ฮุนเซน-สมาคมผู้รู้แจ้งแห่งรัฐ ‘ปรอเจียมานิต’

อภิญญา ตะวันออก

ราวกับไม่รู้จักมาก่อนประเทศนี้ ที่ทำให้ประหลาดใจไปอีกต่อประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวงการ “สื่อสารมวลชน” ของกัมพูชา

พลัน ฉันก็รำลึกย้อนไปในบรรดาอดีตนักหนังสือพิมพ์ยุค 90 ซึ่งรวมเพื่อน 3-4 คนในจำนวนนั้น พวกเขาคือผลผลิตของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากคนหนุ่มที่เคยไปศึกษา ณ เมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เพื่อเล่าเรียนเยี่ยงนักจารกรรมและนักสื่อสารตามค่านิยมของระบอบพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเวลานั้น

แม้เมื่อประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สหายเหล่านี้บางคนเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการระดับสูงในสื่อบางฉบับ บ้างที่กลายเป็นศัตรูต่อรัฐต้องอพยพหนีตาย บ้างถูกสังหาร

ทว่า ในจำนวนความตายที่ไม่มีใครสนใจเหล่านี้ มีเพียง เอกอุดมเขียว กัญญฤทธิ์ คนเดียวเท่านั้นที่ยังเหลือรอดชีวิตและมีตำแหน่งเป็น “รัฐมนตรี” ใน “กระทรวงข่าวสารและสารสนเทศน์” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 มาจนถึงปัจจุบัน

และนี่คือ 30 ปีของผลผลิตในระบอบ “ปรอเจียมานิต”

 

ต่างจาก แปน โบนา ผู้มีตำแหน่ง “นายกสมาคมนักข่าวกัมพูชา” นับแต่แปน สมิทธิ นายกฯ คนก่อนถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน แม้จะมีนามสกุลที่พ้องกัน ซ้ำยังมีอาชีพเดียวกันด้วย แต่แปน โบนา นั้นเกิดมาในยุคที่กัมพูชาเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย และเขาทำงานให้หนังสือพิมพ์ “แคมโบซัวส์” สื่อตะวันตกของฝรั่งเศส

ต่างจากแปน สมิทธิ (และเพื่อน) ซึ่งได้ชื่อว่าเติบโตมากับสำนักอาร์เปเค (RPK) หรือสำนักข่าวไซ่ง่อน มันเป็นเรื่องแบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถ่ายเปลี่ยนในรูปหนังสือพิมพ์หัวสีที่ทรงอิทธิพลที่สุดของกัมพูชาในยุค 90 ในฐานะบรรณาธิการ “รัศมีกัมปูเจีย” น.ส.พ.รายวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกัมพูชาเวลานั้นซึ่งหลายฝ่ายเข้าใจว่ามีเสี่ยงเท้ง บุญมา เป็นเจ้าของ

แต่หาไม่ วันเวลาที่ผ่านไปทำให้เรารู้ว่า เท้ง บุญมา เป็นแค่นอมินีแทนเจ้าของตัวจริงที่ชื่อสมเด็จฮุน เซน

แล้ววันหนึ่ง เมื่อเวลาล่วงผ่านไปฉันก็ถึง “บางอ้อ” ว่าทำไมแปน สมิทธิ และเพื่อนร่วมอาชีพของเขาต้องเป็นฝ่าย “หายไป” ไม่ว่าโดยทางใด

แต่มันแปลกกว่านั้น เมื่อในยุคหลัง 90 ทำไมคนหนุ่มอย่างแปน โบนา ที่ผ่านการฝึกฝนสายอาชีพจาก “แคมโบซัวส์” หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส และต่อมา “วิทยุฝรั่งเศสนานาชาติ” (RFI) ซึ่งเป็นสื่อตะวันตก โบนาไม่เคยผ่านการฝึกปรือแบบสำนักปรอเจียมานิตแบบเดียวกับแปน สมิทธิ ที่ไซ่ง่อน?

แต่แล้ว ดูเหมือนว่าเขาได้ตกที่นั่งแบบเดียวกัน?

