Power Play แผนทำลาย 2 พรรค จะแก้กับดักอย่างไร?

มุกดา สุวรรณชาติ

มีคนอยากให้วิเคราะห์ แผนทำลายพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ให้ละเอียด

และจะแก้อย่างไร?

ทำไม?…

เพราะกลุ่มอำนาจเก่าแพ้เลือกตั้ง

จึงชิงอำนาจคืน

ใช้แผนเดิม ทำลายซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

ครั้งที่ 1 ทำลายพรรคไทยรักไทยซึ่งชนะเลือกตั้งเสียงท่วมท้นได้ ส.ส. 377 คนในปี 2548 โดยการเคลื่อนไหวของม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง และนำไปสู่การรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

จากนั้นก็ใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่มีเหนือฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ตั้งกรรมการร่างกฎเกณฑ์และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ 2550 เท่ากับกุมอำนาจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเอาไว้ในมือของฝ่ายคณะรัฐประหาร

ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้งปี 2550 ทำลายพรรคพลังประชาชนซึ่งได้ ส.ส.มากที่สุดถึง 233 คน และเป็นรัฐบาลได้ 3-4 เดือนม็อบพันธมิตรฯ ก็มาประท้วง สุดท้ายปิดล้อมทำเนียบ ปิดล้อมสนามบิน

ใช้ตุลาการภิวัฒน์ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปลายปี 2551 แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหารให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแทน

ครั้งที่ 3 เมื่อประชาชนเรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก็ถูกปราบและสังหารในปี 2553

ผลสุดท้ายก็ต้องยอมเลือกตั้งในปี 2554

พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอีกเช่นเคยมีเสียงเกินครึ่งสภาได้ถึง 265 ตั้งรัฐบาล

ตั้งได้ปีกว่าก็เริ่มมีม็อบออกมาก่อกวน เริ่มตั้งแต่ม็อบแช่แข็ง จนสุดท้ายไปจบที่ม็อบ กปปส.

แล้วก็ใช้ตุลาการภิวัฒน์ร่วมกับการรัฐประหารในปี 2557

 

วิเคราะห์แผนทำลาย
และชิงอำนาจภาค 2

ถ้าจะวิเคราะห์แผนทำลายฝ่ายประชาธิปไตยของกลุ่มอำนาจเก่าจะพบว่าพวกเขาไม่ได้ใช้แนวทางรัฐสภามาล้มรัฐบาล

แต่ใช้วิธีก่อกวนรัฐบาล ใช้อำนาจองค์กรอิสระและศาล กฎหมายที่ตัวเองร่าง ตัดสินเอง ถ้าไม่สำเร็จ ก็ใช้กำลังอาวุธมารัฐประหาร

กลุ่มอำนาจเก่าแพ้เลือก 2566 ยับเยิน จึงไม่มีทางดิ้นอื่น แต่ครั้งนี้มวลชนที่ชนะการเลือกตั้งทั้งใน กทม.และใกล้เคียงมีแต่แดงกับส้ม การใช้ม็อบกดดันคงไม่เกิด แต่จะใช้กฎหมายนำหน้า

ดังนั้น ถ้าเราเอาความคิดแบบประชาธิปไตยไปวัดว่าเขาจะไม่กล้าทำอย่างโน้นอย่างนี้ จะทำให้เราคาดผิด

ดูคดีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ทำกับข้าวออกทีวี ทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่ง เป็นตัวอย่าง

การทำลายครั้งนี้จะเริ่มทันทีตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล…

โดยวิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง…เพราะพลังของสองพรรค 151+141 ทำให้มีอำนาจในสภามาก วิธีการก็จะต้องแยก 2 พรรคนี้ออกจากกัน ให้กลายเป็นศัตรูกันหรือเป็นคู่แข่งที่ซัดกันไม่เลิก

ที่จริงเพื่อไทยโชคดีที่ได้ 141 เสียงและเป็นที่ 2 อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่ต้องออกมาแบกรับแรงกดดันทั้งล่างทั้งบน

และไม่ต้องรับผิดชอบในนโยบายที่เสี่ยงหรือที่ไม่ถนัดหลายเรื่อง

เพื่อไทยเคยแต่ตั้งรัฐบาลแบบเสียงเกือบครึ่งหรือเกินครึ่ง ถ้าได้ต่ำกว่า 160 แล้วให้ตั้งรัฐบาลคงทำไม่ถนัด และในสถานการณ์แบบวันนี้ ที่ถูกกดดันรอบด้าน จากมวลชนที่ก้าวหน้าต้องการการเปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อไทยจึงเห็นว่าก้าวไกลรับผิดชอบไปก็ดีแล้ว

การยืนยันหนุนก้าวไกลเป็นนายกฯ ส่วนเพื่อไทยเป็นพรรคร่วม จึงเป็นเรื่องจริงที่เหมาะสม

กลุ่มอำนาจเก่าจึงจะต้องมีปฏิบัติการให้พรรคใดพรรคหนึ่งโกรธและแยกตัวออกไปเป็นฝ่ายค้าน

 

กระสุนนัดเดียว
ล้มสองพรรค

สถานการณ์ถึงวันนี้แม้ขัดแย้งกันบ้าง แต่ 2 พรรคใหญ่ก็ยังจะร่วมรัฐบาลและแบ่งอำนาจกัน แต่ติดที่ด่าน ส.ว. กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องยิงกระสุน 1 นัดไปที่ก้าวไกลและให้ทะลุไปถูก เพื่อไทยที่หน้าอก

