มองสังคมไทยแบบ ‘ด้วยรัฐและสัตย์จริง’ กับ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

“การที่ผมเลือกประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก หรือ History of Emotions เพราะจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อเกิดขึ้นในปัจจุบันว่ามันไม่ได้ก่อเกิดขึ้นฉับพลัน แต่มันเกิดอย่างมีกระบวนการเป็นประวัติศาสตร์มานาน มันคือการบอกกับสังคมว่า ‘Emotions’ ก็มี ‘History’ และถ้าหากเราเข้าใจประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก เราจะเข้าใจสรรพสิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้หรือในโลกทั้งหมดนี้ได้ลึกมากขึ้น”

“อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” กล่าวถึงประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก หรือ The History of Emotions แนวทางการศึกษาที่พาผลงานเล่มใหม่ของเขาอย่าง “ด้วยรัฐและสัตย์จริง: ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จริยธรรมแห่งรัฐ และความซื่อสัตย์ที่ผันแปร” ออกสู่สายตานักอ่าน ประจวบเหมาะกับห้วงยามที่ใครหลายคนกำลังตั้งคำถาม งุนงง หลงทาง ไม่อาจทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อนและมองไม่เห็นทางออกของสังคมไทยในปัจจุบัน

อรรถจักร์ชี้ชวนให้เห็นว่าบรรดาปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น หากแต่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกแบบที่คนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคลหรือปัจเจก” เพราะงานศึกษาของเขาพยายามแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมนั้นเชื่อมโยงกันเป็น “ระบอบอารมณ์ความรู้สึก” ไม่อาจแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือแยกขาดออกจากเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี้ได้

อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามีหลากด้าน แต่ทำไม “ความซื่อสัตย์” จึงถูกเลือกมาคลี่ขยายไว้ในผลงานเล่มล่าสุด แล้วหนังสือเล่มนี้จะพาเราไปทำความเข้าใจสังคมไทยในมิติที่ลึกลงไปอย่างไร ชวนคุยในหลากประเด็นกับเจ้าของผลงานถึงหนังสือเล่มนี้ที่บอกเลยว่าพลาดไม่ได้

1

ทำไมต้อง ‘ความซื่อสัตย์’

ในบรรดาอารมณ์ความรู้สึกอันหลากหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ความรัก ความกลัว ความโกรธ ความเกลียดชัง ความละอาย และอีกมากมาย อรรถจักร์เลือก “ความซื่อสัตย์” ขึ้นมาคลี่ขยายในผลงานชิ้นนี้ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าความนึกคิดเรื่องความซื่อสัตย์นับเป็นหนึ่งใน ‘คำถามหรือปัญหาหลัก’ ของสังคมการเมืองไทย

“เราจะพบว่า มีการรณรงค์เรื่องความซื่อสัตย์ รวมทั้งยกมาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารหลายครั้งเรื่อยมา ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องทำให้กระจ่างขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ปูทางให้คิดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์มากกว่าที่จะรณรงค์กันแบบไม่เข้าใจอะไรแบบนี้”

อรรถจักร์ยังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ที่มาจากบทความในแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 พร้อมทั้งกล่าวถึงเหตุผลอีกหนึ่งข้อที่เลือกเอาความซื่อสัตย์ขึ้นมาศึกษาว่า

“ผมเลือกมาเพื่อที่จะทำให้สังคมไทยอย่างน้อยตระหนักว่าสิ่งที่พวกคุณเห็นมันเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาเพราะอะไร ทำไมเป็นปัญหา ไม่ใช่เพราะคนไทยขาดแคลนความซื่อสัตย์ แต่มันสัมพันธ์กับอะไรที่มันลึกซึ้งมากกว่านั้น”

2

ความซื่อสัตย์ “คำ” ที่สัมพันธ์กับอะไรที่มันลึกซึ้งมากกว่านั้น

เมื่อพิจารณาความหมายของ “ความซื่อสัตย์” ที่ใช้และเข้าใจกันโดยทั่วไปในสังคมไทย การจำกัดความล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกันคือ ประพฤติตรงและจริงใจ ไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง อรรจักร์ชี้ชวนให้เห็นว่าการให้ความหมาย โดยการรณรงค์ หรือแม้แต่การเข้าใจต่อความซื่อสัตย์ลักษณะนี้เป็นการมองที่ให้คุณค่าแบบแยกส่วนเสี้ยวของความประพฤติหนึ่งออกมาจากมิติคุณค่าอื่นๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดความเข้าใจใดมากไปกว่าความหมายตามคำเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงศึกษาความซื่อสัตย์ในอีกความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า “integrity” ไม่ใช่ “honesty” อย่างที่หลายคนนึกถึง

