450 บาทต่อวัน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก 02/06/2023

ก่อนจะพูดถึงผลกระทบใดๆ หากรัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรงรายวันเป็น 450 บาท ก็ต้องนึกถึงผลกระทบของค่าแรงเดิมต่อชีวิตของแรงงานก่อน ไม่ว่าจะมีการสำรวจกันกี่ครั้งกี่หนในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็พบทุกทีว่าอัตราค่าแรงที่ได้กันในขณะสำรวจนั้น “ไม่พอ” ซึ่งหมายความว่าไม่พอกินกันให้อิ่มและดี (ทุกปาก) ไม่พอหากใครเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยหนักขึ้นมา ไม่พอที่จะทำให้อนาคตของครอบครัวเขยิบสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้น ไม่พอที่จะใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ปัจจุบัน (decent)

ตราบเท่าที่เราไม่เจตนาจะส่งออกเลือดเนื้อของพี่น้องของเราเองไปทำกำไรในตลาดโลก อย่างไรเสียค่าแรงในอัตราเดิมก็เป็นไปไม่ได้ ทั้งในระยะสั้นและยาว มองเรื่องสิทธิมนุษยชนของแรงงานเรื่องเดียว ก็ไม่เหลือเรื่องจะเถียงกันแล้ว

อันที่จริงจาก 354-343 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันไปถึง 450 นั้น ขึ้นเพียงประมาณ 100 บาทเท่านั้น จะว่าขึ้นแรงขนาด “กระชาก” ไหม ผมว่าไม่ค่อยเท่าไร ถ้ารัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างฉลาด (ฉลาด คือทำให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือกล้าแข็งในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกมากขึ้นในอนาคต) และทั่วถึง ซ้ำผลได้ยังคุ้มมากอีกด้วย

450 บาทไม่ “กระชาก” ก็เพราะ นอกจากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนนายทุน (และคนทำสื่อสาธารณะ) ดีขึ้นบ้างแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะได้ผลดีกว่าวิธีอื่นอีกด้วย เพราะจะเกิดกำลังซื้อในหมู่ผู้คนจำนวนมาก (ถ้าสามารถคลุมแรงงานได้ทุกประเภทก็คือกว่า 30 ล้านคน) กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปใช้กับสินค้าและบริการที่ผลิตในเมืองไทย ดังนั้น จึงเท่ากับเพิ่มรายได้ให้แก่คนไทยที่ไม่ถูกจัดเป็นแรงงานอีกมาก ซึ่งก็คือขยายกำลังซื้อออกไปอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้ค่าแรงเพิ่มเพียงวันละ 15.75 บาท (ทีละขั้นตามลำดับดังที่นายทุนเรียกร้อง) จะไม่เกิดอะไรสักอย่าง ไม่ว่าในชีวิตความเป็นอยู่ในฐานะมนุษย์ของแรงงาน หรือในการทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุกให้เคลื่อนไหว

เสียงบ่นที่ว่า ค่าแรงที่สูงจะทำให้ไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศไทย เป็นจริงก็ต่อเมื่อระดับการผลิตของไทยยังคงที่ดังที่เป็นอยู่ตลอดไป ในปัจจุบันไทยก็มีคู่แข่งที่เราสู้ไม่ได้ในการผลิตระดับนี้อยู่แล้ว เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย และสักวันหนึ่งเมื่อเกิดความสงบในพม่า ก็รวมพม่าด้วย โดยไม่ต้องขึ้นค่าแรงสักบาทเดียว ใครๆ ก็ย่อมอยากย้ายฐานการผลิตออกไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าไทยอย่างมากอยู่แล้ว

จะกดค่าแรงเพื่อเลี้ยงอุตสาหกรรมที่กำลังจะตายไว้ทำไม?

