สายธาร ความคิด ‘จุดตัด’ จาก จิตร ภูมิศักดิ์ ถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

สายธาร ความคิด

‘จุดตัด’ จาก จิตร ภูมิศักดิ์

ถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ลําพังชื่อหนังสือคือ “อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย” วางอยู่เหนือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

ก็น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่แล้ว

เพราะชวนให้เกิดนัยประหวัดอย่างลึกซึ้งเป็นพิเศษ ทั้งในทาง “ความคิด” และในทาง “วรรณกรรม”

นี่ยังมีชื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้เขียน

ยิ่งเมื่อพลิกผ่านหน้า “สารบัญ” เข้าไปยัง “คำนำ” ยังเร้าในเชิงเย้ายวนอย่างยิ่งเมื่อเริ่มต้นด้วยประโยค

“ศิลปะเพื่อศิลปะ” กับ “ศิลปะเพื่อชีวิต”

ปะทะและประดาบกันสืบเนื่องยาวนานใน “ศตวรรษ” ที่แล้ว อำนาจรวมศูนย์หนุนหลัง “ศิลปะเพื่อศิลปะ” แล้วกีดกันใส่ร้าย “ศิลปะเพื่อชีวิต”

ทำให้ภาษาและวรรณกรรมไทยได้รับนิยามยกย่องเป็นศิลปะบริสุทธิ์เพื่อศิลปะล้วนๆ “ไม่การเมือง” จากนั้น ใช้กล่อมเกลาและครอบงำสังคมไทยผ่านระบบการศึกษานับร้อยปีมาแล้ว

ต้องอ่าน

 

3 รากฐาน ความคิด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โดยพื้นฐาน, ผมเรียนรู้ภาษาและวรรณกรรมไทยตามกรอบคิดกระแสหลักของระบบการศึกษาของไทย

ไม่ขาดตกบกพร่องอย่างน้อย 3 ทาง

1 โรงเรียนและมหาวิทยาลัย มากกว่า 12 ปีเพราะสอบตกบ้าง

2 วัด มากกว่า 12 ปี เป็น “เด็กวัด” ต้องผ่านประเพณี พิธีกรรม ประจำปี มีร้องรำทำเพลงที่สร้างสรรค์

ด้วยภาษาและวรรณกรรมทั้งของ ชาววัง และ ชาววัด

และ 3 หมู่บ้าน

เนื่องจากเกิด “บ้านนอกขอกตื้อสะดือจุ่น” และเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย “หนีเรียน” ไปตามหมู่บ้านเกือบทั่วประเทศ เพื่อสำรวจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

พบภาษาและวรรณกรรมแตกต่างและหลากหลาย แต่ซึมซับไม่ครบถ้วน

 

สะเทือน กระแทก

จิตร ภูมิศักดิ์

เมื่อเริ่มต้นอาชีพเป็นคนทำหนังสือพิมพ์รายวัน (ตั้งแต่ พ.ศ.2513) ชีวิตประจำวันต้องคลุกคลี

ข่าวสังคม การเมือง เศรษฐกิจ

ความคิดของผมทางภาษาและวรรณกรรมไทยเริ่มไม่เหมือนเดิม แต่ไม่ได้จับต้องจริงจัง

เพราะไม่ได้คิดจะจริงจังกับเรื่องทางนี้

หลังอ่านหนังสือเรื่อง “ความเป็นมาของ คำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์

(เขียนในคุกก่อน พ.ศ.2509 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519)

ความคิดของผมทางภาษาและวรรณกรรมไทย (รวมทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี)

ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

2 กุมารสยาม

เส้นทาง วรรณกรรม

การปรากฏขึ้นแห่งหนังสือ “อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้มาพร้อมกับ “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

จึงน่าตื่นตา ตื่นใจ

น่าตื่นตาตื่นใจเพราะเมื่อคำนึงถึง “รากฐาน” แห่งความเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็หนักแน่น มั่นคงอย่างยิ่ง

ไม่เพียงเพราะมีชื่อเสียงตั้งแต่ยัง “เยาว์”

นำเสนอ “นิราศ” อันเป็นบทร้อยกรอง 2 บท 1 เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ 1 เขียนโดย ขรรค์ชัย บุนปาน เมื่อปี พ.ศ.2507

ตั้งแต่ยังเยาวเรศรุ่นเจริญศรี ตอนต้นของสะพานพระราม 2

กระทั่ง พัฒนาเติบใหญ่มาเป็น “ข้างขึ้น ข้างแรม” ในยุคที่ “สองกุมารสยาม” ย่ำเดินอยู่บนสะพานพระราม 7

การที่ยอมรับใน “ผลสะเทือน”

จากหนังสือ “ความเป็นมาของ คำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์

จึงสำคัญ และ ทรงความหมาย

ทั้งยังเป็นการยอมรับในลักษณะถึงขั้น “ความคิดของผมทางภาษาและวรรณกรรมไทย (รวมทั้งประวัติศาสตร์และวรรณคดี)

ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

 

ภาวะ การตื่น

โดย จิตร ภูมิศักดิ์

ทําให้นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ กลายเป็นจุดสนใจอย่างใหญ่หลวง ทั้งในทางความคิดและในทางวรรณกรรม

เพราะลักษณะ “ไม่เหมือนเดิม” เท่ากับเป็น “การตื่น”

เพราะเมื่อย้อนหวนทวนไปยังความจัดเจนในทางวรรณกรรมมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าอาการของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เหมือนอาการของ “อาฮุย”

อย่างที่ ว. ณ เมืองลุง ถอดความจากสำนวนของ “โกวเล้ง” ออกมาผ่านประโยคสั้นๆ ที่ว่า

“ข้าพเจ้าเพียงแต่พลันได้คิดตกเท่านั้น”

“พลันได้คิด” เพียงสามคำนี้กล่าวง่ายดายยิ่ง แต่การจะทำนับว่ายากยิ่งแล้ว

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวพุทธที่ทรงตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ได้ ก็เนื่องจากพระองค์

“พลันได้คิด”

ตั๊กม้อโจ้วซือ นั่งกัมมัฏฐาน 18 ปี จึงนับว่า “พลันได้คิด”

มิว่าเรื่องราวใด ขอเพียงท่านสามารถ “พลันได้คิด” ท่านก็จะไม่หงุดหงิดกลัดกลุ้ม

แต่ก่อนจะบรรลุถึงขั้นนี้

ท่านจะต้องมิทราบ ผ่านความหงุดหงิด กลัดกลุ้มมามากมายสักเพียงไร

 

บทเรียน อาฮุย

บทสรุป จิตร ภูมิศักดิ์

คําถามนี้ของ “โกวเล้ง” เป้าหมายอยู่ที่ “อาฮุย” โดยมีปัญหาอันผูกพันอยู่กับโฉมสะคราญอันดับหนึ่งของแผ่นดิน

ลิ่มเซียนยี้ เป็นสำคัญ

นี่ย่อมแตกต่างไปจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งมีปมอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรม

เพราะ จิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่เหมือนเดิม