จาก ‘ภาพเขียนสีขาว’ ของ Robert Rauschenberg ถึง ‘เครื่องดนตรีสุดล้ำ’ ของ Harry Partch

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก ‘ภาพเขียนสีขาว’

ของ Robert Rauschenberg

ถึง ‘เครื่องดนตรีสุดล้ำ’

ของ Harry Partch

 

ผมเคยเขียนถึงการแสดงดนตรี Symphony หมายเลข 4′ 33” ของ John Cage และวรรณกรรมเรื่อง “ความเงียบ” ของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

ชื่อตอนว่า “จาก John Cage ถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ‘ความเงียบ’ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”

สื่อถึง “ศิลปะแนวทดลอง” ทั้งสองชิ้น ที่เล่นกับ “ความเงียบ” มาในครั้งนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวของ Robert Rauschenberg เจ้าของผลงาน “ภาพเขียนสีขาว” ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ John Cage แสดง “คอนเสิร์ตเงียบ”

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “เรื่องของเสียง” ที่มีเนื้อหาบางส่วนพูดถึง Robert Rauschenberg, John Cage และ Harry Partch ศิลปินผู้พิการทางสายตา และนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีแนวทดลอง

จึงอยากนำเรื่องราวของ Robert Rauschenberg และ Harry Partch มาเล่าสู่กันฟังสักตอนครับ

ในปี ค.ศ.1951 Robert Rauschenberg สร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ชุด The White Paintings หรือการแสดงผืนผ้าใบสีขาวธรรมดาๆ ที่ศิลปินทั่วโลกใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะทั่วไปจำนวน 6 ชิ้น นำมาจัดวางประกอบด้วย one-, two-, three-, four-, five-, and seven-panel

The White Paintings เป็นการแสดงผลงานศิลปะที่ปราศจากรูปร่าง หรือสีสัน เป็นเพียงผืนผ้าใบที่ระบายด้วยสีขาว แต่กลับสร้างความฮือฮาในหมู่ผู้เข้าชมการแสดงในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก

Robert Rauschenberg เผยว่า ผมไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้จะถูกเรียกว่างานศิลปะ

“มันเป็นเพียงการสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ชม ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ชมแต่ละคน ว่าจะตีความ ภาพสีขาวเหล่านี้แบบใด ไม่ว่าจะเป็นความว่างเปล่าจำนวนหนึ่ง หรือความว่างเปล่าจำนวนมาก” Robert Rauschenberg ระบุ

 

Robert Rauschenberg คือศิลปินชาวอเมริกันผู้ได้รับการยกให้เป็นศิลปินแนว Post-modern หรือ “ศิลปินแนวทดลอง” คนแรกๆ ของวงการศิลปะอเมริกัน

Robert Rauschenberg เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปี ค.ศ.1925 เป็น “ศิลปินแนวทดลอง” ที่ชอบคิดค้นแนวทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สื่อผสม, ภาพถ่าย และศิลปะแสดงสด

Robert Rauschenberg มีชื่อเสียงจากการเป็นศิลปินที่ชอบนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะร่วมกับสีน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Robert Rauschenberg ชอบสร้างสรรค์งานศิลปะแบบลูกผสมระหว่างจิตรกรรมสองมิติกับประติมากรรมสามมิติ หรือ Combine Painting

นอกจากนี้ Robert Rauschenberg ยังชื่นชอบการทำงานศิลปะในแนวทาง Ready Made หรือ “ศิลปะสำเร็จรูป” แบบ Marcel Duchamp เจ้าของ “ศิลปะโถฉี่” อันลือลั่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Robert Rauschenberg ได้สร้างสรรค์ชิ้นงาน “ลบผลงานศิลปะ” ของ “ศิลปินคนอื่น” นั่นคือ Erased de Kooning Drawing ที่เป็นการเอายางลบ ลบภาพวาดลายเส้น Woman ของ Willem de Kooning

Robert Rauschenberg บอกว่า “นี่มันไม่ใช่แค่การลบลายเส้นของศิลปิน แต่มันเป็นการลบความคิดต่างหาก”

ศิลปะอีกชิ้นของ Robert Rauschenberg ที่สร้างความฮือฮาก็คือ การที่เขาลงมือทำงานร่วมกับ John Cage เจ้าของผลงาน Symphony หมายเลข 4′ 33” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเขียนชุด The White Paintings ของเขา

นั่นคือ ผลงานที่มีชื่อว่า Automobile Tire Print ที่ Robert Rauschenberg สั่งให้ John Cage ขับรถไปชุบสีทาบ้าน แล้วเลื่อนไปประทับรอยยางรถยนต์บนกระดาษพิมพ์ดีดความยาว 23 ฟุต

Robert Rauschenberg เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2008 ในวัย 82 ปี

 

ส่วน Harry Partch เป็นนักแต่งเพลง นักดนตรี กวีชาวอเมริกันผู้พิการทางสายตา เขามีชื่อเสียงในฐานะผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีหลายชนิดที่มีส่วนในการปฏิรูปวงการเครื่องดนตรีสากล