 

ขึ้นค่าแรงเพื่อเตรียมแรงงานไทยให้ก้าวขึ้นสู่การผลิตระดับสูงขึ้น ซึ่งก็มีนายทุนอีกมากที่ต้องการหาที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ไทย หรือลงทุนโดยตรงในไทยเลย เช่น หนีแหล่งผลิตเดิมที่ค่าแรงสูงเกินไป จนถึงหนีจีนซึ่งกำลังถูกสหรัฐแซงชั่นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต รวมทั้งสินค้าที่เป็นของบริษัทอเมริกันเองด้วย

อัตราค่าแรงเพียงอย่างเดียว ทำให้นายทุนพวกหนึ่งหนี แต่ถ้ามีแรงงานคุณภาพกลับดึงนายทุนอีกประเภทหนึ่งเข้ามา มากเสียด้วย ไม่อย่างนั้นสิงคโปร์ก็เจ๊งหมดทั้งเกาะแล้ว

ปราศจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะให้แรงงานไทยและลูกหลานของเขาเขยิบความสามารถสูงขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ลองทำงานสองกะทุกวันเพื่อได้ค่าแรงพอเลี้ยงลูก จะเอาเวลาที่ไหนไปเพิ่มสมรรถนะของตนเองเล่า

เขาอาจได้เวลาว่างมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ที่จะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเรียนรู้ที่รัฐบาลใหม่สัญญาว่าจะสร้างขึ้น หรือใช้คูปองเสริมทักษะเพื่อรับการฝึกจากหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐที่ขาย-ให้บริการประเภทนี้ ตามที่พรรคแกนนำสัญญาเหมือนกัน

เรา (ทั้งนายทุนและหน่วยงานทางเศรษฐกิจของรัฐ) มักคิดว่า เสริมทักษะให้แรงงานก่อน แล้วค่าแรงย่อมเพิ่มขึ้นเอง แต่ท่ามกลางชีวิตที่ยากลำบากอย่างที่แรงงานประสบอยู่ในทุกวันนี้ ถึงจะมีโครงการเสริมทักษะแรงงานมากสักเท่าไร แรงงานก็ไม่เหลือทั้งเวลาและแรงกายที่จะไปรับการเสริมทักษะที่ไหนได้อีก

ถ้าอยากเพิ่มทักษะของแรงงานจริง อย่างไรเสียก็ต้องเริ่มจากการจ่ายค่าแรงที่ทำให้เขากลับมาเป็นมนุษย์ปรกติ ที่อยากจะเขยิบสถานะของตนและลูกหลานขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในสังคม

 

อันที่จริง การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก เป็นวิธีการที่ไม่เคยใช้ในเมืองไทย เพราะพูดถึงกระตุ้นเศรษฐกิจทีไร คนมีอำนาจในการวางแผนก็จะคิดถึงเครื่องจักรถูกเดินทั้ง 24 ช.ม. มีคนนำทุนมาลงในกิจการต่างๆ ของประเทศเพิ่มขึ้น ไฟฟ้าถูกผลิตจนเกินกำลัง ต้องนำเอาไฟฟ้าสำรองมาใช้มากขึ้น หุ้นในตลาดขึ้นยกแผง ฯลฯ แล้วเงินก็จะค่อยๆ รินลงมาสู่แรงงานเป็นค่าแรงและโอทีที่เพิ่มขึ้น ส่วนค่าแรงซึ่งเป็นรายได้จะเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์ และการวางอนาคตแก่ลูกหลานหรือไม่ หาได้ถูกนับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นไม่

(ทุกครั้งที่จะขึ้นค่าแรง คนทำสื่อสาธารณะจะถามความเห็นของนายทุนเป็นหลักเสมอ ดังนั้น สาธารณชนจึงรู้แต่ว่า ขึ้นค่าแรงทำให้นายทุนยากลำบากอย่างไร โดยไม่รู้เลยว่าชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนั้นยากลำบากอย่างไร… คุณคิดว่าหอการค้าไทย, สมาคมอุตสาหกรรมไทย, สมาคมธนาคารไทยคืออะไร? พวกเขาคือสหภาพนายทุนไงครับ ถ้าเมืองไทยเปิดเสรีภาพอย่างเต็มที่ให้แก่การรวมตัวเพื่อต่อรองของแรงงาน อย่างที่เปิดให้แก่สหภาพนายทุน ก็จะมีสหภาพแรงงานอีกหลากหลายที่นักข่าวทีวีต้องทำตัวลีบเข้าไปสัมภาษณ์เช่นกัน)

การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากเป็นทางเลือกที่น่าจะให้ผลดียั่งยืนกว่า ถ้าดูกรณีตัวอย่างในสิงคโปร์และประวัติศาสตร์แรงงานของยุโรปตะวันตก กรณีสิงคโปร์เป็นนโยบายของรัฐบาลเองที่จะทำให้รายได้ระดับล่างเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พอที่เขาจะพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาได้ทัน กรณียุโรป การเมืองประชาธิปไตยเปิดให้แรงงานสามารถต่อรองได้อย่างเสรีมากขึ้น แรงงานได้รายได้เพิ่มขึ้นจากอำนาจการต่อรองของตนเอง

ความยากจนทรัพย์เกิดขึ้นเพราะยากจนอำนาจ ดังนั้น จะแก้ได้ก็ต้องทำให้คนยากจนมีอำนาจเท่าเทียมกับคนอื่น

 

มีสถิติที่ควรรู้อย่างหนึ่งด้วยว่า นับตั้งแต่ 1960 เป็นต้นมา ส่วนแบ่งของทุนใน GDP เพิ่มขึ้น ในขณะที่ส่วนแบ่งของแรงงาน (ทุกคนที่ไม่ใช่เจ้าของทุน) กลับลดลง ในขณะเดียวกัน ผลิตภาพของแรงงานกลับเพิ่มขึ้นเมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์ของกำไร เช่น ใน ค.ศ.2000 อัตรากำไรในประเทศไทยเพิ่มจาก 5% เป็น 11% โดยเฉพาะในภาคหัตถอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังพบว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นนี้มิได้มาจากการลงทุนกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยสรุปก็คือ ในประเทศไทยมีการกระจายรายได้จากแรงงานไปให้ทุนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน (Kevin Hewison, “Class, Inequality, and Politics”, in Montesano, M. J., et.al., Bangkok May 2010.)

เพื่อคงต้นทุนการผลิตไว้ให้เท่าเดิม ธุรกิจรายใหญ่คงหันไปใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมากขึ้น เป็นโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะฉวยโอกาสเข้ามาเสริมความสามารถทางการประดิษฐ์หุ่นยนต์ในประเทศ ในกรณีที่การซื้อหุ่นยนต์จากต่างประเทศตอบโจทย์ของโรงงานได้ไม่ตรง ต้องปรับแก้ซึ่งมีต้นทุนต้องจ่ายเพิ่ม จะถูกกว่าหรือมีประสิทธิภาพคุ้มกว่าไหมที่จะจ้างสร้างหุ่นยนต์ขึ้นเองในเมืองไทย ให้ลงล็อคกับการผลิตในโรงงานได้พอดีกว่า

ในกรณีเช่นนั้น การสร้างหุ่นยนต์ตัวแรกอาจแพงสักหน่อย เพราะต้องรวมค่าวิจัยไว้ด้วย รัฐอาจช่วยเอกชนจ่ายค่าสร้างหุ่นตัวแรกครึ่งหนึ่ง สนับสนุนทั้งธุรกิจรายใหญ่ และการศึกษาวิจัยหุ่นยนต์ภายในประเทศไปพร้อมกัน

 

การเพิ่มค่าแรง 100 บาทย่อมกระทบต่อ SME แน่นอน แต่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบนี้ให้เบาลงไว้หลายมาตรการ เช่น รัฐช่วยออกค่าประกันสังคม ใน 2 ปีแรก SME อาจนำค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงมาหักภาษีได้สองเท่า ลดภาษีเงินได้ให้ SME, เพิ่มแต้มต่อให้ SME เช่นหวยใบเสร็จ ฯลฯ

ในส่วนแรงงานโดยทั่วไป รัฐบาลใหม่สัญญาว่าจะดูแลให้ได้เข้าสู่ “ระบบ” และตรวจตราบังคับใช้กฎหมายให้ฝ่ายแรงงานไม่เสียเปรียบ เช่น ทำ OT ก็ต้องได้ค่าแรงตามกฎหมาย แน่นอนส่วนนี้ย่อมเพิ่มต้นทุนค่าแรงลงไปในการผลิต แต่เศรษฐกิจไทยจะตั้งอยู่บนการโกงแรงงานหรือ? แล้วยังจะมีอนาคตอะไรเหลือให้แก่เศรษฐกิจไทยอีกเล่า

