‘สตรีมมิ่ง’ ยังไหวหรือใกล้ตาย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

‘สตรีมมิ่ง’ ยังไหวหรือใกล้ตาย

 

รู้สึกเหมือนเวลาเพิ่งจะผ่านมาไม่กี่ปีนี่เองนับตั้งแต่วันที่ทั่วโลกเห็นเทรนด์แบบเดียวกันคือโทรทัศน์ในแบบที่สถานีกำหนดเวลาออกอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Linear TV อยู่ในช่วงขาลง และจะไม่มีวันกลับมารุ่งโรจน์ได้อีกแล้ว

บางคนอาจจะถึงขั้นพูดว่าทีวีกำลังจะตาย หรือทีวีได้ตายไปแล้วเสียด้วยซ้ำ ส่วนสิ่งที่มาแทนทีวีก็คือบริการสตรีมมิ่งที่ผู้ชมจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนและเลือกดูคอนเทนต์ได้ไม่อั้นตามเวลาที่ตัวเองสะดวก

มาถึงวันนี้กลับเริ่มได้ยินคนพูดว่าสตรีมมิ่งกำลังจะตายแล้ว

เว็บไซต์ Wired เขียนบทความที่พาดหัวว่า “The Day Streaming Died” หรือ “วันที่สตรีมมิ่งตาย” โดยได้อ้างถึงเหตุการณ์หลักๆ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

เหตุการณ์แรกคือ HBO Max (บริการสตรีมมิ่งของค่าย HBO ที่ยังไม่เปิดให้บริการในไทย) เปลี่ยนชื่อใหม่เหลือแค่ Max เฉยๆ พร้อมเปิดตัวแอพพ์ใหม่แต่ประสบปัญหาแอพพ์ใช้งานไม่ได้จนผู้ชมบ่นกันเสียงขรม

ในขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ Netflix ค่ายสตรีมมิ่งชื่อดังที่มีจำนวนสมาชิกเยอะที่สุดในโลกประกาศปรับนโยบายราคาใหม่ อนุญาตให้คนในครัวเรือนเดียวกันหรือคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเท่านั้นจึงจะสามารถแชร์แอ็กเคาต์เดียวกันได้ ปรับเปลี่ยนจากแบบเดิมที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนขอให้มีพาสเวิร์ดก็หารค่าสมาชิกกันได้

Wired เรียกวันที่ 23 พฤษภาคม ว่าเป็นวันที่สตรีมมิ่งตาย

และบอกว่า ถึงจะฟังดูเกินความจริงไปสักหน่อยแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเค้าความจริงเลย

 

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริการสตรีมมิ่งทุกค่ายได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากการระบาดของไวรัสที่ทำให้คนต้องกักตัวอยู่บ้านและหาอะไรทำแก้เบื่อทุกวัน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จำนวนยอดผู้สมัครก็ค่อยๆ ลดลง ประกอบกับจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ค่ายสตรีมมิ่งปรับตัวกันจ้าละหวั่น

หนึ่งในกลยุทธ์การปรับตัวก็คือการที่หลายๆ ค่ายออกแพ็กเกจใหม่เป็นแพ็กเกจราคาประหยัด ให้ดูคอนเทนต์ได้ในราคาที่ถูกกว่าแพ็กเกจอื่นๆ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือจะต้องดูโฆษณาด้วย

ทั้งๆ ที่การดูคอนเทนต์ได้โดยไม่ต้องเสียอารมณ์กับโฆษณาเป็นจุดขายที่ดึงคนออกจากโทรทัศน์ในแบบเดิมเข้ามาหาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งตั้งแต่ต้น

ถึงแม้ว่าจำนวนสมาชิกจะถึงจุดอิ่มตัว แต่ค่ายสตรีมมิ่งก็ยังต้องแข่งขันกันหาคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟมาเพิ่มในแพลตฟอร์มของตัวเอง นอกจากจะต้องแย่งลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และซีรีส์กันพัลวันแล้ว ยังต้องทำโปรดักชั่นเอง สร้างหนัง สร้างซีรีส์ต้นทุนสูงเอง

เพื่อทำให้เกิดความออริจินอลเหนือคู่แข่ง

 

ฉันยังจำได้แม่นว่า 10 ปีก่อน Netflix ประกาศเปิดตัวซีรีส์ House of Cards ซีรีส์เรื่องแรกที่ Netflix ทุ่มทุนสร้างเองด้วยโมเดลที่สดใหม่คือการปล่อยตูมทีเดียวทั้งซีซั่น ถือเป็นกลยุทธ์แปลกใหม่ที่ยิ่งตอกย้ำว่าทีวีในแบบเดิมที่คนต้องรอดูตอนใหม่ทุกสัปดาห์มันล้าสมัยไปแล้ว

