หมิ่นแคลน ‘สติปัญญาประชาชน’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

หมิ่นแคลน ‘สติปัญญาประชาชน’

 

เหมือนจบไปแล้ว ด้วยผลการเลือกตั้งแบบขาดลอย ไม่น่าจะเหลืออะไรเป็นเชื้อให้ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” มีความหวังว่าจะพลิกมาร่วมรัฐบาลได้

เอาเข้าจริงไม่ใช่เช่นนั้น ความพยายามที่จะยื้อต่อในอำนาจแม้จะทำแบบเงียบกริบ ไม่มีปริปากอย่างเป็นทางการ แต่ความเคลื่อนไหวแบบใต้ดินกลับครึกโครมยิ่ง

ปฏิบัติการแรกมุ่งที่ล้มดีลระหว่าง “ก้าวไกลกับเพื่อไทย” ด้วยการกระตุ้นสารพัดให้เกิดบาดหมางระหว่างพรรคที่มาจาก “อำนาจประชาชน” เปิดประเด็นสารพัดเพื่อตอกลิ่ม ไม่ว่าจะเป็น “ดีลลับ” เพื่อสร้างความหวาดระแวง ขยายประเด็นการแย่งชิงตำแหน่งต่างๆ

ด้วยความหวังว่า หาก “ก้าวไกล” หรือ “เพื่อไทย” ไม่หนักแน่นพอ จนดีลแตกขึ้นมา จะเป็นโอกาสเข้าไปเสียบเพื่อช่วงชิงเกมจัดตั้งรัฐบาล

 

ปฏิบัติการต่อมาคือ ปลุกกระแสความชอบธรรมที่จะใช้ “กลไกที่ดีไซน์ไว้เพื่อจัดการคู่ต่อสู้” ในนาม “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” หักปีก “นักการเมือง” และ “พรรคการเมืองคู่แข่ง” ด้วยอำนาจที่ใช้แทรกแซงการตัดสินของประชาชนได้ เหมือนที่เคยทำมา โดยมีทีมงานของขบวนการปฏิบัติการต่อกันเป็นทอด ทั้งการโจมตี และการสร้างกระแสให้เกิดความชอบธรรม เพื่อให้ยอมรับการทำลายความหวังและความฝันของประชาชนที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาด้วยผลการเลือกตั้ง

แม้ประชาชนจะยืนหยัดและแสดงออกให้เห็นชัดในสิทธิในอำนาจ แต่ “ขบวนการสืบทอด” ยังแบ่งงานกันโจมตีไม่ให้เป็นไปตามการตัดสินใจของประชาชนอย่างเข้มข้น ในทุกรูปแบบ และหลายปฏิบัติการซ่อนเร้นได้แนบเนียน จนไม่รู้สึกว่าที่เหมือน “เจตนาดี” นั้นเป็น “ประสงค์ร้าย” มุ่งทำลายอำนาจประชาชน

เพียงแต่ถึงวันนี้ “ประชาชน” ไม่ได้หลงกล “เกมอำนาจ” เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “ข่าวลือหรือข่าวจริงช่วงเลือกตั้ง 2566”

ในคำถาม “เชื่อข่าวมีการมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าวปั่นกระแส เพื่อโจมตีพรรคการเมืองคู่แข่งหรือไม่” ร้อยละ 31.32 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 25.27 เชื่อมาก, ร้อยละ 23.59 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 19.31 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 0.61 ไม่ตอบ

เชื่อหรือไม่ว่า “พรรคการเมืองสร้างข่าวปั่นกระแสผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มความนิยมให้พรรคตัวเอง” ร้อยละ 30.08 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 27.40 เชื่อมาก, ร้อยละ 22.06 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 19.54 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 0.92 ไม่ตอบ

เชื่อหรือไม่ว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติ” ร้อยละ 56.56 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 22.21 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 11.76 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 8.17 เชื่อมาก, ร้อยละ 1.30 ไม่ตอบ

คำตอบจากผลสำรวจนี้สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้เท่าทันว่ามีการสร้างข่าวปั่นกระแส เป็นการตัดสินใจอย่างรู้เท่าทันปฏิบัติการทางการเมือง และเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าเป็นเหตุเป็นผล

ไม่ได้งมงายปล่อยให้การปลุกปั่นนั้นมีอิทธิพลเหนือความรู้ ความคิดของตัวเอง

สะท้อนว่าผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนในการตัดสินใจนั้น ออกมาด้วย “ความตื่นตัวในอำนาจของประชาชน”

เป็นการตัดสินใจอย่างรู้เท่าทันการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วจากผลการเลือกตั้ง

 

จึงเป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่งที่ถึงวันนี้ นักการเมืองหลงกระแสยังจมอยู่กับความคิดที่จะเล่นเกมความเชื่อของประชาน ด้วยการปล่อยข่าวสร้างกระแส ด้วยประเด็นที่ดูปัญญาอ่อน และออกในทางต่อต้านอำนาจประชาชนที่ผ่านการตัดสินใจไปแล้ว

ประหลาดอย่างยิ่งที่พวกเขายังเชื่อว่า การปล่อยข่าวเบี่ยงเบน ด้วยความหวังจะบิดพลิ้วการตัดสินใจของอำนาจประชาชนจะยังได้ผล

ท่ามกลางความตื่นตัวอย่างรู้ทันของประชาชนเช่นนี้