การเพิ่มค่าแรงเช่นนี้ย่อมเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าและบริการเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีการบริหารเศรษฐกิจอย่างเที่ยงธรรมแล้ว เงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว ถ้าเนื้อหมูขึ้นราคากว่านี้ ย่อมกระตุ้นให้เนื้อหมูถูกผลิตมากขึ้น จนผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาลงมาสู่ราคาที่เป็นธรรม ตราบเท่าที่อาหารสัตว์, ลูกพันธุ์หมู และยาสำหรับหมูไม่ถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือปัจจัยการผลิตหมูมีขายในตลาดเสรี ซึ่งต้องแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม

ขึ้นค่าแรงแล้วเกิดเงินเฟ้อถาวรขึ้น ต้องมีความผิดปรกติบางอย่างเกิดขึ้นในตลาด ไม่ใช่ความผิดปรกติของการขึ้นค่าแรง รัฐบาลทหารแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลทหารต้องพึ่งแรงสนับสนุนจากนายทุนผูกขาด ทั้งเพื่อทำรัฐประหาร และดำรงอยู่ในอำนาจสืบมา (อย่างไม่มีและมีรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” หรืออัปรีย์ในภาษาสันสกฤต)

การขึ้นค่าแรงอย่างพอเห็นหน้าเห็นหลังของรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งอยู่ คือการหันมาสู่นโยบายที่จะทำให้รายได้ของคนส่วนใหญ่สูงขึ้น อันจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างรวดเร็ว (ถ้ารัฐบาลมีนโยบายอื่นสนับสนุนให้แรงงานเข้าถึง “การศึกษา” โดยสะดวก)

การยกระดับฝีมือแรงงาน จะทำให้นายทุนได้กำไรสูงขึ้น เพราะสามารถยกระดับการผลิตของตนไปสู่สินค้าและบริการที่อิงอยู่กับฐานความรู้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเกิดการ “พัฒนา” ในลักษณะนี้ได้ ต้องทำให้การผูกขาด ทั้งในทางปฏิบัติและทฤษฎี หมดสิ้นลงเสียที นายทุนที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าในตลาดภายในหรือระหว่างประเทศ สมควรเจ๊งๆ ไปให้หมด เพื่อเปิดให้นายทุนที่มีความสามารถเข้ามาแทนที่

 

นายทุนในตลาดเสรีจริงๆ ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร เพราะเขาพร้อมจะแข่งขันกับคู่แข่งในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกันนายทุนในตลาดเสรีไม่จ่ายเงินให้พรรคการเมืองไปใช้ซื้อเสียง ด้วยเหตุดังนั้น นายทุนในตลาดเสรีจริง จึงพร้อมจะใช้เงินเพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของตนเองในสังคม อย่างน้อยทัศนคติของประชาชนที่มีต่อองค์กรของเขามีความสำคัญกว่าทัศนคติที่ดีของผู้มีอำนาจ

นายทุนไทยรัฐใช้กำไรของตนในการสร้างโรงเรียนเป็นอันมาก จริงอยู่ไทยรัฐอ้างเองว่าโรงเรียนจะเตรียมตลาดของตนในอนาคต แต่ “ตลาด” ดังกล่าว ไทยรัฐไม่อาจผูกขาดได้ โรงเรียน (ที่ดี) นอกจากผลิตนักอ่านหนังสือพิมพ์แล้ว ก็ยังผลิตบุคลากรประเภทอื่นที่มีประโยชน์ต่อสังคมด้วย รวมทั้งนักประชาธิปไตยที่ดี

เรื่องของค่าแรงไม่ใช่เรื่องระหว่างแรงงานและนายทุนเท่านั้น ที่จริงแล้วเป็นรากฐานที่สำคัญของการบริหารเศรษฐกิจชาติทีเดียว นัยยะของค่าแรงที่ถูกทำให้แคบลงเช่นนี้ ถูกสื่อนำไปใช้เป็นแก่นเรื่องของการทำข่าวของตน ในที่สุดก็กลายเป็นมุมมองเพียงด้านเดียวของผู้คนในสังคมไทย จนลืมไปว่า “แรงงาน” ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศก็เป็นมนุษย์เหมือนเราท่าน และกลายเป็นเขาแต่เพียงกลุ่มเดียว ที่ต้องเสียสละให้แก่เศรษฐกิจผูกขาดของนายทุนไทย