เสียง ‘จาตุรนต์’ เสียง ‘ทักษิณ-ชลน่าน’ กับคำถาม ‘ศิธา ทิวารี’

หลังจาก 8 พรรคการเมืองร่วมกันแถลงเรื่อง MOU จัดตั้ง “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” ผ่านไปได้ 1 วัน จู่ๆ อุณหภูมิการเมืองก็พุ่งขึ้นสูงปรี๊ด

ทุกคำพูดและความเคลื่อนไหวล้วนมี “นัยยะ”

ปฐมเหตุเกิดจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ “8 พรรคการเมือง” ร่วมกันแถลงต่อสาธารณชนเรื่องการลงนามใน MOU จัดตั้งรัฐบาล

ขณะเปิดให้สื่อมวลชนซักถาม น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งนั่งกับพื้นรวมอยู่กับผู้สื่อข่าวได้ลุกขึ้นถามหัวหน้าพรรคก้าวไกลและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

และด้วยความมีมารยาท “ศิธา” จึงอธิบายความเสียยืดยาวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ใน 5 ปี ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน ผิดเพี้ยนไป และเวลานี้กำลังโดนดึงไปเล่นในเกมนั้น แม้จะรวมเสียงข้างมากได้ถึง 313 เสียงแล้วก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลง MOU ร่วมกัน (อีกฉบับ) ทั้ง 2 พรรคจะอยู่ด้วยกัน รวมถึงพรรคอื่นๆ ด้วย

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นคนว่องไวตอบในทันทีว่า เป็นไปได้ คิดว่า Advance MOU จะทำให้ระบบเป็นระบบ เมื่อสภาล่างที่มาจากประชาชนรวมกัน 25 ล้านเสียงเลือกให้มาเป็นแบบนี้ก็ควรจะจัดตั้งรัฐบาลได้ และควรจะอยู่ในเกมของระบอบประชาธิปไตยปกติ

น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามว่า

“ไม่อยากจะใช้คำว่า Advance MOU เพราะคำถาม อธิบายและตอบอยู่ในตัวเองแล้วคือ สิ่งที่เรายึดมั่น เราเชื่อมั่นว่าเราเป็นฝ่ายประชาธิปไตย”

“ศิธา” เล่าว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวก็ไปนั่งกินข้าวและชนแก้วชื่นมื่นกับหมอชลน่าน ไม่เห็นมีอะไรติดค้างคาใจ

 

แต่เมื่อล่วงผ่านไป 1 วัน “ชลน่าน” ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวสดออนไลน์” ในรายการ “อยากมีเรื่องคุย” ว่า ไม่สบายใจเท่าไหร่กับคำถามของ น.ต.ศิธา เพราะไม่ได้เป็นสื่อ แต่ไปคาดคั้น คิดว่าเสียมารยาทอย่างยิ่ง ฝากคุณหญิงสุดารัตน์ด้วย

“ศิธา” งุนงง จึงได้สวน

“ผมไม่ได้กลัวการเสียมารยาทมากไปกว่ากลัวการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ”

และเริ่มไปกันใหญ่เมื่อ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” 1 ในแกนนำแห่ง “CARE คิด เคลื่อนไทย” ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ต้องทนให้คนที่เรียกตัวเองว่าเพื่อนเอาตีนถีบหน้าอยู่ทุกวันจริงหรือครับ เพื่อนที่โกหก คอยแทงข้างหลังตลอด แต่ต้องช่วยมันเพราะลำพังตัวเองมันไปเองก็ไม่รอด ไม่ช่วยมันกูก็ผิด ช่วยมันกูก็เจ็บ #ความอดทนบางทีแม่งก็มีขีดจำกัด”

ไม่เพียงมีแฟนคลับจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมสุมฟืน

“เศรษฐา ทวีสิน” 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ “เพื่อไทย” ก็ทวีตสั้นๆ ว่า “เห็นด้วย”

ตามด้วยตัวพ่ออย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ออกมาทวิตเตอร์ทันทีว่า Sound Familiar krub (คุ้นๆ นะครับ) พร้อมรีทวีตข้อความของ “ดวงฤทธิ์”

สมัยแต่ก่อนท่วงทำนองแบบนี้เรียกว่า ตอกตะปูฝาโลง

แต่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” 1 ในแกนนำคนสำคัญแห่งเพื่อไทย มีท่วงท่าสุขุมคัมภีรภาพแตกต่างมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งจากกรณี “หมอชลน่าน-ศิธา” และกรณี “เก้าอี้ประธานสภา” จาตุรนต์ทวีตข้อความหลายครั้งน่าสนใจ เช่น

