พลโลก “2,000 ล้านคน” เหยื่อของวิกฤตภูมิอากาศ

เมื่อเร็วๆ นี้มีการเผยแพร่งานวิจัยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในวารสารวิชาการ the journal Nature Sustainability ที่ฉายให้เห็นภาพของความสูญเสียที่มนุษย์ต้องเผชิญโดยเฉพาะ ในกรณีที่อุณหภูมิของโลกถูกผลักดันโดยพฤติกรรมของมนุษย์เองให้พุ่งขึ้นสูงเกินกว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

งานวิจัยดังกล่าวซึ่งเป็นผลงานของทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย ศาสตราจารย์ทิม เลนตัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งเอกเซเตอร์ สหราชอาณาจักร ได้รับเสียงชื่นชมว่า เป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนโดยตรง ไม่ใช่อยู่ในรูปของเม็ดเงิน ที่มักใช้กันอยู่เสมอในงานวิจัยอื่นๆ ในแนวเดียวกันนี้

“ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน มักนำเสนอกันออกมาในรูปของตัวเงินบ่อยครั้ง แต่ผลการศึกษาของเราเน้นให้เห็นถึงความเสียหายระดับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นการเฉพาะถ้าหากเราล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้” ศาสตราจารย์เลนตันระบุ

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการประเมินผลเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์กับผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยตรงก็คือ การประเมินในทางเศรษฐศาสตร์มักให้ค่ากับความร่ำรวยมากกว่าความยากจน และมีแนวโน้มที่จะให้คุณค่าต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้มากกว่ามนุษย์ที่จะดำรงอยู่ในอนาคต

ศาสตราจารย์เลนตันระบุว่า ผลการศึกษาใหม่นี้ให้ความสำคัญต่อทุกผู้คนเท่าเทียมกันทั้งหมด

 

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์และสรุปผลจากการใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์ผสมผสานกันทั้งที่เป็นแบบจำลองของภูมิอากาศและแบบจำลองของประชากรโลก เพื่อตรวจสอบถึงแนวโน้มที่น่าจะเป็นในอนาคต

ทีมวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จะก่อให้เกิดพื้นที่ที่เป็น “ช่องจำเพาะ” ซึ่งมีภูมิอากาศและอุณหภูมิเฉลี่ยเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตและเจริญรุ่งเรืองของชุมชนมนุษย์ ส่วนที่เหลือนอกจากพื้นที่จำเพาะดังกล่าว นอกจากจะไม่รุ่งเรืองแล้วยังต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากภูมิอากาศที่ร้อนจัด ความชื้นสูง ซึ่งสามารถคร่าชีวิตได้โดยตรง

ทีมวิจัยพบว่า ในกรณีที่เรายังคงไม่ดำเนินการจัดการกับปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะร้อนขึ้นกว่าระดับฐาน ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิของโลกเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2030

ที่อุณหภูมิระดับดังกล่าวในปีนั้น คนบนโลก 2,000 ล้านคนจะถูกผลักออกไปอยู่นอก “ช่องจำเพาะ” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส อันเป็นระดับอากาศร้อนที่สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในอดีตที่ผ่านมามีเพียง 2-3 ชุมชนเท่านั้นที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อุณหภูมิระดับนี้ได้

ทีมวิจัยพบว่า อีก 1,000 ล้านคนจะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ซึ่งอากาศเย็นกว่า หรือภายในช่องจำเพาะดังกล่าว แต่ใช่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ได้สบายๆ เพราะยังคงต้องเผชิญกับ “คลื่นความร้อน” และภาวะแล้งจัดอยู่บ่อยๆ ตลอดปี

ทีมวิจัยระบุว่า ถ้าเรายับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ จำนวนผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอก “พื้นที่จำเพาะ” ก็จะลดลงได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 400 ล้านคนเท่านั้น

ในพื้นที่จำเพาะ อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 13-25 องศาเซลเซียส มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ อารยธรรมจะรุ่งเรืองได้นานนับเป็นร้อยหรือเป็นพันปี แต่สภาพภายนอกพื้นที่จำเพาะดังกล่าว จัดว่าถ้าไม่ร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์ ก็หนาวเย็นเกินไปหรือไม่ก็แห้งแล้งเกินไป

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาภายใต้สภาพเงื่อนไขนอกพื้นที่จำเพาะก็คือ อัตราการตายสูงขึ้น ผลผลิตอาหารลดลง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ

 

ข้อสังเกตของทีมวิจัยก็คือ ในประเทศที่มีประชากรขนาดใหญ่ และในเวลานี้ก็เผชิญกับอากาศร้อนอยู่ก่อนแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆ จะถูกดันออกไปนอก “พื้นที่จำเพาะ” ประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ประเทศอินเดียและไนจีเรีย

ศาสตราจารย์ซู ฉี จากมหาวิทยาลัยหนานจิงในจีน หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า คนที่หลุดออกไปอยู่นอกพื้นที่จำเพาะ จะเผชิญกับอุณหภูมิสูง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปรากฏการณ์ร้ายแรงได้หลายอย่าง ตั้งแต่อัตราการตายสูง, ประสิทธิภาพของแรงงานลดลง, ภูมิปัญญาลดลง, ระบบการเรียนรู้บกพร่อง, ผลผลิตพืชผลลดลง, โรคระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

ประเทศอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบ “อย่างหนัก” จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมีรวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน

สถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ตามแบบจำลองของทีมวิจัยก็คือ ในกรณีที่ภูมิอากาศโลกอ่อนไหวมากขึ้นต่อก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ผลลัพธ์ก็คือ อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงถึง 3.6 องศาเซลเซียส เมื่อถึงตอนนั้น ประชากรราวครึ่งหนึ่งของโลกจะตกอยู่นอกพื้นที่จำเพาะที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต

ศาสตราจารย์เลนตันตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า วิกฤตภูมิอากาศของโลกมี “ความเหลื่อมล้ำ” มหาศาลเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะผู้คนที่เดือดร้อนหนักหนาสาหัสที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือผู้คนในประเทศหรือพื้นที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับต่ำ

แต่ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำที่สร้างความมั่งคั่งไปพร้อมๆ กับทำลายโลกไปทีละน้อยนั้นกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่ามากนั่นเอง