1. สกัดบทบาทพรรคก้าวไกล เพราะมีนโยบายก้าวหน้าที่สุด ซึ่งจะทำลายโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่ามากที่สุด จึงต้องขจัดออกไปจากวงจรอำนาจให้เร็วที่สุด

วิธีการคือต้องใช้กฎหมายเพื่อล้มผู้นำหรือกรรมการพรรคโดยหาจุดอ่อนทางกฎหมายต่างๆ เพื่อตัดสิทธิ์การเมืองหรือยุบพรรคถ้าทำได้

ต่อไปนี้เราก็จะได้ดูหนังเก่าฉายซ้ำคือจะมีผู้ไปร้องเรียน กกต. สุดท้ายเรื่องส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องถูกลงโทษ คดีหุ้นไอทีวี จึงเป็นกระสุนนัดสำคัญ

ถ้าก้าวไกลโกรธ คิดว่าเพื่อไทยแย่งตำแหน่งนายกฯ สะบัดหน้าไปเป็นฝ่ายค้านก็ถือว่ายิงเข้าเป้าตามแผน แยกแนวร่วม

2. ถ้าเพื่อไทยเสนอชื่อเป็นนายกฯ แทน ก็ไม่มีเสียงหนุนจากฝ่ายประชาธิปไตยมากพอ จำเป็นจะต้องไปหาพรรคร่วมรัฐบาลเก่ามารวมกันให้ได้ 270-280 แล้วผู้มีอำนาจนอกระบบก็มาบงการให้ ส.ว.ช่วยให้ได้เกิน 376 เสียง

แม้รัฐบาลจะตั้งขึ้นมาได้แต่ก็จะถูกเสียงด่าประณาม และประท้วงจากทั่วทิศ จะกลายเป็นพรรคที่ทรยศต่อประชาชนและจะถูกทำลายไปอย่างสิ้นซาก เพราะคนหมดศรัทธา แสดงว่ากระสุนนัดนั้นเข้าหัวใจ

นักวิเคระห์จึงเชื่อว่า เพื่อไทยจะไม่ทำ เพราะ 20 กว่าปีที่ผ่านมาฝ่ายศัตรูพยายามทำลายพรรคทุกวิถีทางก็ทำไม่ได้ แต่วิธีนี้เมื่อศรัทธาประชาชนหมดไปไม่ต้องยุบ พรรคก็ยุบไปเอง

 

วิธีแก้เกม

สมมุติว่าก้าวไกลมีปัญหาจนต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ จริง ก็เปลี่ยนได้ (ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน)

ถ้า 2 พรรคยังรวมกันที่ 300 เสียง และยังรักกันดี ส.ว.คงไม่โหวตให้ถึง 376 เสียง ดังนั้น นายกฯ ที่มาจากเพื่อไทยก็ตั้งไม่ได้เช่นกัน

แต่ทั้ง 2 พรรคก็สามารถลากเกมอยู่ในสภาไปเรื่อยๆ และมีบทบาทในสภา

พยายามทำเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร. และต่อสู้กับรัฐบาลรักษาการ จนกว่า ส.ว.จะหมดวาระ

 

การเดินเกมของแต่ละฝ่าย
หลังเสนอชื่อนายกฯ ไม่ผ่าน

ประเมินว่าถ้าเกมยืดเยื้อ ฝ่ายสืบทอดอำนาจอาจจะฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วก็ทำแบบที่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คือค่อยๆ เปลี่ยนให้เป็นเสียงข้างมาก โดยการใช้กล้วยเข้าล่อใครที่เป็นลิงก็วิ่งมารับกล้วย

ส่วนพวกที่เป็นงูเห่าก็จะเอาเก้าอี้รัฐมนตรีมาล่อ 8 เก้าอี้รัฐมนตรี และกล้วยหลายหวีอาจจะได้ ส.ส. 60 กว่าคนก็ได้

แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้น แผนนี้อาจจะทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อย เริ่มต้นที่ 200 กว่า แม้ไม่ถึงครึ่งในวันเลือกนายกฯ

และอาจกลายเป็นเกินครึ่งสภาผู้แทนฯ ได้ตอนจัดตั้งรัฐบาลแบ่งกระทรวง ถ้าเห็นว่าไปไม่ไหว รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

วิธีแก้เกมนี้ คือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องแทงสวน โดยดึง ปชป.มาร่วม

แต่เชื่อว่าจะต้องมีการประท้วงเกิดขึ้น ถ้าอำนาจอธิปไตยจากประชาชนถูกทำให้บิดเบี้ยว และจะเริ่มจากการตัดสินว่าแคนดิเดตนายกฯ จากก้าวไกล ทำผิด ถูกลงโทษ

โดยสรุปวิธีต่อต้านกับอำนาจเผด็จการขณะนี้ก็คือ 2 พรรคใหญ่ต้องจับมือกันอย่างเหนียวแน่นไม่ว่าสถานการณ์ใด ใครแยกออกไปคือทรยศ ควบคุม ส.ส.ของแต่ละพรรคให้ดี การแบ่งสรรอำนาจการงาน ก็ให้ตกลงกันเองใน 2 พรรค (อย่างมีรายละเอียด ที่เปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ทุกแบบ)

ส่วนกองเชียร์ ทั้งสองพรรคก็ควรหยุดทะเลาะกันได้แล้ว เกมนี้ต่อให้สามัคคีกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะตั้งนายกฯ ได้หรือไม่ อีกนานกี่เดือน

ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เดินต่อลำบากกว่าชัยชนะสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะมีด่าน ส.ว. 250 คน และ กกต. จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับแผนสุดท้ายคือรัฐประหาร นี่คือความจำเป็นที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้