ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
“ที่เห็นได้ชัดก็คือว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมีบทบาทอำนาจในการบริหาร ประเทศเนี่ยเปลี่ยนแปลงไปทันที การประชุมเสนาบดีเริ่มต้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ห้า ถ้าถามว่า ใครนั่งเป็นประธานเสนาบดี ก็คือรัชกาลที่ห้านะครับ เพราะฉะนั้น รัชกาลที่ห้าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก
“ทีนี้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเนี่ย นายกรัฐมนตรีแยกไปอีกคนหนึ่งคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็มานั่งเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นประมุขของรัฐ
“ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งในทางการเมืองการปกครอง ถามว่าอะไรคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475? คือการทำให้พระมหากษัตริย์ทรงหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พูดถูกนะครับว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้เรารักในหลวงมากขึ้น เหตุผลที่เรารักในหลวงมากขึ้นเพราะว่าพระองค์ท่านไม่ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี”
คำให้สัมภาษณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ สมัยเป็นรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสารคดีวีดิทัศน์ “ปรีดี พนมยงค์” ของโครงการฉลอง 100 ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543
(นาทีที่ 19:36-20:33 https://www.youtube.com/watch?v=bTe9bUY8jic)
ข้อความข้างต้นชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์ประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่แยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเชิงโครงสร้าง โดยถ่ายโอนเอาอำนาจนั้นไปสถิตไว้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เพื่อให้ในหลวง “…ทรงราชย์เป็นพระราชาที่รักของราษฎร ต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ เลิกทรงว่าราชการแผ่นดินนั้นเอง” (นครินทร์อ้างจาก ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ, อนาคตแห่งสยาม, 2475) สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์หลัง 2475
ทว่า หลังแยกตำแหน่ง/อำนาจฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีออกจากสถาบันกษัตริย์แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่หลัง 2475 ยังคงความสำคัญทางการเมืองการปกครองหรือไม่อย่างไร?
น่าสนใจว่านักวิชาการสองคนซึ่งแสดงทรรศนะต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยแตกต่างกัน ทว่า ทั้งคู่กลับเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสำคัญยิ่งต่อฐานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ได้แก่ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ในบทความเรื่อง “ร.7 สละราชย์ : ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา” (ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลาและ 6 ตุลา, 2544, น.9-19) สมศักดิ์ได้เรียบเรียงบรรยายและวิเคราะห์วิจารณ์กระบวนการขัดแย้งทางการเมืองอันร้อนแรงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงมีนาคม 2477 เริ่มตั้งแต่ :
[หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ –> พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงวินิจฉัยคัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจ –> ผลกระทบยาวไกลทางการเมืองและอุดมการณ์ของกรณีนี้ –> รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาของนายกฯ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา –> รัฐบาลพระยามโนฯ ออก พ.ร.บ.แอนตี้คอมมิวนิสต์ฉบับแรก –> หลวงประดิษฐ์ฯ ถูกกดดันทางการเมืองให้เดินทางไปนอก –> รัฐประหารโค่นรัฐบาลพระยามโนฯ โดยการนำของพระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงพิบูลสงคราม –> หลวงประดิษฐ์ฯ เดินทางกลับสยาม –> เกิดกบฏบวรเดชและถูกรัฐบาลปราบลง –> พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงประพาสต่างประเทศเพื่อรักษาพระเนตร –> พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงต่อรองกับรัฐบาลนายกฯ พระยาพหลฯ ให้แก้ไขนโยบายการเมืองการปกครองและรัฐธรรมนูญประการต่างๆ แต่ไม่สำเร็จจึงทรงสละราชสมบัติ]
ก่อนนำไปสู่ข้อสังเกตของเขาว่าเอาเข้าจริงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับธันวาคม 2475 มาด้วยพระองค์เอง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ฟื้นฟูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อย่างมาก ประเด็นที่เป็นปมเงื่อนความแตกต่างขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลนายกฯ พระยาพหลฯ จึงไม่น่าใช่ตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นเอง แต่เป็นตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่างหาก กล่าวคือ :