“สิ่งที่ผมพยายามจะทำให้มันแบ่งแยกกันชัดขึ้นก็คือผมยืมคำภาษาอังกฤษ เพราะคำภาษาไทยมีไม่ตรง ผมแยกโดยยืมหรือทับศัพท์คำภาษาอังกฤษคือ “integrity” กับ “honesty” คนไทยจะยืนอยู่ที่ honesty ซึ่งแปลว่าความซื่อสัตย์แบบความหมายง่ายๆ คือ ไม่โกหก ไม่โกง พูดความจริง ซึ่งความซื่อสัตย์แบบนี้มันแยกออกจากคนอื่น เป็นแค่สมบัติของปัจเจกชน ผมจึงเทียบความซื่อสัตย์กับอีกคำหนึ่งที่มีความหมายลึกกว่าคือ integrity (ความสัตย์จริง) ซึ่งมีนัยแปลว่าซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อหลักการและพร้อมที่จะทำทุกอย่างตามหลักการที่ตัวเองศรัทธา โดยจะประกอบด้วยว่าคุณต้องตัดสินใจอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะเห็นว่าคุณจะซื่อสัตย์ต่ออะไร”

อรรถจักร์ยังแสดงให้เห็นว่า “ความซื่อสัตย์” แบบ “integrity” นี้พบได้ในกลุ่มชนชั้นสูงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกลุ่มชนชั้นสูงอ้าง integrity ในนามของ “ขัตติยมานะ” (ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและความทะนงในศักดิ์ศรีของชนชั้น) กล่าวคือ ความซื่อสัตย์ในหมู่ชนชั้นสูงถูกขับเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อยืนยันตัวตนและชนชั้นของชนชั้นนำไทยให้แยกแตกต่างออกจากไพร่ทาส ทว่าในกลุ่มสามัญชนคนทั่วไป ความซื่อสัตย์นั้นกลับหมายถึงความไม่คดโกงและถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็เป็นความซื่อสัตย์ที่อิงแอบอยู่กับแนวคิดว่าด้วย “ความจงรักภักดี” ต่อมูลนายหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น “integrity” ในกลุ่มคนทั่วไป จึงไม่ได้ถูกทำให้เด่นชัดหรือก่อเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์ความรู้สึกนึกคิดว่าด้วยความซื่อสัตย์นี้ การแยกความหมายของความซื่อสัตย์ให้ชัดเจนขึ้นของหนังสือเล่มนี้จึงจะนำไปสู่คำถามสำคัญต่อการแสวงหาและก่อรูปความซื่อสัตย์แบบ “integrity” ในกลุ่มคนทั่วไปของสังคมไทยต่อไป

“เมื่อเราแยกสองคำนี้ออกจากกัน ผมคิดว่าเราจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าสังคมไทยของเราแร้นแค้นสิ่งที่เรียกว่า integrity หรือความซื่อสัตย์ในหลักการ ถ้าเราเข้าใจสองคำให้มากขึ้น เราก็จะคิดกันมากขึ้น เราจะสร้างอะไรอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความสัตย์จริงหรือ integrity กันมากขึ้น”

อรรถจักร์คลี่ขยายต่อให้เห็นถึง “หัวใจสำคัญ” เวลาพูดถึงความซื่อสัตย์ ไม่ว่า integrity (ความสัตย์จริง) หรือ honesty (ความซื่อสัตย์) ล้วนเป็นความนึกคิดที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับชุดความรู้สึกนึกคิดอื่นที่ประกอบกันเป็น ‘ระบอบเกียรติยศ’ (regimes of honor) กล่าวคือหากแสดงความซื่อตรงต่อหลักการ สิ่งที่จะได้คือระบอบเกียรติยศที่จะบอกว่าคนคนนี้ยึดหลักการ เมื่อเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์แต่ละชุดที่สัมพันธ์กับระบอบเกียรติยศหรือเข้าใจความซื่อสัตย์-ความสัตย์จริงในความหมายของระบอบเกียรติยศแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าความหมายของความซื่อสัตย์ในระบอบเกียรติยศแบบเดิมไม่อาจยึดโยงและสร้างจริยธรรมทางสังคมที่สอดรับกับสังคมปัจจุบันได้แล้ว โจทย์สำคัญในวันนี้จึงเป็นคำถามที่ว่า “เราจะสร้างระบอบเกียรติยศอะไรที่จะกลายเป็น ‘จริยธรรมทางสังคม’ หรือมาตรฐานกำหนดความดีงามความชั่วของสังคมชัดเจน”

ทั้งนี้อรรถจักร์ยกตัวอย่างการพยายามสร้างระบอบเกียรติยศใหม่ที่ว่านี้โดยชวนมองไปถึงข้อเสนอของพรรคการเมืองที่มุ่งเน้นจะสร้าง integrity หรือความสัตย์จริงให้กับระบบราชการ เช่น การต่อสู้เรื่องตั๋วช้าง ข้อเสนอปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง สะท้อนให้เห็นว่าการมอง “ความซื่อสัตย์” ในระบอบเกียรติยศแบบเดิมนั้นไม่สามารถสอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงหรือตอบคำถามผู้คนในสังคมได้อีกต่อไป

3

ความซื่อสัตย์ที่ผันแปร

“ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม” เป็นจุดขับเน้นสำคัญในการแปรเปลี่ยนไปของความนึกคิดว่าด้วย “ความซื่อสัตย์” ระบอบเกียรติยศแบบเดิมที่ยึดโยงอยู่เพียงแค่การซื่อตรงภักดีต่อมูลนาย หรือผู้ที่เหนือกว่าในลำดับชั้นทางอำนาจไม่สามารถที่จะกอบเอาความนึกคิดอันหลากหลายที่เบ่งบานขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกว่าด้วยความซื่อสัตย์ในอุดมการณ์แบบเดิมได้อีกต่อไป อรรถจักร์อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างไพศาลและลึกซึ้งในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาซึ่งส่งผลต่อการผันแปรของความรู้สึกนึกคิดของผู้คนว่า

“สังคมไทยเกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สำคัญมาก ทั้งเชิงกายภาพคือการเคลื่อนพื้นที่ เช่น คนกรุงเทพมาเชียงใหม่ คนทั่วประเทศไปภูเก็ต หรือการย้ายไปบุรีรัมย์ นอกจากการเคลื่อนย้ายทางกายภาพ ยังมีการเคลื่อนย้ายทางสถานะหรือชนชั้น ก่อนรัฐประหารสัดส่วนคนจนลดลงรวมทั้งคนเกือบจนอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทุกอย่างเคลื่อนที่มากขึ้น นอกจากการเคลื่อนที่ทางกายภาพกับการเคลื่อนที่ทางสถานะแล้ว ยังมีการเคลื่อนที่ทาง ‘จิตใจ’ อีกด้วย”

การเคลื่อนย้ายเหล่านี้ยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของ “สำนึกใหม่” ที่มาประกวดประชันระบอบเกียรติยศแบบเดิม

“อาจารย์นิธิได้พูดถึงสำนึกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้ซึ่งเข้ามาประกอบกับการเมือง การเคลื่อนที่ทั้งหลายทำให้คนเริ่มอธิบายตัวเองใหม่และอธิบายสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งพวกเขาอธิบายด้วยความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม สำนึกใหม่ตัวนี้เข้าไปกระทบอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก ความรู้สึกร่วมกันของผู้คนจำนวนมากก็ถักสานกันเป็นอารมณ์ความรู้สึกอีกชุดหนึ่งขึ้นซึ่งกำลังลุกขึ้นมา ‘ประกวดประชัน’ กับระบอบเกียรติยศเดิม จากความซื่อสัตย์สำหรับคนทั่วไปที่เคยผูกอยู่กับการจงรักภักดีต่อมูลนายและความรับผิดชอบในฐานะปัจเจกกลายเป็นความซื่อสัตย์ที่ผูกอยู่กับความเท่าเทียม”

อรรถจักร์ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยชี้ชวนมองประเด็นนี้ผ่านชัยชนะของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในการเลือกตั้งที่ผ่านมาด้วยการมองที่ “ปาร์ตี้ลิสต์” จะพบว่าข้อเสนอของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งหมดวางอยู่บนระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งคือความรู้สึกถึง ‘ความเท่าเทียม’ แน่นอนว่าในรายละเอียดทั้งสองพรรคไม่เหมือนกัน ทว่าทั้งสองพรรคเน้นโอกาสที่จะให้กับผู้คน สำนึกที่อยู่บนฐานของความรู้สึกเท่าเทียมนี้ก่อรูปขึ้นมาเป็นระบบเกียรติยศที่ ‘คนเท่าเทียมกัน’ และคนสามารถที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวบนฐานของความเท่าเทียมได้

4

ความซื่อสัตย์ที่ผูกกับ ‘ความเท่าเทียม’ กำลังก่อรูป

ความเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่การเกิดสำนึกใหม่ กำลังค่อยๆ ก่อรูประบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งที่ผู้คนจะรู้สึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเท่าเทียม’ ซึ่งการเกิดขึ้นของความนึกคิดเช่นนี้ อรรถจักร์มองว่ามันกำลังเข้าไปท้าทายระบบเกียรติยศและลำดับชั้นทางอำนาจแบบเดิมอย่างเข้มข้น

“มันเข้าไปแย้งกับระบอบอารมณ์ความรู้สึกชุดหนึ่งที่สัมพันธ์กับระบบเกียรติยศแบบเดิมก็คือ ‘ลำดับชั้นทางอำนาจ’ ในสังคมไทย ระบอบเกียรติยศที่เป็นความจงรักภักดีจะสัมพันธ์อยู่กับระบอบอารมณ์ความรู้สึกที่สัมพันธ์อยู่กับลำดับชั้นทางอำนาจอีกที เช่น อาจารย์พูดกับนักศึกษาแบบหนึ่ง แต่พอหันไปเจออธิการบดีกลับพูดอีกแบบหนึ่ง นี่คือสิ่งที่บอกอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทย แต่ความรู้สึกใหม่ที่พูดถึง ‘ความเท่าเทียม’ นี้ เข้าไปท้าทายความรู้สึกเกี่ยวกับลำดับชั้นทางอำนาจ คนรุ่นใหม่เริ่มมีการใช้ภาษาที่ไม่มีลำดับชั้นทางอำนาจอีกแล้ว เราจึงจำเป็นต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ให้มากขึ้น ไม่งั้นสังคมไทยเดินไม่ได้”

อรรถจักร์ยังทิ้งท้ายถึงประเด็นนี้ผ่านการกล่าวถึง “คนรุ่นใหม่” ที่มักถูกตั้งคำถามจากสังคมบางส่วนว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่รักชาติ ก้าวร้าว ไม่รู้จักกาลเทศะ โดยชี้ให้เห็นว่าเหตุผลสำคัญนั้นมาจากระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างออกไปจากอดีต

“พวกเขาไม่ใช่เด็กสามหาว ไม่ใช่เด็กที่ไม่มีกาลเทศะ แต่พวกเขามีระบอบอารมณ์ความรู้สึกอีกชุดหนึ่ง และถ้าถามว่าพวกเขารักชาติไหม ผมว่าพวกเขารักชาติรักสังคมไทย เพราะฐานของความรู้สึกเท่าเทียมมันเป็นความเท่าเทียมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกชนด้วยกันทั้งหมด ความเท่าเทียมนี้เป็นความเท่าเทียมที่ผู้คนได้เชื่อมโยงถึงกัน อารมณ์ความรู้สึกชุดนี้เราจึงจำเป็นต้อง ‘ทำความเข้าใจกัน’ ถ้าหากเราจะสร้างสังคมที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข”

‘ทำความเข้าใจ’ ดูเหมือนจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในห้วงยามที่ใครหลายคนต่างตั้งคำถาม งุนงง หลงทาง หรือมองไม่เห็นทางออกของสังคมเราในวันนี้ เชื่อแน่ว่า “ด้วยรัฐและสัตย์จริงฯ” จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับการ “ทำความเข้าใจ” ความสลับซับซ้อนของปัญหาสังคมการเมืองไทยผ่านสายตาที่มองลึกลงไปในแอ่งอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนและคลี่ขยายให้เห็น “ความซื่อสัตย์” ที่ไม่อาจมีความหมายใดเลยหากปราศจากความเชื่อมโยงและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

“สังคมไทยวันนี้ระบอบเกียรติยศทั้งหลายพังทลาย ถูกทำให้เหลือแค่สายสะพายหรือเครื่องราชย์ ไม่สามารถที่จะดึงดูดใจผู้คนให้สัมพันธ์อยู่กับระบอบเกียรติยศอันนั้นได้อีกแล้ว มันจึงควรมีความหมายที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเวลาเราพูดถึงระบอบเกียรติยศ”

ย้อนสำรวจสังคมของเราในมิติที่ลึกลงไปกันต่อกับหนังสือเล่มนี้ ร่วมหาคำตอบและหาทางออกไปด้วยกัน บางครั้งอาจพบคำตอบคล้ายคลึงกับคำทิ้งท้ายสุดกระชับของอรรถจักร์ที่บอกถึงนิยามสั้นๆ ของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า

“ความสัตย์จริงกับความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน” •