Harry Partch เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี ค.ศ.1901 ที่เมือง Oakland รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขาเป็นเจ้าของผลงานเพลงจำนวน 7 อัลบั้ม ได้แก่ The World of Harry Partch, Delusion of the Fury, The Seventeen Lyrics of Li Po, Revelation in The Courthouse Park, Enclosure II, Enclosure V และ Enclosure VI

แต่สิ่งที่วงการดนตรีสากลให้การยกย่อง Harry Partch ก็คือบทบาทของนักประดิษฐ์เครื่องดนตรี

วัยเด็กของ Harry Partch ได้สัมผัสความหลากหลายทางดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหลากหลายของเครื่องดนตรี จากการที่เขาต้องติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นมิชชั่นนารีเดินทางไปในหลายพื้นที่ทั้งโลกตะวันออก และโลกตะวันตก

ตั้งแต่ประเทศจีน ไปจนถึงเขตแดนห่างไกลในรัฐแอริโซนาเขตชาวอินเดียนแดงท้องถิ่น และสุดเขตชายแดนนิวเม็กซิโก

เสียงเครื่องดนตรีจีนแมนดาริน ดนตรีสเปน ดนตรีเม็กซิกัน ไปจนถึงดนตรีอเมริกันอินเดียน หรือดนตรีท้องถิ่นของชาวอินเดียนแดง จึงผ่านหูของ Harry Partch

นอกจากนี้ Harry Partch ยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นแคลริเน็ต ฮาร์โมเนียม วิโอลา เปียโน และกีตาร์

Harry Partch รู้สึกอยู่ในใจตลอดมา ว่าระบบดนตรีสากลมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับนั้น มันไม่สมบูรณ์แบบเพราะยังขาดอะไรบางอย่าง

 

Harry Partch จึงเริ่มต้นศึกษาค้นคว้า และประดิษฐ์คิดค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทดลองสร้างเครื่องดนตรีเฉพาะทางขึ้นมา โดยภายหลังได้มีการบันทึกไว้ว่า เครื่องดนตรีเครื่องแรกของ Harry Partch คือ Monophone ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ Adapted Viola

ตลอดชีวิตของ Harry Partch ได้สร้างเครื่องดนตรีเฉพาะทางขึ้นมานับไม่ถ้วน แต่ที่ถูกบันทึก และรวบรวมไว้ได้ มีทั้งหมด 27 ชิ้นสำคัญ

เครื่องดนตรีเฉพาะทางของ Harry Partch ล้วนมีแนวคิดที่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านของประเทศในแถบเอเชียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ญี่ปุ่น

ไปจนถึงชนเผ่าท้องถิ่นในเกาะฮาวาย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป จนถึงแอฟริกา และอินเดียนแดง ที่วัสดุอุปกรณ์ซึ่งนำมาทำเป็นเครื่องดนตรีประกอบไปด้วยไม้ไผ่ แก้ว และโลหะ

ความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตาของเครื่องดนตรี วัสดุที่ใช้ รวมไปถึงวิธีการเล่น

สิ่งเดียวที่ดนตรีท้องถิ่นในแต่ละที่เหมือนกันก็คือ การไม่ใช้รูปแบบการจูนเสียงมาตรฐานตะวันตก โดยในแต่ละที่นั้น จะมีรูปแบบเฉพาะตัวของมันเอง

ในปี ค.ศ.1947 Harry Partch ได้ตีพิมพ์หนังสือ Genesis of Music ที่พิสูจน์ว่า นอกเหนือจากโดไปเรไปมีไปฟาไปซอลไปลาไปทีและกลับมาโด สามารถเป็นอย่างอื่นได้อีกมากมาย เช่น มีอะไรจากโดก่อนจะไปเร หรืออาจจะเลยเรไปก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด

Genesis of Music ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของระบบดนตรีออร์เคสตราไปตลอดกาล และทำให้วงการดนตรีคลาสสิคต้องสั่นสะเทือน เพราะเป็นการพิสูจน์ว่า ทฤษฎีดนตรีมาตรฐานสากลแบบตะวันตก ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป

เพราะทฤษฎีดนตรีมาตรฐานสากลแบบตะวันตก หรือที่เรียกว่า Music Theory นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้ง่ายที่สุดต่อหูมนุษย์ที่จะได้ยิน ตีความ และหลงใหลไปกับชุดของเสียงที่ถูกออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี

ตั้งแต่ดนตรีคลาสสิค เรื่อยมาจนถึงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เกือบทั้งหมดของดนตรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ล้วนอ้างอิงกับทฤษฎีดนตรีมาตรฐานสากลแบบตะวันตกอันเดิมอันเดียว ทำให้เราอาจรู้สึกแปลก และไม่คุ้นเคย เมื่อได้ยินเสียง หรือดนตรี ที่ไม่อ้างอิงกับการตั้งเสียงแบบมาตรฐานสากลตะวันตก หรือที่เรียกว่า Out of Tune

Harry Partch จึงโด่งดัง และเป็นที่จดจำได้มากที่สุด จากการคิดค้น 43-Tone Scale

Harry Partch โด่งดังจากการใช้ Just Intonation แบบ 43-Tone Scale ในหนึ่ง Octave ของเครื่องดนตรีเฉพาะทางของ Harry Partch สามารถจูนเสียงได้แตกต่างกันถึง 43 เสียงนั่นเองครับ