แปน โบนา & เขียว กัญญฤทธิ์

ราว 2015 ปีเริ่มต้นที่แปน โบนา ย้ายจากอาร์เอฟไอไปเป็นผู้อำนวยการข่าวให้ “pnn” สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ในระบบดิจิทัลแห่งแรกของกัมพูชา ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในกลุ่มทุนของออกญาลี ยงพัต ผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จฮุน เซน

แต่เพียงการเลือกตั้งกลางปี/2018 ผ่านไป ทุกอย่างวงการสื่อกัมพูชาก็เผยให้เห็นบางอย่างอันบิดเบี้ยว เมื่อแปน โบนา เริ่มหายหน้าตาไปช่วงเวลาข่าวที่เคยได้ชื่อว่าสร้างมิติและสีสันที่สุดของปีนั้น

เกิดอะไรขึ้นกับแปน โบนา ทำไมเขาจึงถูกทำให้เหมือนกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกลงโทษต่างกับในอดีตที่เขาเคยมีอิทธิพลต่อคนวงการสื่อสารมวลชนในตำแหน่งนายกสมาคมผู้สื่อข่าวประเทศนี้ และเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องในวงการสื่อของกัมพูชาได้ยกระดับ

แต่วันนี้ แปน โบนา มีชีวิตโลว์โปรไฟล์ เขาเฟดหายไปจากวงการนี้เกือบจะในที่สุด เว้นแต่เมื่อ 2 ปีก่อนตอนที่เขาออกอีเวนต์โปรโมตหนังสืออัตชีวประวัติของเอกอุดมฮุน มานี และนั่นคือพื้นที่สุดท้ายของนักข่าวคนนี้ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในอดีต

แต่วันนี้ แปน โบนา กลับอับแสงและหายไปจากวงการสื่อสารมวลชนกัมพูชา และเท่ากับว่า 10 ปีมานี้ มีกระบวนการทำลายทรัพยากรคนในวงการสื่อมีระดับขั้นตอน จนวันหนึ่งเมื่อหันไปมองอีกครั้ง ที่เห็นและเป็นอยู่ในวงการนักสื่อสารมวลชนกัมพูชา ได้ถึงแก่กาลอวสาน และความถ่องแท้แห่งการกลับมาของระบบข่าวสารแบบ “ปรอเจียมานิต” ที่สิงสถิตประเทศนี้อย่างเข้มแข็งสอดคล้องกับกับระบอบฮุนเซนอันยาวนานต่อไป

ยังจำได้ถึงบทสัมภาษณ์แปน โบนา หลายปีก่อน ตอนที่เขาทิ้งวิทยุฝรั่งเศส เพื่อมาทำข่าวทีวี เขากล่าวว่า ได้ปรึกษาหลายฝ่าย และเพื่อผลักดันอุดมการณ์ใหม่ในสื่อโทรทัศน์

ขนาดเกิดมาเป็นชาวกัมปูเจีย แต่เชื่อไหม โบนากลับเสียเหลี่ยมที่หารู้ไม่ว่า สถานีโทรทัศน์พีเอ็นเอ็นนั้น นอกจากรัฐบาลปักกิ่งจะช่วยลงทุนแล้ว ความเป็นจริตแบบพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชายังแผ่สยายรังสีไปทั่ว จนในที่สุด เวลา ตัวตนและจิตวิญญาณแบบแปน โบนา ก็หายหน้าไปจากหน้าจอทีวี

โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แปน โบนา ได้ขายจิตวิญญาณอย่างจำยอมให้แก่ระบอบ “ปรอเจียมานิต” ไปแล้วอย่างไม่รู้ตัว

ไม่ต่างจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกลงโทษจากผู้นำสูงสุด แต่ใครเลยจะคาดว่าคนนั้นจะเป็นแปน โบนา โดยแม้แต่เขาเองไม่รู้ตัวมาก่อน เหมือนที่ครั้งหนึ่ง แปน สมิทธิ เคยมีตัวตนและถูกทำให้หายไปจากโลกใบนี้!