“…ขอเพียงให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทรงว่ากล่าวได้ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่เป็นจริงได้ แน่นอนว่าในขณะที่คนอย่างพระยามโนฯ เป็นนายกฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ย่อมไม่ทรงต้องกังวล ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ หากแต่คือการตกจากอำนาจไปของพระยามโนฯ ต่างหากที่เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างกะทันหัน” (น.16)
โดยสมศักดิ์ได้ยกตัวอย่างประกอบเรื่องประเด็นในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลนายกฯ พระยาพหลฯ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกสมาชิกประเภทแต่งตั้งของรัฐสภา (ที่เรียกว่า “สมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2”) ซึ่งมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด จากเดิมที่ให้แต่งตั้งโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
(พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 หัวข้อสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php) และวิเคราะห์ว่า “หากพระยามโนฯ ยังอยู่ในอำนาจ ปัญหารัฐธรรมนูญแบบนี้ก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเลย” (น.17)
ขณะที่วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตนิติศาสตร์ของธงทอง จันทรางศุ เรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ (สอบผ่าน 2529, พิมพ์เผยแพร่ 2548) ได้อ้างอิงประมวลเรียบเรียง พิจารณาความสัมพันธ์ของนายกรัฐมนตรีสำคัญบางคนกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง 2475 ไว้ว่า :-
นายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ดำรงตำแหน่งจากตุลาคม 2501-ธันวาคม 2506) :
“นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่เคยมีนายกรัฐมตรีคนใดมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับฝ่ายพระมหากษัตริย์เท่ากับท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”
(อ้างจากบันทึกของพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา อดีตองคมนตรี เมื่อ พ.ศ.2507, ธงทอง น.127)
นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (ดำรงตำแหน่งจากตุลาคม 2516-มกราคม 2518) :
“อาจารย์สัญญา ขณะนั้นเป็นประธานองคมนตรี (ที่ถูกต้องเป็นองคมนตรี-ผู้เขียน) ต้องลาออกจากตำแหน่งนั้นชั่วคราว ท่านรู้สึกตื่นเต้นตระหนกใจมาก เมื่อในหลวงแต่งตั้ง ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับตำแหน่งเฉพาะพระพักตร์ ทั้งๆ ที่ยังงงต่อหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงนั้น และได้กราบบังคมทูลขอเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แล้วจะขอพระราชทานอนุญาตกลับไปรับตำแหน่งทางองคมนตรีเช่นเดิม อาจารย์สัญญาเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำเตือนว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุขุมรอบคอบ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘อย่าให้ตกหลุมพราง’ เป็นอันขาด…”
(อ้างจากบุญชนะ อัตถากร, บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน กับข้าพเจ้า, ธงทอง, น.82)
นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่งจากตุลาคม 2523-เมษายน 2531) :
“ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ (2529) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรู้จักสนิทสนมคุ้นเคยตั้งแต่ยังรับราชการประจำอยู่ในต่างจังหวัด พล.อ.เปรมก็มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบันจะปฏิบัติตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ขอพระราชทานกระแสแนะนำในข้อราชการแผ่นดินอยู่เนืองๆ” (ธงทอง น.127)
นําไปสู่ข้อสรุปของธงทองว่าการใช้พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจะได้ผลเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการได้แก่ 1) ความจงรักภักดีของราษฎร 2) พระบารมีของพระมหากษัตริย์ และ 3) ลักษณะของรัฐบาล…
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของตัวนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลโดยตรง ถ้านายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เปี่ยมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ในขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์พระชนมายุน้อย เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ยังไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ทั่วไป โอกาสและความศรัทธาที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะพึงจะพระราชทานคำแนะนำอันมีประโยชน์แก่รัฐบาล ก็คงเป็นไปได้ยาก
“แต่เมื่อใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณธรรมและพระคุณวุฒิโดยประการต่างๆ ทุกด้าน นายกรัฐมนตรีซึ่งผลัดเวียนกันเข้ามารับตำแหน่งก็คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงในความด้อยประสบการณ์ในราชการแผ่นดินของตน และน้อมเกล้าฯ ขอรับพระราชทานคำแนะนำอันมีค่าจากสถาบันพระมหากษัตริย์” (ธงทอง น.125-127)
ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นแม่กุญแจไขการใช้พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022