แลหลัง เดินหน้า! การเมืองยุคหลังประยุทธ์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การเลือกตั้งเป็นของประชาชน และเป็นการตัดสินใจของประชาชน”

ประธานาธิบดีลินคอล์น

 

วันนี้คงต้องยอมรับว่ากระแส “ลมประชาธิปไตย” ในสังคมไทยพัดแรงอย่างมาก อันเห็นได้จากความตื่นตัวของคนในสังคม โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบในตัวเองถึงการมาของ “การเมืองชุดใหม่” เพราะ “พรรคก้าวไกล” ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ได้รับชัยชนะอย่างคาดไม่ถึง

ในอีกส่วนคือ ผลคะแนนรวมของพรรคฝ่ายค้านที่ชนะพรรคในซีกพรรคฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก จนเป็นดังสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในการเมืองหลังการเลือกตั้ง และเท่ากับเป็นสัญญาณในทางกลับกันว่า “การเมืองชุดเก่า” กำลังอยู่ในภาวะถดถอย

หรืออาจเรียกในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า การเมืองไทยก้าวสู่ “ยุคหลังระบอบประยุทธ์” (The Post Prayuth Regime)

 

ในขณะที่เราเห็นสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะหวนกลับไปพิจารณาถึงอดีตของระบอบประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้า ดังนั้น หากเราทดลองประเมินภาพรวมของการเมืองไทยในเชิงมหภาคแล้ว เราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1) การปะทะของกระแสความคิด 3 ชุดหลักในช่วงที่ผ่านมา คือ “ประชาธิปไตย vs เผด็จการ (ระบอบกึ่งประชาธิปไตย)” – “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม” – “เสรีนิยม vs เสนานิยม” การปะทะทำให้เกิด “สงครามความคิด” ในการเมืองไทยอย่างชัดเจนในปัจจุบัน

2) นอกเหนือจากการต่อสู้ทางความคิดแล้ว เรายังเห็นการปะทะของ “ลัทธิเชิดชูตัวบุคคล” ที่ถูกแทนด้วย 2 วาทกรรมหลัก คือ “เอาประยุทธ์ vs ไม่เอาประยุทธ์” และ “เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ” แม้ด้านหนึ่งจะมีองค์ประกอบของการต่อสู้ทางความคิด แต่ก็ทับซ้อนด้วยด้วยกระแสเชิดชูตัวบุคคล ซึ่งอาจเป็นเพราะตัวบุคคลมีความเป็นรูปธรรมในการเรียกร้องเสียงสนับสนุนทางการเมือง

3) การปะทะ 2 ชุดนี้เป็นภาพสะท้อน “สงครามความคิด-สงครามการเมือง” ของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และยังจะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคตด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การต่อสู้เช่นนี้เป็น “สงครามการเมือง” ที่แท้จริง และยังสะท้อนถึงการขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดทางการเมืองของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน

หรืออีกนัยหนึ่ง การต่อสู้เช่นนี้เมื่อมีความเข้มข้นมากขึ้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดการแบ่งค่ายทางการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4) ผลจากการต่อสู้ทางการเมืองที่อาจจะเริ่มจากการก่อ “กระแสไล่ทักษิณ” ในปี 2548 และตามมาด้วยรัฐประหาร 2549 อีกทั้งยังก่อกระแสขวาจัดอีกรอบด้วยการสร้าง “กระแสไล่ยิ่งลักษณ์” ซึ่งตามมาอีกครั้งเช่นกันด้วยรัฐประหาร 2557 จนเกิดสภาวะว่า การเมืองไทยมีรัฐประหารถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

ผลจากสภาวะเช่นนี้ในด้านกลับได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเมืองในระบอบรัฐประหาร 2557 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงขีดความสามารถของผู้นำทหาร ความไม่พอใจกับการเมืองในระบอบเช่นนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในการเลือกตั้ง

หรืออาจต้องเรียกว่า คนไทย “อิน” กับการเมือง ซึ่งส่งผลตามมาที่ประชาชนออกมาลงเสียงในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้อย่างมาก

 

5) ความเบื่อหน่ายของประชาชนและผู้นำทหารเดิมที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันสังคมไม่เห็นถึงความสำเร็จในเชิงนโยบายจากระบอบที่มีผู้นำทหารเป็นผู้ปกครองเท่าใดนัก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เงื่อนไขของระบอบที่มีทหารเป็นผู้นำ ทำให้คนในสังคมต้องการเห็น “ความใหม่”

