้นำ

ผู้เขียนเสนอว่า การรณรงค์เลือกตั้งโดยรวมของเพื่อไทย มีลักษณะกีดกัน และต่อสู้กับผู้ที่ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง มากกว่าหรือพอๆ กับ “ชน” กับผู้ครองอำนาจ

ข้อเสนอในการรณรงค์เลือกตั้งหลักของพรรค ถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่โดยกลุ่มสนับสนุน คือ “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่ไม่ได้เป็นไปตามความหมายที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งเน้นการระดมให้ผู้สนับสนุนเลือกผู้สมัครจากพรรคพันธมิตรที่ได้รับความนิยมในเขตนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันเอง เพื่อชนะฝ่ายตรงกันข้าม

แต่ของเพื่อไทยเป็นการเชิญชวนให้เลือก “พรรคตัวเองฝ่ายเดียว” ให้ “แลนด์สไลด์” ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แม้ข้อเสนอนี้มองผ่านๆ เหมือนเชิญชวนให้เลือกพรรคตนเองเท่านั้น แต่ความหมายแฝง คือ “อย่าเลือกพรรคอื่น” ถ้าคุณรักประชาธิปไตย อยากเอาชนะ 3 ป. และทำให้ผู้ที่ไม่เลือกตามยุทธศาสตร์นี้กลายเป็นปัญหาของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไป ถูกวิจารณ์ ว่ามีวิธีคิด การวิเคราะห์ที่มีปัญหา ไม่เห็นศัตรูที่แท้จริง ขาดความจัดเจน ไม่จัดลำดับความสำคัญ หรือเป็นการกระทำที่ “เข้าทางเผด็จการ”

ขณะที่บุคลากรของกลุ่มสนับสนุน ทำการรณรงค์ผ่านสื่อแบบกีดกันอย่างตรงไปตรงมา โดยติดป้ายคนที่อยู่ฝั่งเดียวกัน เคยเป็นเสื้อแดงมาก่อน (หลายคนอยู่ในสนามการต่อสู้ไม่ใช่ห้องแอร์มากกว่าพวกเขาเสียอีก) ที่มีแนวโน้มจะไม่เลือกเพื่อไทยหรือวิจารณ์ทักษิณว่าสลิ่มเฟสต่างๆ (ดูคำบรรยายเรื่อง “คนเสื้อแดง” ของกลุ่มแคร์) โดยลืมไปว่าการเคลื่อนไหวช่วง 2552-2553 นั้น มีผู้เข้าร่วมหลากหลายกว้างขวางมากกว่า “คนรักทักษิณ”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังวิจารณ์คนธรรมดา หรือเพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองที่ไม่เชียร์ตน หรือเพิ่ง “ย้ายฝั่ง” ต่างๆ นานา

การด่าคนกลับใจย้ายฝั่ง หรือ “สลิ่ม” อย่างสนุกสนาน สร้างความกระอักกระอ่วนให้คนที่จะกลับมาสนับสนุน และยิ่งย้อนแย้งมากขึ้นเมื่อพวกเขาเอาเป็นเอาตายกับคนกลุ่มนี้ แต่กลับโอบรับนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญใน กปปส. หรือยกมือให้รัฐบาลทหาร เพื่อแลนด์สไลด์

นอกจากนั้น การด่าคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหว “ไม่เข้าทาง” หรือเชื่อว่าจะกระทบต่อความนิยมของพรรค ทำให้ดึงคนรุ่นใหม่มาลงคะแนนได้ยากขึ้น

ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่มีหรือมีข้อเสนอทางการเมือง/โครงสร้างที่จำกัด แต่เน้นไปที่ด้านเศรษฐกิจ โดยมีสังคมไทยในรัฐบาลทักษิณเป็นเป้าหมาย เน้นเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ใช่โครงสร้างหรือ “อุดมการณ์” ในการเปลี่ยนประเทศในระยะยาว พวกเขาปกปิดจุดอ่อนให้พรรคตนเองด้วยการวิจารณ์คู่แข่งที่มีจุดเด่น มีเป้าหมายการปฏิรูปที่ชัดเจนกว่าว่า “ทำหล่อ” ที่ไม่ใช่คำชม เป็นชนชั้นกลางที่สะดวกสบาย ไม่เข้าใจคนรากหญ้าที่ให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้อง

กระบวนการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาให้ตัวเองเป็น “แดงแท้” “แดงบริสุทธิ์” “สู้มาก่อน” ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เป็นการกดข่มคนมาทีหลัง มาใหม่ หรือกลับใจ โดยอัตโนมัติ