“เรื่องระหองระแหงกับเพื่อนเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่เพื่อนกับเพื่อนๆ กำลังร่วมกันทำงานใหญ่ คือการตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ตามที่ประชาชนมอบหมายมา ถ้าตั้งไม่สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อนทำให้ไม่พอใจบ้างก็ต้องอดทน ถ้าความอดทนมีขีดจำกัด ก็ต้องขยายขีดความจำกัดให้ได้”

ชัดกว่านี้ไม่มีแล้ว “จาตุรนต์” ยังทวีตซ้ำสื่อสารถึงแฟนคลับและแกนนำเพื่อไทยหัวร้อนอีก

“ให้นึกเสียว่า ประยุทธ์มายืนอ้าแขนรับอยู่ข้างหลังติดๆ กันเลย พอถอนตัวก็จะเข้าสู่อ้อมกอดประยุทธ์ทันที พอจะเย็นลงมั้ย”!

นับเป็นคนละอารมณ์กับสำนวน “เพื่อนเอาตีนถีบหน้า”!

 

ย้อนความหลัง ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย เคยเป็นพรรคอันดับ 1 ชนะเลือกตั้งมาตลอด ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคอันดับ 2 แต่คะแนนถูกทิ้งห่างจนทำนายกันได้ว่า “ชาตินี้คงไม่มีวัน” ขึ้นแท่นอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่แล้วด้วยฝีไม้ลายมือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จัดเต็มให้ “ประชาธิปัตย์” ได้จัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับดันก้น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 สำเร็จท่ามกลางเสียงครหาว่าเป็น “รัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร”

ที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์เกิดจากการทำให้ “เพื่อไทย” แตกและใช้พลังดูด ส.ส.ให้เปลี่ยนขั้ว ในเวลาไม่นานก็เกิดวิกฤตจนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทหารใช้กระสุนจริงและสไนเปอร์เข้าสลายการชุมนุมเมื่อ “พฤษภาคม 2553” มีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บและพิการอีกกว่า 2 พันคน

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง “ประชาธิปัตย์” ที่กลุ่มอนุรักษนิยมหนุนสุดตัวแพ้ “เพื่อไทย” อย่างหมดรูป

“รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” จึงเกิดขึ้นเพื่อล้มเพื่อไทย!

แต่ถึงตอนนั้น “ประชาธิปัตย์” หมดความหมายไปแล้ว

รัฐมนตรีรัฐบาล คสช.ตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” พร้อมกับประกาศสนับสนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ว. 250 คนที่ “ประยุทธ์” แต่งตั้งเอาไว้นั่งรอ “ยกมือ” โหวตให้

ปี 2562 เลือกตั้งครั้งแรกภายหลังรัฐประหาร “เพื่อไทย” ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 อีกเช่นเคย พลังประชารัฐของ “3 ป.” มาเป็นอันดับ 2 “ประชาธิปัตย์” ที่แต่เดิมเป็นคู่ปรับ “เพื่อไทย” ร่วงหล่นไปเป็นพรรคอันดับ 4 ได้มาแค่ 53 คน

“พรรคอนาคตใหม่” ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ได้ ส.ส. 81 คน เป็นพรรคอันดับที่ 3

“เพื่อไทย” พรรคอันดับ 1 ถูกผลักตกบันได

“พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย” ไปรวมกันหนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วน “พรรคอนาคตใหม่” ปีศาจตนใหม่ถูกยุบและกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ 10 ปี

เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ภายใต้ชื่อใหม่ “พรรคก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ตามด้วย “เพื่อไทย” เป็นอันดับ 2

“ก้าวไกล” ได้คะแนนมหาชน 14.4 ล้านเสียง “เพื่อไทย” ได้ 10.9 คะแนนเสียง ถ้าเอา 2 พรรคนี้รวมกันจะเท่ากับ 25.4 ล้านเสียง (ร้อยละ 64.28 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ)

ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ของบิ๊กป้อม ได้มาแค่ 5.3 แสนเสียง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ใช้ “ประยุทธ์” ชูโรงหาเสียง ได้มาแค่ 4.6 ล้านเสียง ถ้าเอา 2 พรรคนี้รวมกันจะเท่ากับ 5.2 ล้านเสียง (ร้อยละ 13.17 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ)

สำหรับ “ประชาธิปัตย์” คงเหลือ ส.ส. 25 คน กับคะแนนมหาชน มีไม่ถึง 1 ล้าน

บทเรียนชื่อ “ประชาธิปัตย์” นั้นน่าศึกษา

วันนี้ถ้าจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่พลิ้ว ไม่คดงอแล้วละก็ การมี Advance MOU อย่างที่ “ศิธา” ถามเชิงนำเสนอ กับยุทธวิธีของ “จาตุรนต์” ที่จะผูกปมให้ฝ่ายตรงข้ามแก้บ้าง นั่นคือกระบวนท่าที่ยอดเยี่ยม!?!!