เพราะเวลาปัจจุบันคือ “9 ปีหลังระบอบรัฐประหาร และ 4 ปีหลังระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” เป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจากการเมืองในแบบเดิม โดยเฉพาะการมองว่า การเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำรัฐประหารนั้น เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และไม่เป็นความหวังของการสร้างสังคมในอนาคต

6) ผลพวงจากวิกฤตต่างๆ ที่ตามมากับวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตสงครามยูเครน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพ เป็นต้น และรัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแก้ปัญหาวิกฤตเหล่านี้เท่าใดนัก

อีกทั้งอาจจะต้องยอมรับว่า ปัญหาจากวิกฤตเหล่านี้จะยังดำรงอยู่เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566

 

7) การเมืองหลังรัฐประหารที่ไม่สร้างอนาคตของประเทศ ไม่สร้างภาพเชิงบวกให้กับประเทศ หลายฝ่ายเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมาเป็น “the lost decade” หรือเป็น “ทศวรรษที่หายไป” เพราะประเทศดำรงอยู่แบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ที่จะช่วยในการก้าวเดินสู่อนาคตได้อย่างชัดเจน

อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถสร้าง “ภาพบวก” ของประเทศได้เลย ผลเช่นนี้ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะของพรรคก้าวไกล

8) ประเทศหลังรัฐประหารหายไปจากเวทีสากล และไม่มีบทบาทในภูมิภาค เช่น กรณีเมียนมา หรือที่อาจกล่าวได้ว่าบทบาทไทยกลายเป็น “เครื่องบินล่องหน” ที่หายไปจากจอเรดาร์ของการเมืองโลก เว้นแต่ผู้นำทหารหลังรัฐประหารเชื่อว่า การพาประเทศออกจากจอเรดาร์นั้น จะช่วยให้ไทยไม่เป็นที่สนใจในทางการเมือง อันเป็นผลจากเงื่อนไขรัฐประหารในตัวเอง การพาประเทศกลับสู่การมีบทบาทในเวทีสากลจะเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลใหม่ต้องคิด

9) รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยนโยบายแบบประชานิยม และใช้ในการสร้างฐานเสียงเพื่อการเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมาเป็น “ยุคทองของนโยบายประชานิยม” อีกแบบ ซึ่งแตกต่างจากประชานิยมแบบเดิมในยุคก่อนรัฐประหาร 2557 แต่ ข้อเสนอแบบประชานิยมไม่แก้ปัญหาได้จริง

10) กลุ่มการเมืองปีกขวา เน้นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมที่ผสมผสานกับจารีตนิยม (ชูประเด็นคล้ายกับปี 2519) จนอาจกล่าวได้ว่าอนุรักษนิยมไทยทวีความเป็นจารีตนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และสะท้อนถึง “สงครามความคิด” ที่เข้มข้นในสังคม โดยเฉพาะความกลัวต่อการขยายตัวของกระแสคนรุ่นใหม่

11) ในการช่วงชิงเสียงของปีกขวาจัด ผ่านการโฆษณาทางการเมือง ที่วางอยู่บนชุดความคิดแบบขวาจัด และการสร้าง IO แบบไทย โดยเฉพาะการเสนอขายชุดความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ที่ยังเป็นประเด็นที่คนอีกส่วนในสังคมให้คุณค่า

 

12) นโยบายหาเสียงทุกพรรคเน้นประชานิยม จนขาดมิติอื่นๆ เช่น การศึกษา การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น เพราะประเทศใน 4 ปีที่ผ่านมาและในอนาคตยังมีปัญหาอื่นๆ อีกหลายชุด ที่ต้องการนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาหลังการตั้งรัฐบาลใหม่

13) ประชาชนมีความเห็นแตกแยกในทางการเมืองสูงมาก ซึ่งอาจต้องยอมรับว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต การเมืองหลังเลือกตั้งจะยังมีปัญหาความแตกแยกทางการเมืองเป็นโจทย์สำคัญ และท้าทายให้รัฐบาลใหม่ควรต้องให้ความสนใจ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อ “เอกภาพแห่งชาติ” ของสังคมไทยอย่างมาก และความแตกแยกเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนถึงความอ่อนแอของไทยในระดับสังคมอย่างน่ากังวล จนแทบจะกลายเป็นหนึ่งในปัญหาพื้นฐานของการเมืองไทย

14) บทบาทของทหารยังถูกจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจ การนำเสนอเพลงขวาจัด เช่น หนักแผ่นดิน บทบาทเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามที่สะท้อนถึงความกังวลของสังคมต่อปัญหาการรัฐประหาร

15) กองทัพอาจยังคงมีขีดความสามารถในการรัฐประหาร แต่การตัดสินใจทำรัฐประหารอีกครั้งจะเป็นวิกฤตทางการเมืองอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไม่ตอบรับกับระบอบทหาร การรัฐประหารอาจเป็นทางเลือกที่มีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความแตกแยกใหญ่ในสังคม

16) บทบาท ส.ว. และรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จัดวางบทบาทของวุฒิสภาให้เหมาะสม จะเป็นประเด็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องเตรียมแบกรับ

17) ความหวาดระแวงของสังคมต่อการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ “เลือกตั้ง 2566 จะเป็นเลือกตั้ง 2500” หรือไม่ เช่นที่เกิด “การเลือกตั้งสกปรก” ในปี 2500 จนกลายเป็น “จุดดำ” ทางการเมือง

18) ความหวังของประชาชนกับการมีรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจ อีกทั้งประชาชนจะมีความคาดหวังที่สูงมากกับการกำเนิดของรัฐบาลใหม่ในอนาคต อันอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลในอนาคตดำรงอยู่บนความหวังที่สูงมากของประชาชนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ

 

19) บทบาทของคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งยังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องของกระแสคนรุ่นใหม่ในเรื่องต่างๆ ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่

20) การสื่อสารทางการเมืองของพรรคและผู้นำมีความหมายมาก และมีนัยกับการได้เสียงจากประชาชนจากการนำเสนอนโยบาย เพราะประชาชนมีความสนใจต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้น และเห็นชัดว่าข้อถกเถียงในเชิงนโยบายของพรรคการเมืองมีมากขึ้นจากการสื่อสารนี้

21) ผลการเลือกตั้งจะเป็นสัญญาณสำคัญของการ “สิ้นระบอบทหาร” หรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องจับตามมองต่อไป โดยเฉพาะในครั้งนี้พรรคของผู้นำรัฐประหารแพ้มากอย่างมีนัยสำคัญ จึงน่าจะส่งผลให้ระบอบรัฐประหาร 2557 ถึงจุดสิ้นสุดด้วย แต่ก็ยังมีมรดกจากการรัฐประหารตกค้าง เช่น ข้อกฎหมายต่างๆ

22) การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างมากจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากปีกฝ่ายค้านเดิมอาจมีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศ ซึ่งนโยบายแต่เดิมมีทิศทางที่ “เอียงตะวันออก” และ “ห่างตะวันตก” อย่างชัดเจน อันเป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร 2557

23) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับกลุ่มทุนใหญ่จะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะกลุ่มทุนใหญ่ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเมืองไทย

24) น่าสนใจอย่างมากว่าการเลือกตั้ง 2566 จะทำให้สังคมการเมืองไทยก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้จริงเพียงใด แต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นดังสัญญาณการถดถอยของระบอบกึ่งประชาธิปไตยของอดีตผู้นำรัฐประหาร 2557 อย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าเรากำลังเห็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ทางการเมืองที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และเป็นฤดูใบไม้ผลิที่เกิดจากการ “ลงเสียง” ของประชาชน โดยไม่ได้อาศัยการ “ลงถนน” ของมวลชนแต่อย่างใด

และตอกย้ำกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่า ถ้าประชาชนมีความตื่นตัวมากเพียงพอแล้ว การล้มระบอบกึ่งอำนาจนิยมอาจเกิดขึ้นได้ด้วย “บัตรเลือกตั้ง”

25) ชัยชนะของพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่การเดินทางบนถนนการเมืองที่ปูลาดด้วย “กลีบกุหลาบ”

หากต้องยอมรับว่า มีปัญหาและอุปสรรครอให้รัฐบาลประชาธิปไตยเข้าไปแก้ไขในหลายเรื่อง อันเป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยไทยในอนาคต!