พลังรวมหมู่-UGC

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วย “พรรคการเมือง” อีกครั้ง ในภาวการณ์เมืองไทย เชื่อมโยงกับผู้คนอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ตั้งปุจฉามาจากบทสนทนาในรายการถ่ายทอดสอดออนไลน์ “Care Talk” เมื่อไม่กี่วันมานี้ (16 พฤษภาคม 2566)

มาจากบทสนทนา ทักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยบทเรียนความพ่ายแพ้ของ พรรคเพื่อไทย มีต่อ พรรคก้าวไกล บางช่วงบางตอนอ้างอิงนวัตกรรมพรรคก้าวไกล ใช้คำว่า User Generated Content หรือ UGC โดยยกตัวอย่างบทบาทผู้สมัคร ส.ส.กทม.คนหนึ่งของพรรคก้าวไกล ว่าเธอได้โพสต์เป็นกระดาษเปล่า แล้วขอให้ผู้สนับสนุนนำเสนอข้อความหาเสียงขึ้นเอง เพื่อส่งต่อแบบลูกโซ่

“ใช้ยุทธศาสตร์ UGC อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการสร้างและกระจายคอนเทนต์ต่อไปยังสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึง TikTok ผ่านเหล่าผู้ที่เรียกว่า หัวคะแนนธรรมชาติ และด้อมส้ม” เขากล่าวทำนองนั้น

เกี่ยวกับ User Generated Content (UGC) เป็นปรากฏการณ์สื่อสังคม (Social media) ซึ่งปรากฏขึ้นมากว่า 2 ทศวรรษ

“บางคนเชื่อว่าหากอินเตอร์เน็ตพัฒนาไป สื่อดั้งเดิมซึ่งมีทักษะใกล้เคียงกับการจัดการข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต จะสามารถปรับตัวได้ แต่ความจริงแล้วผู้เล่นรายใหม่ซึ่งสั่นคลอนสื่อดั้งเดิม ส่วนใหญ่กลับไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับประสบการณ์มาจากสื่อดั้งเดิมเลย เปิดพื้นที่ใหม่ๆ นำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง Social media มาทำงานเรียกว่า Consumer-Generated Content (CGC)” ผมเองเคยนำเสนอประเด็นสำคัญไว้ ว่าด้วยผลกระทบครั้งใหญ่มาถึงสื่อดั้งเดิม (ที่เรียกันว่า Industrial media) เทียบเคียงกับสื่อดั้งเดิมไทยในเวลานั้น โดยผู้ก่อตั้ง และผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นเดียวกัน เรียกว่า Baby boomer ในขณะปรากฏการณ์อิทธิพลสื่อใหม่ อย่างกรณี Google (ก่อตั้ง 2541) และ Face book (2547) ธุรกิจโมเดลใหม่ ก่อกำเนิดขึ้นโดยคนอีกรุ่นที่เรียกว่า Gen X และ Gen Y

Google ธุรกิจระบบค้นหาข้อมูลและระบบเมล์ (Gmail) มีจังหวะก้าวสำคัญด้วยการเกิดขึ้น Google Chrome (2551) ระบบเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (web browser) จนกลายเป็น web browser หลักครองส่วนแบ่งมากที่สุดจากพีซี ถึงสมาร์ตโฟน

ในมิติหนึ่ง Google Chrome ประหนึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่รายใหญ่ ในโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยมีผู้สร้าง website เป็น content providers มากมายโดย Google ไม่ต้องลงทุนเอง

ตามมาด้วย Google Maps (2550) ระบบข้อมูลแผนพัฒนาขึ้นอย่างน่าสนใจ ด้วยการนำเสนอข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ (real time) อาศัยการจัดระบบข้อมูล จากตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ตโฟน ผู้ใช้รถ มาสร้างบริการอันน่าทึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้ใช้ถนน

อีกกรณี YouTube (2548) เพียงปีเดียวจากนั้น Google ได้ซื้อกิจการเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ปัจจุบัน บริการแชร์วิดีโอ YouTube มี content providers ผลิตรายการและเนื้อหาให้อยู่ตลอดเวลา ด้วยความยาวนับพันชั่วโมงในทุกนาที และผู้เข้าชมนับพันล้านในทุกๆ วันเช่นกัน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก

พลังที่สร้างผลสะเทือนต่อสื่อดั้งเดิมทั้งมวล

ไอซ์ รักชนก ศรีนอก

ในประเทศไทย Google เปิดสำนักงานขึ้นในปี 2544 และ Facebook ตามมาในปี 2558

สะท้อนพลังสื่อใหม่ที่มีเป็นอันมากในสังคมไทย

สอดคล้องกับช่วงเวลาผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตขยายตัวอย่างมาก อย่างเหลือเชื่อ ด้วยเครื่องมือหลากหลาย

โดยเฉพาะผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ

และสมาร์ตโฟนได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไปแล้วตั้งแต่ปี 2557

ปรากฏการณ์และแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทย พุ่งเป้าแรกไปยังสื่อดั้งเดิม เมื่อมองผ่านผู้มีส่วนร่วมมากมาย ในกระบวนการผลิตเนื้อหา (Content) ไม่ว่า ข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ คลิปเสียง

