ย้อนอดีตมอง “อีสาน” เมื่อปี พ.ศ.2490

ปริญญา ตรีน้อยใส
จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ตัดริบบิ้นเปิดทางหลวงสายโคราช-หนองคาย

พาไปย้อนอดีต มองแผนการพัฒนาทางหลวงทั่วประเทศครั้งแรก ราวปี พ.ศ.2490 ที่เริ่มจาก สี่สายหลัก คือ สุขุมวิทย์ พหลโยธิน สุดบรรทัด (มิตรภาพ) และ เพชร์เกษม

ฉบับนี้จะพาไปมองทางหลวงอีกหลายสาย ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานบ้านเฮา ที่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเดียวกัน

เริ่มจาก ทางหลวงแผ่นดินสาย นครราชสีมา ผ่านขอนแก่น และอุดรธานี ไปถึงหนองคาย ที่ประกาศนามว่า ถนนเจนจบทิศ เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนเจนจทิศ (ชื้น ยงใจยุทธ) อดีตนายช่างหัวหน้าแผนกสำรวจ กรมทาง

ปัจจุบัน ถนนสายนี้ ส่วนหนึ่งไปรวมอยู่ในทางหลวงหมายเลข 2 ที่เรียกขานกันภายหลังว่า ถนนมิตรภาพ อีกส่วนหนึ่งไปรวมอยู่ กับทางหลวง 207 (สายบ้านวัด-ประทาย) ช่วงแยกจากถนนมิตรภาพ ไปบรรจบกับทางหลวง 2440 อำเภอพล ขอนแก่น

เลยเหลือถนนเจนจบทิศ สายสั้นๆ ในเขตเมืองนครราชสีมา

ยังมีทางหลวงแผ่นดิน จากนครราชสีมา อีกสายที่ยาวไกลไปถึงกบินทร์บุรี มีนามว่า ถนนสืบศิริ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายจำรัส สืบศิริ อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางนครราชสีมานั้น

ทุกวันนี้ เหลือแค่ ถนนสืบศิริ ในเขตเทศบาลนครราชสีมา ส่วนที่เหลือผนวกรวมกับทางหลวง 304

จากขอนแก่น มีทางหลวงไปเลย จนถึงเชียงคาน นามว่า ถนนมลิวรรณ ตามนามของนายกมล มลิวรรณ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางอุดรธานี ปัจจุบันแนวดังกล่าว กลายเป็นทางหลวง 12 และ 201 ขณะเดียวกัน ก็มีข้อโต้แย้งเรื่องการสะกดนามถนน ถนนมลิวัลย์ ที่อยู่ในเทศบาลนครขอนแก่น

ทางหลวงแผ่นดินสายไชยบาดาล เพชรบูรณ์ หล่มศักดิ์ ที่เคยขนามนามว่า ถนนคชเสนี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทางนั้น

ปัจจุบันแนวถนนดังกล่าว ผนวกรวมอยู่ในทางหลวง 21 สระบุรี ภูเรือ เหลือแค่ถนนสายสั้นๆ ในเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก

ภาพจาก – หนังสือ ย้อนรอย 100 ปี โคราชวาณิช

ทางหลวงแผ่นดินอีกสาย ที่เริ่มจากขอนแก่นเหมือนกัน คือจากอำเภอชนบท ผ่านมหาสารคามและร้อยเอ็ดไปจนถึงอุบลราชธานี คือ ถนนแจ้งสนิท เพื่อเป็นเกียรติแก่นายวินิต แจ้งสนิท อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางบ้านไผ่

ปัจจุบันกลายเป็นทางหลวง 23 บ้านไผ่ อุบลราชธานี แต่ทุกวันนี้มีถนนแจ้งสนิทไปปรากฏอยู่ที่เพชรบุรี

สำหรับทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี ธาตุนาเวง นครพนม เคยขนามนามว่า ถนนนิตตะโย เพื่อเป็นเกียรติแก่นายโสภณ นิตตะโย อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางชุมแพ ปัจจุบันก็กลายเป็นทางหลวง 22 อุดรธานี นครพนม

รวมทั้งทางหลวงแผ่นดินสายอุดรฯ วังสะพุง ที่เคยขนามนามว่า ถนนบุณยาหาร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายสง่า บุณยาหาร อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางอุดรฯ ปัจจุบันส่วนใหญ่ซ้อนทับกับแนวทางหลวง 210 อุดรธานี หนองบัวลำพู เลย เหลือเพียงถนนบุญยาหาร ในอุดรธานี

จะเห็นได้ว่า การปรับปรุงยกระดับชุดทางหลวงเดิม ในเวลาต่อมา ทำให้นามถนนที่เคยเรียกขานหายไป กลายเป็นถนนในเมืองต่างๆ

การพาไปมองคราวนี้ คงจะช่วยให้คนในพื้นที่รู้ที่มาของชื่อถนนที่ใช้สัญจรมากขึ้นบ้าง •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส