ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
องค์กรวิชาการที่จับตาสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีความเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เอลนีโญจะกลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ.2023 ผมจึงขอเลือกเสนอประเด็นสำคัญบางแง่มุมเอาไว้ก่อน และจะทยอยนำเสนอแง่มุมอื่นเพิ่มเติมเป็นระยะครับ
ถาม 1 : เอลนีโญ คืออะไร?
ตอบ : เอลนีโญ (El Nino) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในบรรยากาศและในมหาสมุทรในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่สามารถส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศได้หลายพื้นที่ในโลกอย่างน่าทึ่ง (ซึ่งจะให้ข้อมูลในคำถามที่ 6 และ 7)
หากมองแค่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน จะพบว่าแถบชายฝั่งประเทศเปรูและเอกวาดอร์ในอเมริกาใต้ ผิวน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นมากกว่าปกติ และน้ำอุ่นนี้แผ่ขยายกว้างไกลออกไปถึงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนโดยคงตัวอยู่เป็นเวลานาน
ส่วนแง่มุมอื่นๆ ที่ครอบคลุมกว่า ผมได้เล่าไว้แล้วในบทความ ‘ลานีญา vs เอลนีโญ’ ในเว็บของมติชนที่นี่ครับ (Cloud Lovers : ลานิญา vs เอลนิโญ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ)
ถาม 2 : เอลนีโญเกิดบ่อยแค่ไหน?
ตอบ : โดยเฉลี่ยแล้ว เอลนีโญจะเกิดทุก 4 ปี แต่บางครั้งอาจเหลือแค่ 2 ปี หรือนานถึง 7 ปี โดยเอลนีโญแต่ละครั้งจะอยู่นานต่อเนื่องราว 12-18 เดือน
ทั้งนี้ สภาพการเปลี่ยนแปลงจะเป็นวงจรสลับไป-สลับมาระหว่างเอลนีโญ สภาวะปกติ กับลานีญา (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ กล่าวคือ ผิวน้ำทะเลบริเวณแถบตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเย็นลงกว่าปกติ)

ที่มาของภาพ : https://public.wmo.int/en/about-us/frequently-asked-questions/el-ni?o-la-ni?a
ถาม 3 : ซูเปอร์เอลนีโญคืออะไร?
ตอบ : ซูเปอร์เอลนีโญ (super El Nino) หรือเอลนีโญรุนแรง (strong El Nino) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงมากกว่าปกติ
เกณฑ์หนึ่งที่ใช้ระบุว่าเอลนีโญรุนแรงแค่ไหนคือ ดูที่ค่าดัชนี NINO3.4 หากว่าดัชนี NINO3.4 มีค่าตั้งแต่ 1.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ก็แสดงว่าเกิดเอลนีโญรุนแรงหรือซูเปอร์เอลนีโญ
ถาม 4 : นักวิทยาศาสตร์สามารถพยากรณ์เอลนีโญล่วงหน้าได้นานแค่ไหน?
ตอบ : ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถพยากรณ์โอกาสการเกิดเอลนีโญ (และลานีญา) ได้ล่วงหน้าหลายเดือน
ผลการคาดการณ์สามารถทำให้พื้นที่ต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบนำไปใช้ในการเตรียมตัวรับมือและเตรียมการในด้านต่างๆ เช่น การจัดการน้ำ โดยเฉพาะการจัดการภัยแล้งหรือน้ำท่วม ความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรม ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนและสัตว์ รวมทั้งการใช้พลังงาน (เช่น หากอากาศร้อนขึ้น ก็ย่อมมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นตามมา)
ถาม 5 : ตัวอย่างแหล่งข้อมูลระดับโลกที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการพยากรณ์เอลนีโญเช่นที่ไหนบ้าง
ตอบ : มีหลายที่ แต่ที่ผมชอบมากที่สุด เพราะว่าเข้าใจง่ายคือ สถาบันอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย (Bureau of Meteorology) โดยเข้าไปที่ www.bom.gov.au/climate/enso/ แล้วดูที่หน้าปัดระบุสถานภาพ เช่น ในขณะที่เขียนบทความนี้ สถานภาพคือ El Nino Watch เป็นต้น แต่หากโลกเริ่มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญก็จะกลายเป็น El Nino Alert และเมื่อเข้าสู่เอลนีโญอย่างเต็มรูปแบบก็จะกลายเป็น El Nino

ที่มาของภาพ : https://public.wmo.int/en/about-us/frequently-asked-questions/el-ni?o-la-ni?a
ถาม 6 : ผลกระทบของเอลนีโญต่อลักษณะภูมิอากาศทั่วโลกเป็นอย่างไร?