โดยมีผู้เล่น (platform) “ขาใหญ่” เน้นไปสื่อสังคม (Social media) ซึ่งตามกันมาอีกหลายราย เช่น Tweeter LINE และ TikTok

ขณะที่มี platform อย่างอื่น เป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ หลากหลาย เฉพาะตัว

อย่างกลุ่มสนทนาเฉพาะเรื่อง ที่มีบทบาทหลากหลาย จากกลุ่มเพื่อน กลุ่มกิจกรรมความสนใจเดียวกัน กลุ่มค้นคว้าและวิจัย กลุ่มพัฒนานวัตกรรม

จนถึงกลุ่มการเมืองย่อยๆ

 

ว่าด้วยเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองตามที่กล่าวอย่างรวบยอดตอนต้นๆ เป็นที่เข้าใจกันพอสมควร ในนิยาม “หัวคะแนนธรรมชาติ” ของพรรคการเมือง ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากมาด้วยสมัครใจ แตกต่างระบบหัวคะแนนดั้งเดิม เป็นกลุ่มก้อนเอาการเอางาน แสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ทั้งในแบบแผนเดิม และแบบแผนใหม่ในยุคดิจิทัล ภาพภายนอกซึ่งปรากฏในเวทีปราศรัยทางการเมืองอย่างเปิดเผย จึงไม่สามารถอรรถาธิบายตามความหมายเดิมได้อีกต่อไป

อันที่จริงภาพและการปรากฏขึ้นของ “หัวคะแนนธรรมชาติ” นั้น เชื่อว่ามีที่มาอย่างเรียบง่าย น่าเสียดาย บางคนอาจมองไม่เห็น และไม่เข้าใจ

อย่างที่เคยว่าไว้ ช่วงก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป (จากเรื่อง “ว่าด้วยพรรคการเมือง” มติชนสุดสัปดาห์ 12 พฤษภาคม 2566) “…ว่าด้วยหลักการ นโยบายพรรคการเมือง เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นไปตามวิวัฒนาการทางการเมืองไทย” และบางตอนมองเห็น “จากนโนยายแต่ละเรื่อง สู่ความเชื่อมโยงเป็นระบบให้ภาพใหญ่ ในเชิงโครงสร้าง…เข้าถึงอุตมคติทางการเมืองที่แตกต่างด้วย”

ทั้งนี้ เชื่อว่า เมื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ปัจจุบัน ผลการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ ย่อมมาจากการเข้าถึง เข้าใจแนวนโยบายของพรรคการเมือง

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ความพยายามในการ “แกะรอย” ที่มาแนวนโยบายข้างต้น เปิดฉากขึ้นจากการปรากฏตัว ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ (บุตรชาย สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์)

ผู้คนอาจสนใจเรื่องราวของเขา ในฐานะผู้เดินตามรอยบิดา ให้ความสนใจว่าด้วยนโยบายระหว่างประเทศ จากภูมิหลังศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรง จาก Georgetown University (ปริญญาตรี) Harvard University, John F. Kennedy School of Government (ปริญญาโท) และกำลังจะจบปริญญาเอกจาก University of Oxford อีกบางคนอาจสนใจความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในพรรคก้าวไกล ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง มาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน

ดูเป็นการปรากฏตัวอย่างตั้งใจ ผ่านสื่อในช่วงกระชั้น (จาก “การเมืองไทยวันพรุ่งนี้” ช่อง Suthichai Live เมื่อ 20 พฤษภาคม 2566 ถึง “สัมภาษณ์เต็ม ‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ เปิดทิศทางการต่างประเทศ ‘รัฐบาลพิธา'” ช่อง TODAY LIVE เมื่อ 23 พฤษภาคม 2566) ในจังหวะเดียวกัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกาศ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เป็นทีมงานฝ่ายต่างประเทศ บนเวทีลงนาม MOU พรรคร่วมรัฐบาล (23 พฤษภาคม 2566)

ในบทสนทนา ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นอกจากจะให้ภาพกว้างๆ ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศ ที่สำคัญยังให้ภาพ “ร่องรอย” กระบวนการผลิตนโยบายด้วย ถือว่าเป็นกระบวนการผ่านนวัตกรรม UGC ก็ย่อมได้

เขากล่าวถึงกลุ่มบุคคล ผู้ซึ่งสนใจ สมัครใจร่วมกลุ่มกัน ร่วมวงสนทนา ปรึกษาหารือกันมาเป็นปี จนถึงตกผลึกระดับหนึ่ง เป็นชุดแนวคิด แนวนโยบาย เพื่อส่งให้พรรคการเมืองพิจารณกลั่นกรอง บรรลุเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการต่อไป

เฉพาะนโยบายต่างประเทศ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เล่าว่ามีผู้เกี่ยวข้องร่วมกลุ่มกันราว 50 คน ขณะพาดพิงถึงกระบวนการผลิตนโยบายอื่น อย่างสาธารณสุขด้วย ในแบบแผนเดียวกัน “มีมากกว่าร้อยคน” เขาว่า

อาจจะมีกลุ่มคนทำหน้าที่อื่น (ภายใต้ยุทธศาสตร์ UGC) อีกก็เป็นได้ เพื่อผลักดันให้การเมืองไทยเดินหน้า ผ่านด่านสำคัญข้างหน้า •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com