เปลี่ยนผ่าน : “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” กับ “กบ ไมโคร” ปลายทางฝันของ “ไอดอลยุค 80-90” ถ้า “ยังสู้” โอกาสย่อม “ยังมี”

โจทย์สำคัญในการทำรายการทอล์ก “เป็นเรื่อง!” ที่ออกอากาศผ่านทางเฟซบุ๊ก Khaosod ทุกคืนวันพุธ 20.30 น. คือ ได้เรื่องเด่นหรือได้บุคคลเจ้าของเรื่องน่าสนใจ

ถ้าครั้งไหนที่ทั้งสองอย่างมาบรรจบกัน

ความคึกคักจากการตอบรับของผู้ชมก็ดูจะมากเป็นพิเศษ

ต้นเดือนตุลาคม ทีมงานนัดหมาย “รัชพล ภู่โอบอ้อม” หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ตำนานแห่งวงการสนุ้กเกอร์ไทย ซึ่งเคยก้าวไปถึงตำแหน่งมือ 3 ของโลกมาแล้ว

ใครที่ติดตามผลงานระยะหลัง หรือยังพอได้ยินข่าวบ้าง จะรับรู้แต่ข่าวต๋องแพ้, ตกรอบแรก, ไม่ผ่านรอบคัดเลือก วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา

ต่างจากยุครุ่งเรือง ที่สู้กับมือระดับโลกได้อย่างสูสี ชนิดที่หลายคนบอกว่า ถ้าไม่มี “สตีเฟ่น เฮนดรี้” มือ 1 ของโลกในยุคนั้นขวางทาง

“ต๋อง” อาจจะไปได้ไกลกว่านี้

โชคดีที่ระหว่างนัดหมาย “ต๋อง” กลับมาทำผลงานได้ดีในรายการ “อิงลิช โอเพ่น 2017” ที่อังกฤษ

เอาชนะคู่แข่งได้ 3 แมตช์ติดต่อกัน ทะยานเข้าถึงรอบ 16 คน ก่อนจะแพ้ “ไมเคิล ไวต์” นักสอยคิวชาวเวลส์ไปแบบฉิวเฉียด 3-4 เฟรม

ที่สำคัญมากๆ คือ ครั้งสุดท้ายที่ต๋องชนะคู่แข่ง 3 แมตช์ติดกัน ต้องย้อนหลังไปถึงรายการ “เวลส์ โอเพ่น 2006” เมื่อ 11 ปีที่แล้ว!

ต๋องในวัย 47 ปี บอกว่า เขาดีใจมากๆ ตั้งแต่ชนะรอบแรก เพราะเป็นชัยชนะนัดแรกของเขาในปีนี้ แล้วยิ่งผ่านมือ 13 ของโลกอย่าง “อลิสเตอร์ คาร์เตอร์” ในรอบ 2 และดาวรุ่งจีน “หยวน ซี จุน” ที่ สตีเฟ่น เฮนดรี้ เคยวิเคราะห์ไว้ว่ามีฝีมือดีระดับจะเป็นแชมป์โลกในอนาคต ในรอบ 3

ความมั่นใจที่เคยหายไปก็เริ่มกลับมา

ช่วงเวลาที่หายไป ต๋องผลงานวูบถึงขนาดหลุดจากระบบมืออาชีพโลก ที่ต้องทำแรงกิ้งติดอันดับ 64 คนแรกของโลกให้ได้ ในระบบสะสมคะแนนรอบ 2 ปี แต่เหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต เขากลับมาได้แชมป์ประเทศไทย ก่อนจะได้ไปแข่งชิงแชมป์เอเชียที่จีน แล้วได้แชมป์แบบเขาเองก็ไม่คาดคิด เพราะก่อนหน้านั้นต๋องไปบวช จนแทบไม่ได้จับคิว

สิทธิจากการเป็นแชมป์เอเชียทำให้เขาได้กลับไปเล่นอาชีพโลกอีก 2 ปี

แม้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ต้องหลุดจากระบบมืออาชีพโลกอีกครั้ง แต่คราวนี้ “เวิลด์สนุ้กเกอร์” ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลการแข่งขันระดับมืออาชีพ ได้ออกตั๋วพิเศษเชิญต๋องแข่งต่อ ในฐานะผู้จุดประกายความสนใจกีฬาสนุ้กเกอร์ในทวีปเอเชีย