หลังจากนั้นมา การลงทุนสร้างหนังและซีรีส์ที่เป็นของแพลตฟอร์มเองก็กลายเป็นโมเดลที่เราเคยชินกัน แต่ละเรื่องต่างใช้เงินลงทุนหลายล้าน

ในตอนแรกก็คุ้มทุกบาททุกสตางค์เพราะคอนเทนต์แบบออริจินอลเหล่านี้ทำให้ยอดผู้สมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น

แต่เมื่อเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัวก็กลายเป็นต้นทุนแสนหนักที่แบรนด์ต้องแบก

ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ มาชดเชยรายได้ที่หายไป ทั้งการออกแพ็กเกจรับชมคอนเทนต์แบบมีโฆษณาคั่นไปจนถึงการปลดเรื่องเดิมๆ ที่มีอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่าย

Tech Radar บอกว่าคำสัญญาสวยหรูที่สตรีมมิ่งเคยให้ไว้ตอนดึงคนออกจากทีวีว่าจะเป็นบริการให้รับชมคอนเทนต์ครบทุกรูปแบบและปลอดโฆษณานั้นได้สูญสลายหายไปแล้ว

ปีนี้เราจะเห็นค่ายสตรีมมิ่งดังๆ แย่งความสนใจ เงิน และเวลาของผู้ชมกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ทางออกเดียวที่จะทำให้ผู้ชมได้กลับมาเพลิดเพลินกับการดูคอนเทนต์สตรีมมิ่งแบบสงบสุขก็คือจะต้องเกิดการควบรวมครั้งยิ่งใหญ่ จับค่ายใหญ่ๆ มาอยู่ใต้หลังคาเดียวกันให้ได้เท่านั้น

เมื่อถามผู้นำในอุตสาหกรรมทีวีระดับโลกว่าอีก 3 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างก็ได้คำตอบที่น่าสนใจหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดตรงกันก็คือ Linear TV จะยังคงอยู่ต่อไปได้แบบไม่ต้องสงสัย

อดีตผู้บริหารของ Warner Bros บอกว่าอีก 3 ปีทีวีในแบบเดิมก็จะยังอยู่ได้นั่นแหละ แต่อายุเฉลี่ยของผู้ชมก็คงสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เคเบิลทีวีดำรงอยู่ต่อไปได้ก็คือคอนเทนต์ประเภทกีฬา เพราะแฟนๆ กีฬาพร้อมที่จะตามกีฬาที่ตัวเองโปรดปรานไปทุกที่ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ตาม เช่นเดียวกับคอนเทนต์ประเภทข่าว ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ผู้ชมนิยมดูผ่านทีวีในแบบเดิมมากกว่า

เมื่อถามคำถามว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าบริการสตรีมมิ่งไหนจะยังอยู่บ้าง เสียงส่วนใหญ่ก็เทไปที่ Netflix เป็นอันดับแรก ที่เหลือก็อย่างเช่น Amazon Prime Video, Disney และ HBO

 

ชะตากรรมของบริการสตรีมมิ่งจะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงไม่มีใครสามารถฟันธงได้ แต่ข้อมูลที่เราพอจะรู้ในตอนนี้คือจำนวนผู้ให้บริการและผู้ชมมาถึงจุดที่หยุดเติบโตแล้วและยังอาจจะลดลงด้วย

ตัวฉันเองเป็นสมาชิกทุกค่ายหลักๆ ที่ได้พูดถึงมาทั้งหมดเนื่องจากมีคอนเทนต์ที่อยากดูกระจัดกระจายอยู่ทุกที่ แต่ล่าสุดก็มาถึงจุดที่ต้องนั่งลงทบทวนพฤติกรรมว่าฉันกดเข้าไปดูแพลตฟอร์มไหนน้อยที่สุดแล้วยกเลิกสมาชิกไปก่อนจนกว่าจะถึงวันที่มีสิ่งที่อยากดูถึงค่อยหวนกลับไปอีกครั้ง

สำหรับฉันคำกล่าวที่ว่าสตรีมมิ่งตายไปแล้วอาจจะยังเร็วเกินไปนิดหน่อยเพราะฉันก็ยังไม่เห็นภาพตัวเองย้ายไปดูคอนเทนต์ที่อื่น ถ้าเปรียบเป็นร่างกายของคน มันยังไม่ตายแต่ก็อาจจะอยู่ในช่วงที่อาการไม่สบายตัวเริ่มผุดขึ้นมาตรงนั้นตรงนี้

สตรีมมิ่งอาจจะไม่หอมหวาน ไม่ลดแลกแจกแถม ไม่เล่นใหญ่ตูมตามเหมือนที่ผ่านมา

แต่ยังไงก็ยังตอบโจทย์มากกว่าการต้องดูรายการตามตารางของคนอื่นหรือต้องเช่ามาดูเป็นเรื่องๆ ไปอยู่ดี