เรื่องมันก็เป็นอย่างนั้น

ในประเทศซึ่งมีวิธีกำจัดผู้คนในรูปแบบต่างๆ และต่อให้คุณทำงานหนักสักปานใด ก็อย่าหวังไปว่า “เนียะโยกปอตะเมียน” ของประเทศนี้จะมีเสรีภาพ

อยู่ใน “คลาส” ใดๆ เดียวกันกับผู้นำทุกฝ่ายในระบอบ “ปรอเจียมานิต” และด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่แปน โบนา และเพื่อนฌ็อง ฟรองซัวส์ ตัน จะถูกแขวนในโลกของสื่อกัมพูชา ขณะที่เขียว กัญญฤทธิ์ ในวัย 72 กลับควบคุมสำนักข่าวสารให้แก่เพื่อนรักสมเด็จฮุน เซน ไปตลอดชีวิต?

นี่ไม่ใช่ “ทฤษฎีสมคบคิด” หรือ “สมาคมผู้รู้แจ้ง” (อิลลูมินาติ) แม้ว่ามันจะเป็น “อีกด้าน” ของความเรืองปัญญา (ในกัมพูชา) นั้น

สำหรับคณะปรอเจียมานิตหรือพรรคคอมมิวนิสต์

ที่มีเหยื่อแห่งการถูกทดลอง ไม่ว่าจะเป็น แปน สมิทธิ, แปน โบนา หรือแปนใดๆ ในกัมพูชา ซึ่งล้วนแต่ถูกหล่อหลอมให้จมหาย, กลายเป็นอื่นหรือแม้แต่ไร้ตัวตน

ฟังดูเหมือนเรื่องประหลาด อันเกิดขึ้นได้ยากในประเทศที่มีอารยสากล แต่สำหรับกัมพูชา ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาราวกับเวลาของพวกเขายังผูกไว้กับระบอบปรอเจียมานิตอันยากที่จะอธิบาย

นี่ไม่ใช่เรื่องของเวลา หรือปัญหาส่วนบุคคล แต่ยังเป็นเรื่องของกลไกใน “กาลเวลา” ที่เคลื่อนผ่านอย่างล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์นั้น เราจึงได้เห็นถึงในต้นทุนที่ไม่พัฒนาไปตามเวลา ไม่ว่าอุปกรณ์ที่ล้าหลังด้านข่าวสาร ในสื่อโทรทัศน์และช่างภาพอิสระและศักยภาพในทรัพยากรบุคคลและความถดถอยในวงการสื่อสารมวลชน

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม 3 ทศวรรษแห่งนโยบาย “ปรอเจียมานิต” ที่ผ่านมาได้ทำลายวงการสื่อกัมพูชาให้มีลักษณะแบบ “จัดตั้ง” จนไม่สามารถตอบสนองต่อพลเมืองของประเทศ นอกเสียจาก “ครอบครัวผู้นำ” ไม่กี่ตระกูล

และด้วยวิถีแบบนั้น ไม่กี่ก้าวอันใกล้ ดูเหมือนจะถอยกลับไปใกล้เคียงกับพล พต

ห้อมล้อมด้วยคนของพรรค cpp

การประกาศให้ “พรรคแสงเทียน” ไม่มีคุณสมบัติที่จะเลือกตั้งทั่วไปในกลางปีที่จะมาถึงโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คจบ) กัมพูชานั้นได้สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้คนทั่วไปทั้งในและต่างแดน

แต่ไม่ใช่สมเด็จฮุน เซน ที่ทยอยปล่อยตัวนักโทษกลุ่มใหญ่ หลังจากพระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษตามข้อเสนอฝ่ายบริหาร และเหล่านักโทษมวลหมู่ทั้งหมดที่พากันออกมาขอบคุณต่อสมเด็จฮุน เซน แบบทมๆ

เว้นแต่หัวหอกนายสัม รังสี ที่ยังติดตามเดินหน้าเอาผิดต่อระบอบฮุนเซนในประเด็น “5 ก.” นโยบายในรัฐบาลปรอเจียมานิต/1984-1991 ที่มีการสังหาร กำจัดศัตรูผู้เห็นต่างไปเป็นจำนวนมาก สำหรับหลักฐานที่ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในแบบเดียวกับคดีของพล พต ในระบอบเขมรแดง

แต่ผู้รู้แจ้งแห่งสมาคมมานิตที่ว่านี้ มีชื่อว่า ฮุน เซน!

เครดิต youtube

ออกงานหนังสือกับฮุน มานี