และตั๋วใบหลังนี่เอง ที่ต่อโอกาสให้เขากลับมาชนะ 3 แมตช์รวดในปีนี้

ปัญหาใหญ่ที่ต๋องบอกคือเขามีปัญหาสายตามานาน แต่ตัวเองไม่ได้ใส่ใจ กลายเป็นว่าเขามองเหลี่ยมมุมไม่ชัด กระทั่งครั้งหลังสุดไปตรวจพบเป็นต้อกระจก ต้องผ่าตัดรักษา จนกลับมามองเห็นชัดเจนอีกครั้ง

แต่ก็ต้องสู้กับปัญหาใหม่อีกข้อ คือ สภาพร่างกายในวัย 47 ปี ที่ไม่สดเหมือนหนุ่มๆ อีกต่อไปแล้ว

ส่วนปัญหาเรื่องจิตใจ ต๋องยอมรับว่าการเสียคุณพ่อไปกะทันหัน (ถูกยิงเสียชีวิต) ส่งผลต่อการเล่นของเขาในเวลาต่อมา ประกอบกับปัญหาเรื่องอื่นๆ ทำให้กว่าเขาจะกลับมาตั้งหลักใหม่ ก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี

จนเรียกได้ว่าเกือบจะสุดท้ายปลายทางของการเป็นนักกีฬาอาชีพแล้ว

เราถามต๋องตรงๆ ว่า ตลอด 30 ปีของการเป็นนักสนุ้กเกอร์อาชีพ เคยเบื่อจนอยากเลิกเล่นไหม? เขาตอบกลับอย่างรวดเร็วว่า อยากจะเลิกเล่นประมาณ 10 กว่ารอบแล้ว แต่ด้วยความอดทนก็ทำให้เขาผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมายมาจนถึงวันนี้ได้

แม้ต๋องจะมีผลงานตกต่ำ จนแฟนๆ ที่เคยเชียร์แทบจะลืมไปแล้วว่าเขายังคงลงแข่งขันอยู่ แต่เมื่อเรานำเสนอเรื่องของเขาอีกครั้ง ก็กลายเป็นโอกาสให้หลายๆ คนมารำลึกความหลัง

หลายคนเล่าถึงการตื่นมากลางดึกเพื่อจะเชียร์ต๋องลงแข่งที่อังกฤษ

บางคนถึงขนาดหาไม้คิวมาเป็นของตัวเองในยุคสมัยสนุ้กเกอร์เป็นกีฬายอดนิยม เพราะกระแส “ต๋องฟีเวอร์”

และแน่นอนที่สุด เมื่อรู้ว่าต๋องยังเล่นสนุ้กเกอร์อยู่ ทุกคนต่างพร้อมให้กำลังใจ

ก่อนหน้านั้น “เป็นเรื่อง!” เคยคุยกับไอดอลร่วมสมัยกับต๋องอีกคน (แต่ต่างวงการ) คือ “ไกรภพ จันทร์ดี” หรือ “กบ ไมโคร”

ความเหมือนกันของทั้งคู่คือการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย

กบโด่งดังเป็นพลุแตกจากเพลง “รักปอนปอน” ในอัลบั้มแรกของวงไมโคร ที่ออกในปี 2529 ด้วยวัยเพียง 19 ปี

เขาบอกว่า ไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ถ้ามองกลับไปตอนนั้น กบเป็นคนหนุ่มที่ “ดัง เหิม ห้าว กร่าง อีโก้เยอะ อัตตามาก คุยไม่รู้เรื่อง ครบสมบูรณ์แบบ (หัวเราะ)”

แม้ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักร้องตั้งแต่แรก เพราะวางบทบาทตัวเองไว้เป็นมือกีตาร์ แต่เขาก็ต้องแบกรับวงตั้งแต่อัลบั้มที่ 4 “เอี่ยมอ่องอรทัย” เมื่อ “หนุ่ย-อำพล ลำพูน” แยกตัวออกไป

ก่อนจะผันตัวมาออกอัลบั้มเดี่ยว 3 ชุด โดยมีเพลง “รักข้างเดียว (ช้ำอยู่แล้ว)” ในอัลบั้มแรก เป็นเพลงฮิตประจำตัว

ถ้าว่ากันตามตรง งานเดี่ยว 2 ชุดหลังของเขา คนฟังก็จำกัดวงลงไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนในยุคสมัยประสบความสำเร็จสูงสุด