นอกจากนั้น จักรกลในกลุ่มสนับสนุน พยายามจะคิดแทนพรรค หาทางออกให้กับพรรคที่อยู่บนฐานคณิตศาสตร์ทางการเมืองตลอดเวลา เช่น การหาคำอธิบาย “ทางออก” ไว้ล่วงหน้าในการจับมือกับ ป. ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยไม่รู้ว่าผู้สนับสนุนหรือคนกลางๆ มีความไม่พอใจกับระบบการเมืองที่มีประวิตรเป็นองค์ประกอบสำคัญมากขนาดไหน การพูดไม่ตรงกันหลายครั้งและพยายาม “ชัดเจน” ในโค้งสุดท้าย ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้

กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน เมื่อตระหนักว่าต้องแข่งขันกับก้าวไกล ในสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเสียอีก

การตอบสนองแบบนี้ อาจจะยึดตรึงเป้าหมายที่เป็นคนเสื้อแดงบางส่วนไว้ได้จริง แต่ไม่อาจโอบกอด ผู้คนที่กลับใจ ผู้มาใหม่ เสื้อแดงบางส่วนได้ และกลายเป็นวัตถุดิบและแรงกระตุ้นให้กับผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคคู่แข่งออกมาโต้กลับ

 

ก้าวไกล : ชวนคนผู้คนที่หลากหลาย
มาสู้กับผู้ครองอำนาจเป็น “กองหน้า” ในรัฐสภา
มีเป้าหมายเป็นสังคมในทศวรรษหน้า

พรรคก้าวไกลวางรากฐานทางความคิดในการต่อสู้ทางการเมืองไว้ตั้งแต่อนาคตใหม่ คือ เปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนขั้วต่างๆ อย่างเหลือง-แดง มาเป็นระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับผู้ครองอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ส่วนน้อย

ภายใต้แนวคิดการสร้าง “พรรคมวลชน” และเป็นพรรคใหม่ ไม่มีกลุ่มก้อนประชาชนเป็นฐานเดิมของตัวเอง จึงพยายามรวบรวมผู้คนอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าทำได้ ไม่ว่าจะเคยเป็นใครในอดีต แต่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ใช้สังคมในทศวรรษข้างหน้า (หมายความว่าข้อเสนอบางอย่างอาจจะไม่สามารถทำได้ใน 4 ปี) หรือระบอบการเมืองที่ต่างไปจากเดิม ในการรวบรวมผู้คน

ดังนั้น เป็นแดงมาก่อน เป็นพันธมิตรฯ-กปปส. มาก่อน สู้ก่อนสู้หลัง ไม่ใช่ปัญหา แต่ชักชวนมาต่อสู้กับรัฐด้วยกัน โดยเสนอตัวเองเป็น “กองหน้า” ในรัฐสภา มีรูปธรรมเป็นบทบาท ส.ส.ของพรรคในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา

แม้อีกฝั่งหนึ่งจะขายความเป็นเสื้อแดง แต่ในการดีเบตประเด็นที่เกี่ยวข้อง ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล มาพร้อมด้วยข้อมูล ข้อเสนอรูปธรรม มีรายละเอียดที่สะท้อนว่าผ่านการคิดไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง นิรโทษกรรมให้ประชาชนในคดีการแสดงออกทางการเมือง

แต่ตัวแทนอีกฝั่งแม้จะอยู่ในฐานะผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ กลับไม่มีข้อเสนอที่เป็นระบบของตนเอง ทำได้แค่ยืนยันว่าหากมีการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จะให้การสนับสนุน

กระทั่งนโยบายบางอย่างที่พรรคการเมืองอื่นคิดว่าผู้เลือกตั้ง “ไม่ซื้อ” หรืออาจสูญเสียความนิยม ไม่เป็นผลดีต่อคะแนน จึงไม่รับมาเป็นนโยบาย แต่หากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนแล้ว พรรคมีหน้าที่โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วย

มิติแบบนี้ เป็นบทบาทของพรรคการเมืองในวิชาพรรคการเมืองเบื้องต้น นอกจากจะเป็นผู้รับ คือ การรวมรวบและเรียบเรียงความเห็นของประชาชนมาเป็นนโยบายแล้ว

พรรคการเมืองต้องเป็นผู้เสนอด้วย คือ เสนอว่าปัญหาที่สังคมการเมืองกำลังเผชิญนี้ พรรคมีทางออกอะไรให้กับสังคม และมีหน้าที่โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วย การทำแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าข้ามข้อจำกัดที่เป็นอยู่ได้

ด้วยเป็นพรรคที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งบุคคลและงบประมาณในการหาเสียง ช่วงแรกที่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เมื่อพรรคคู่แข่งจัดเวทีปราศรัยมีคนเข้าร่วมนับพันนับหมื่น ขณะที่ก้าวไกลมีแค่หลักร้อย แกนนำพรรคน่าจะตระหนักว่า ถ้าเป็นแบบนี้จนถึงวันหย่อนบัตร พรรคตัวเองคงลำบาก

การมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนซึ่งถูกกำหนดจากแนวความคิดในการตั้งพรรคการเมือง การออกแบบนโยบายที่ทำมาต่อเนื่องอย่างค่อนข้างละเอียด ตอบทุกคำถามได้ ออกมาในรูป 300 นโยบาย เมื่อผนวกกับความต้องการสร้างพรรคมวลชน จึงเป็นที่มาและจังหวะในการรณรงค์หาเสียงที่สำคัญ

เริ่มจากแนวคิดที่จะเปลี่ยน “ผู้ลงคะแนน” เป็น “หัวคะแนน” ที่ถูกจุดประกายจากการปราศรัยเล็กๆ ครั้งหนึ่ง นำมาสู่กิจกรรมที่เป็นจุดเปลี่ยนในช่วงนี้ คือ “ผ้าป่าสามัคคี”

เชิญชวนประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพรรคทำอุปกรณ์หาเสียง

และร่วมเป็น “เจ้าของ” พรรค ผ่านการบริจาคให้พรรคและผู้สมัครในเขตเลือกตั้งโดยตรง

คนที่อยู่ในการเมืองแบบเก่านานๆ อาจไม่เห็นว่ากิจกรรมนี้มีความหมายสำคัญอะไร จนกระทั่งเชื่อว่า พรรคที่หางบประมาณในการหาเสียงไม่ได้ น่าจะ “ไม่มีปัญญา” บริหารประเทศ

แต่กลับส่งผลตรงกันข้ามสำหรับผู้สนับสนุน อย่างน้อยในทวิตเตอร์ ได้ชวนกันบริจาคให้พรรคแล้วโพสต์อวดแสดงความเป็นเจ้าของพรรค พร้อมรณรงค์ให้คนอื่นๆ ร่วมกันบริจาค เท่าที่ติดตาม ส่วนใหญ่บริจาคในระดับหลักร้อยบาทเท่านั้น แต่ได้ยอดรวมมากกว่า 20 ล้านบาท (ไม่นับส่วนที่บริจาคให้ผู้สมัคร) หมายความว่ามีผู้บริจาคจำนวนมาก

มีครั้งหนึ่งผู้สมัครใน กทม.ถูกผู้มีอิทธิพลทวีต “ด่าฟรี” ทำให้ผู้สนับสนุนตอบโต้กลับด้วยการบริจาค 1 ป้ายหาเสียงให้กับเธอ

การสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการบริจาค นอกจากได้เงินมาใช้แล้ว ยังทำให้พวกเขาผูกพันกับพรรคมากขึ้น การให้การรับรองและแสดงความเคารพ “หัวคะแนนธรรมชาติ” อย่างเป็นทางการในการปราศรัยใหญ่ที่สามย่านมิตรทาวน์ ได้สร้างความฮึกเหิมและทำให้ทุกคนอยากเป็นหัวคะแนน

เอาเข้าจริง คลิปต่างๆ จาก Voice TV เป็นแหล่งที่มาสำคัญและแรงกระตุ้นในการสร้างคอนเทนต์ในแฟลตฟอร์มออนไลน์มานานแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง พวกเขาสร้างคอนเทนต์อย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และมีกำลังและปริมาณคนอย่างทบทวีในช่วงสุดท้าย แม้กระทั่งพรรคเอง ก็คาดไม่ถึงมาก่อน

สิ่งหนึ่งที่คุณทักษิณเข้าใจผิด คือ คนเหล่านี้ไม่ใช่ IO แต่เป็นผู้ลงคะแนนที่อยากช่วยพรรคสู้กับแลนด์สไลด์อย่างจริงจัง

 

สรุป

การสรุปรวบยอดนี้ เป็นเพียงหนึ่งในหลายมิติที่น่าสนใจศึกษา และไม่ต้องการโน้มน้าวให้เพื่อไทยเห็นด้วย

แต่อยากส่งสัญญาณไปยังก้าวไกลว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะร่วมกันของทุกส่วนที่เป็นองค์ประกอบของพรรค ทั้งภายในและภายนอก

และตอกย้ำว่า แนวทางในการงานของพรรค ความชัดเจนในแนวความคิด อุดมการณ์ ตรงไปตรงมา เป็นฐานสำคัญในการทำงานทางการเมือง และง่ายในการรณรงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเสียงที่พยายามโอบรับผู้คนที่หลากหลายมากกว่ากีดกัน

การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อต่อสู้ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้

และในอนาคต พรรคต้องคอยเตือนตัวเองเสมอว่าผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่ใช่ “ปลาในบ่อ” ของใคร ไม่ให้ผิดพลาดเหมือนคู่แข่ง

ขณะเดียวกัน หัวคะแนนธรรมชาติเองก็จะต้องระมัดระวัง ไม่เป็นแบบคนที่เราเกลียด คือ ช่วยพรรครณรงค์ทางการเมืองในลักษณะที่โอบรับ ไม่ใช่กีดกัน ซึ่งจะทำให้พรรคขยายตัวได้มากขึ้น