ตอบ : เมื่อมองภาพรวมระยะยาว ผลกระทบของเหตุการณ์เอลนีโญแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกันแบบเป๊ะๆ ทุกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุนแรงของเหตุการณ์ ช่วงระยะเวลาในปีที่เกิดเหตุการณ์ รวมทั้งผลกระทบร่วมที่เกิดจากรูปแบบทางภูมิอากาศแบบอื่นๆ
ผมนำแผนภาพ 2 ภาพมาฝาก แผนภาพหนึ่งแสดงผลกระทบของเอลนีโญต่อภูมิอากาศในพื้นที่ต่างๆ ของโลกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ (ตรงกับฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ) ส่วนอีกแผนภาพแสดงผลกระทบในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม (ตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ)
การตีความแผนภาพทั้งสองนี้ต้องเข้าใจคำที่แสดงสภาพอากาศพื้นฐาน 2 คู่ก่อนดังนี้
คู่แรก : คำว่า Cool หมายถึง อากาศเย็นกว่าปกติ ส่วนคำว่า Warm หมายถึง อากาศร้อนกว่าปกติ
คู่ที่สอง : คำว่า Wet หมายถึง มีฝน (หรือหยาดน้ำฟ้า) มากกว่าปกติ ส่วนคำว่า Dry หมายถึง มีฝน (หรือหยาดน้ำฟ้า) น้อยกว่าปกติ
เมื่อนำคำจากคู่แรกมาผสมกับคู่ที่สอง ก็จะได้สภาพภูมิอากาศอีก 4 แบบดังนี้
Cool + Wet, Cool + Dry, Warm + Wet และ Warm + Dry
รวมแล้วจึงมีสภาพภูมิอากาศทั้งหมด 8 แบบ ดังแสดงด้วยสี 8 สีในแผนภาพ
นอกจากนี้ พึงระวังเรื่องขอบเขตของลักษณะภูมิอากาศที่ให้ไว้ในแผนภาพ เพราะขอบเขตนี้สามารถขยับได้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของเอลนีโญ
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เอลนีโญจะทำให้บางพื้นที่มีอากาศร้อนกว่าปกติ (เช่น อินเดีย) ส่วนบางพื้นที่แล้งกว่าปกติ (เช่น พื้นที่แถบตอนเหนือของออสเตรเลีย) และบางพื้นที่ทั้งร้อนและแล้งกว่าปกติ (เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบางส่วนของไทย)
แต่ในขณะเดียวกัน เอลนีโญในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จะทำให้บางพื้นที่มีฝนหรือหยาดน้ำฟ้าตกลงมามากกว่าปกติ (เช่น แถบตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา) และบางพื้นที่ร้อนกว่าปกติแถมมีฝนตกมากขึ้น (เช่น บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ในแถบเขตร้อน อย่างประเทศเอกวาดอร์ เปรู และโคลอมเบีย)
ส่วนในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เอลนีโญจะส่งผลกระทบแตกต่างออกไป เช่น อินเดียจะมีฝนตกลดลง ในขณะที่ชิลี (ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และอยู่ในช่วงฤดูหนาว) จะมีฝนตกหนักในบริเวณตอนกลางของประเทศ
ถาม 7 : ผลกระทบของเอลนีโญต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นอย่างไร?
ตอบ : เนื่องจากเอลนีโญคือสภาวะที่น้ำทะเลทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว
ในพื้นที่แถบชายฝั่ง (เช่น เปรูและเอกวาดอร์) ตามปกติจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การลอยตัว (upwelling) ซึ่งทำให้น้ำทะเลในระดับลึกลอยตัวขึ้นมา น้ำทะเลในระดับลึกนี้เย็นและอุดมไปด้วยไฟโตแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทะเล บริเวณที่เกิดปรากฏการณ์นี้จึงเป็นบริเวณที่มีปลาชุม
เมื่อเกิดเอลนีโญ กระบวนการลอยตัวนี้จะถูกหน่วงหรือถูกทำให้หยุดอย่างสิ้นเชิง ผลก็คืออาหารของปลาบางชนิดลดลง อย่างเช่น ชาวประมงเปรู ซึ่งจะมีปลาแอนโชวี่ (anchovies) ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจ เมื่อเกิดเอลนีโญปลาชนิดนี้จะไม่ชอบเนื่องจากอาหารลดลง และหนีไปบริเวณที่น้ำเย็นกว่า ชาวประมงก็จะถือโอกาสช่วงนี้ซ่อมแห อวน และเรือของตน
นอกจากนี้ เมื่อเกิดเอลนีโญ คือน้ำทะเลในบางพื้นที่อุ่นขึ้น จะทำให้ปะการังเกิดเปลี่ยนเป็นสีขาว เรียกว่าเกิดการฟอกขาว (coral bleaching) และปะการังอาจตายได้ (อย่างไรก็ดี การฟอกขาวของปะการังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น โดนรังสียูวี หรือน้ำจืดขึ้นเพราะมีฝนตกมาก เป็นต้น)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022