เช่นเดียวกับต๋อง พอพูดถึงกบ ความทรงจำของคนร่วมสมัยก็ฟื้นคืนอีกครั้ง

ข้อความที่ส่งมาขณะบทสัมภาษณ์ออกอากาศ จึงมีทั้งผู้เล่าถึงบรรยากาศการเคยไปดูคอนเสิร์ต, การเดินตากฝนร่วมกับแฟนเหมือน MV เพลงรักปอนปอน, การหัดเล่นกีตาร์เพราะอยากเท่เหมือนกบ

ทุกคนมองภาพอดีตด้วยความสุข

ตัดกลับมาที่ภาพปัจจุบัน กบในวัย 50 ปี ยังคงมีอีกหนึ่งฝันที่เขาหมายมั่นจะทำให้ได้ คือ การตั้งวงใหม่ที่ไม่ใช่ “ไมโคร”

ในขณะที่นักร้องวัยเดียวกันเลิกสร้างงานใหม่ แต่กบบอกว่า เขาตั้งใจตั้งแต่ตอนออกอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 3 ว่าอยากทำวงที่เล่นดนตรีได้หลายแนวไม่จำกัดเฉพาะร็อกอย่างไมโคร

แต่ตอนนั้นผู้ใหญ่ในค่ายเพลงไม่เห็นด้วย เขาเลยต้องใช้ชื่อ “กบ-ไกรภพ จันทร์ดี” ไปก่อน

จนตอนนี้ที่ไม่มีค่ายต้นสังกัด เขาจึงรวบรวมสมาชิกตั้งวงใหม่ชื่อไทยๆ ว่า “อโยธยา”

กบและเพื่อนๆ ลงมือทำงานเองทั้งหมด ตั้งแต่ทำเพลง ถ่ายรูป ตัดต่อคลิปลงยูทูบ ไปจนเดินสายโปรโมต เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แบบครบวงจร

แม้จะมีนักร้องอิสระ ทำเพลงเองลงยูทูบแล้วเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนั้น

วง “อโยธยา” ที่กบพยายามสร้าง หลังปล่อยเพลงมาครึ่งปี ยอดวิวต่อเพลงยังคงค้างอยู่ที่หลักหมื่น

กบเคยบอกไว้ว่า เขาไม่คาดหวังว่าวงใหม่จะต้องโด่งดังแบบไมโคร เพียงแต่เขายังรักและสนุกที่จะทำ

“เราอาจจะเป็นแค่ Happening เราอาจจะเป็นคนที่สร้างงานออกมาเป็นอาร์ตโดยที่ไม่มีใครมองเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณวางงานออกไปจนถึงจุดหนึ่ง ที่มันมีตัวตอบโจทย์หนึ่งอัน มันอาจจะไล่กลับ ย้อนกลับ content ที่ลงมาทั้งหมดนับร้อย content เลยก็ได้”

“ถ้าคุณไม่หยุดคุณยังมีโอกาส”

กรณีของต๋องในวัย 47 ปี ยังมีความฝันที่จะกลับไปอยู่ท็อป 32 ของโลกอีกครั้ง และฝันที่จะคว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนโลกให้ได้อีกสักรายการ

หลังทำได้ครั้งสุดท้าย ตั้งแต่ “ไทยแลนด์ โอเพ่น” ปี 1995 หรือ 22 ปีมาแล้ว

ถ้าทำสำเร็จ เขาจะกลายเป็นแชมป์ที่อายุเยอะที่สุดในวงการสนุ้กเกอร์

เขารับว่าแฟนกีฬาที่ติดตามแวดวงสอยคิวคงรู้ดีว่ายาก ชนิดที่ลุ้นให้ถูกลอตเตอรี่อาจจะง่ายกว่า แต่อย่างไรก็จะขอสู้

“ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ก่อนตายขอให้ผมมี “ชัก” สักนิดนึง ถ้าเป็นนักมวย ผมจะต้องโดนนับสิบแน่นอน นับกี่ครั้งไม่รู้ นับแต่อย่างน้อยผมก็ได้สู้ใช่ไหมครับ ชีวิตนักสู้ ขอให้ผมได้สู้ จนกว่าจะหมดลมหายใจก็แล้วกัน”

วันนี้ของไอดอลทั้ง 2 จึงมาพ้องพานกันแบบไม่บังเอิญ

ไม่หยุดฝัน ไม่หยุดลงมือ คือโอกาสที่ยังมี

แม้ใครๆ จะมองว่าเป็น “ปลายทาง” แล้วก็ตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Tong Snooker Club (@THAITORNADOFC)

และ “กบ” กับ “วงอโยธยา” ได้ที่เพจ Ayothaya วงอโยธยา (@AyothayaBAND)