ท่าน (250) ส.ว.ที่เคารพ | พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาสาระของเราในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านทุกท่านอย่างยิ่งที่หายหน้าหายตาไปราว 1 เดือนเห็นจะได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องไปปฏิบัติภารกิจทางด้านวิชาการต่างๆ ประกอบกับไปบรรยายให้นิสิตนักศึกษาที่อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ฤดูกาลสอบปลายภาคให้แล้วเสร็จนั่นเอง

เมื่อขอโทษขอโพยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ขอเข้าเรื่องการเมืองและรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างเคยเลยละกันครับ

การกลับมาพบปะกันอีกครั้งหนึ่งของผมและทุกท่านในครั้งนี้นั้นมาพร้อมกับการทราบผลการเลือกตั้งของวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาอย่างไม่เป็นทางการ (เพราะต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน) ชนิดที่ต้องเรียกว่า “หักปากกาเซียน” กันเลยทีเดียว

กล่าวคือ พรรคที่หลายท่านรวมถึงโพลสำนักต่างๆ (และผมด้วย) คิดว่าจะต้องเข้าวินมาเป็นที่ 1 อย่างพรรคเพื่อไทยกลับต้องพ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกลที่แรกเริ่มเดิมทีคาดว่าน่าจะตามมาเป็นอันดับที่ 2 แบบ “อึ้งกิมกี่” กันไปเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ “ส้มล้มทุกสำนัก” เล่นเอาใครหลายคนตกอยู่ในสภาวะ “ช็อกซินิม่า” สติสตังค์ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเสียเท่าไหร่แม้จะล่วงผ่านวันเลือกตั้งมาแล้วกว่าสัปดาห์

ที่พูดแบบนี้ผมไม่ได้พูดจาโอเวอร์เกินเลยไปแต่อย่างใดหรอกนะครับ เพราะสังเกตได้จากคนรอบตัว เวลาที่เดินไปไหนมาไหนก็มักจะเข้ามาสอบถามว่า “อาจารย์ๆ มันเป็นไปได้ยังไงเนี่ย! ไม่อยากจะเชื่อเลยจริงๆ”

คงต้องพูดแบบนี้ครับว่า แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ข้อถกเถียงอธิบายทางวิชาการในแง่มุมต่างๆ ว่าเช่นไรก็ตามที แต่ที่แน่ๆ มันสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ประชาชน (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่) เขาต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง!”

ที่ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงก็คือ อย่างน้อยเขาต้องการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่โดยพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมโดยการนำของพรรคก้าวไกล ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยตามลำดับ ให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ผลงานไม่เข้าตากรรมการ

 

ทั้งๆ ที่ผลการเลือกตั้งชัดเจนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียขนาดนั้น แต่กระนั้นก็ตาม หนทางการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่ชูคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

กล่าวคือ แม้พรรคก้าวไกลจะสามารถรวบรวมเสียงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม (เพิ่มเติมคือพรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่) ได้มากถึง 312 เสียงแล้ว แต่ปฏิกิริยาของ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติหลายท่านที่กรีธาทัพกันออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อว่าจะไม่โหวตให้คุณพิธาเป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

อาทิ เด็กเกินไปพรรษายังไม่ถึงบ้าง ความคิดเป็นอันตรายต่อประเทศชาติบ้าง ฯลฯ ดังสนั่นลั่นจอทีวีและแพร่หลายในโซเชียลมากมาย

แถมตบท้ายด้วยคำพูดทำนองที่ว่า “ถ้าอยากให้คุณพิธาเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลก็ไปหาเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ 376 แล้วกัน จะได้ไม่ต้องมาพึ่งเสียง ส.ว. เพราะยังไงก็ไม่โหวตให้”

แหม่! พูดแบบนี้ท่าน ส.ว.อย่าลืมเคลียร์พื้นที่ให้ที่จอดรถทัวร์ด้วยนะครับ เพราะแน่นอนว่าประชาชนที่เพิ่งใช้สิทธิเลือกตั้งเขาควันออกหูแน่ๆ

 

ผมเองเข้าใจหัวอกของประชาชนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนะว่าทำไมเขาจึงโมโหโกรธากันมากขนาดนี้

คือพูดง่ายๆ เลยเขามองว่าทำไม ส.ว. (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) จึงไม่เคารพผลการเลือกตั้งที่สะท้อนเสียงของประชาชนว่าต้องการให้มีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้คุณพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในฐานะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดอันดับ 1 (151 ที่นั่ง)

อย่างไรก็ดี ส.ว.บางท่านก็คงนึกเถียงโดยยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่า ก็รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ตัวเลขที่จะทำให้ทางคุณพิธาเป็นนายกฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ก็คือ 376 เสียง (เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน) ไม่เห็นจะมีอะไรยากเลย อยากเป็นรัฐบาลก็ไปหามาให้ได้ซิ

ครับถูกต้อง ถ้าอ่านตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญกันแบบเป๊ะๆ

ว่าแต่…ท่าน ส.ว.ที่เคารพครับ โอเค หากถือตามที่ท่านพูดมาว่าท่านมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ (ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยเพราะท่านเองมีปัญหาเรื่องที่มาที่ไม่มีความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย) ผมมีคำถามที่อยากจะถามท่านสัก 2 ข้อจะได้ไหมครับ?

ข้อแรก ท่าน (250) ส.ว. ทุกท่านจำได้ไหมครับว่า เมื่อคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ รวมเสียงกับพรรคการเมืองต่างๆ 19 พรรคได้ทั้งสิ้น 254 เสียง

แต่กลับไม่ปรากฏว่าท่าน ส.ว.เองเรียกร้องให้เขาต้องไปรวบรวมเสียงให้ได้ 376 แบบที่ท่านกำลังเรียกร้องกับว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลในขณะนี้เลย

เหตุผลคืออะไรครับ?

 

ข้อสอง ท่าน (250) ส.ว.ทุกท่านจำได้ไหมครับว่า เมื่อคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ส่งผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ในท้ายที่สุดนั้น ประชาชน นักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาพวกท่านในทำนองที่ว่า 250 ส.ว.ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยโหวตให้ลุงตู่ได้เป็นนายกฯ นี่แหละ (ขณะนั้นปรากฏว่า ส.ว.เทคะแนนให้อย่างเป็นเอกฉันท์ 249 คะแนน)

แต่เหล่าบรรดา ส.ว.ต่างพาเหรดออกมาอธิบายเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เป็นความจริง ส.ว.ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นมีคะแนนเสียงโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในสภาได้ 251 เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ส.ว.ไม่ได้ช่วยอะไร ส.ว.เพียงแค่ลงคะแนนเติมลงไปให้เท่านั้น

เอ๊ะ! แล้วกรณีว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่รวมเสียงได้มากถึง 312 เสียงล่ะครับ มีเหตุผลอะไรที่ท่านจะไม่โหวตเติมคะแนนเสียงให้เหมือนกรณีรัฐบาลลุงตู่ล่ะครับ?

 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คำถามทั้ง 2 ข้อข้างต้นนี้มันแอบทำให้ผมและใครหลายๆ คนคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ว่าท่าน (250) ส.ว.ที่เคารพกำลัง “เลือกที่รักมักที่ชัง” อยู่หรือไม่ ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

หรือมันจะเป็นจริงอย่างที่เคยมีนักการเมืองบางท่านกล่าวว่า “รัฐธรรมนูญ (2560) ฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

แสดงว่าก็เมื่อไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นพวกแกเราก็ปฏิบัติอีกแบบเสียก็ได้ช่างมันปะไร

ถ้าคิดแบบนี้แล้วละก็ “ความเสมอภาค” ที่เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนซึ่งบังคับใช้กับท่าน ส.ว.ด้วยเพื่อให้ดำรงตนด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติในการปฏิบัติหน้าที่ กลับกลายมาถูกพวกท่านเสียเองล่วงละเมิดไปแบบไม่แยแส

แบบนี้เราจะถือได้หรือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องเคารพปฏิบัติตาม?

 

มาถึงตรงนี้ผมเองอยากจะบอกกล่าวถึงท่าน (250) ส.ว.ที่เคารพว่า หากทุกท่านคิดว่าตนเองนั้นกำลังทำหน้าที่ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” อย่างที่เคยพร่ำบอกอยู่เสมอในทุกครั้งเวลาที่มีประชาชนตั้งแง่เรื่องที่มาของพวกท่านซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

ขอจงลงคะแนนเสียงตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเถิด

นอกจากท่านจะถูกมองว่าไม่เคารพและปฏิบัติตามในครรลองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนแล้ว

ท่านอาจสุ่มเสี่ยงกับกรณีเป็นการใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องอยู่บนหลักความเป็นอิสระและปราศจากผลประโยชน์ขัดกันอีกด้วย

ส่วนที่ท่านมักวิตกกังวลกันว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลนี้จะมีวัยวุฒิเพียงพอต่อการบริหารหรือไม่ จะดีหรือไม่ดี ขอโปรดอย่าได้คิดแทนรัฐธรรมนูญเลยครับ

เพราะอย่าลืมว่าเมื่อผลการเลือกตั้งนำไปสู่รัฐบาลผสม แน่นอนว่าก็จะมีผู้มีประสบการณ์เข้ามาร่วมบริหารราชการแผ่นดินอยู่ด้วย

ส่วนเรื่องที่กังวลว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดีหรือไม่ดีนั้นตราบเท่าที่ผ่านเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ มาแล้วก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหรอก

นั่นหมายถึง พวกเขาได้ผ่านมาตรฐานของกฎหมายซึ่งในสายตาของรัฐธรรมนูญนั้นบุคคลต่างๆ เหล่านี้พร้อมในการเข้ามาดำรงตำแหน่งการเมืองเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในเบื้องต้นแล้ว

ส่วนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ยังคงมีกลไกในทางการเมืองและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญคอยควบคุมตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจอยู่ตลอด

 

ท้ายที่สุดนี้ เอาเข้าจริงสิ่งที่ท่าน ส.ว.ที่เคารพกำลังถกเถียงกันคอเป็นเอ็นอยู่กับว่าที่รัฐบาลชุดใหม่โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง ณ ขณะนี้ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากสลับซับซ้อนเลยนะครับ มันคือธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อประชาชนเขา “จำยอม” ให้รัฐบาลชุดก่อนภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศถึง 4 ปี แล้วเขาเห็นว่าการทำงานตลอดระยะเวลาดังกล่าวยังไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนก็เพียงบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั่นก็คือ รัฐบาลภายใต้การนำของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เข้ามาแสดงฝีไม้ลายมือในการแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆ บ้าง ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่เวิร์ก ในอนาคตประชาชนก็อาจจะเลือกรัฐบาลชุดเดิมที่ท่านเลยร่วมลงคะแนนเสียงโหวตให้ในปี 2562 เข้ามาบริหารประเทศอีกก็เป็นได้

ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีรัฐบาลชุดใดผูกขาดความเป็นรัฐบาลที่ดีมีประสิทธิภาพแต่เพียงผู้เดียว ตลอดจนกระทั่งผูกขาดการเป็นรัฐบาลชั่วนิจนิรันดร์ได้หรอกครับ ทุกอย่างมันมีวาระระยะเวลาของมันตามธรรมชาติ

แต่ถ้าหากมันจะมีจริงๆ แล้วละก็ ก็ขอให้ประชาชนเป็นผู้พูดเอง หาใช่บุคคลอื่นมาพูดแทนเขานะครับท่าน (250) ส.ว.ที่เคารพ