รู้จัก ว่าที่ ส.ส.น้องใหม่สระบุรี “สรพัช ศรีปราชญ์” อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนการเมืองภาคกลาง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

การเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นหลายอย่าง

หนึ่งในนั้นก็คือการกำเนิด ส.ส.หน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนขึ้นเป็นจำนวนมาก

พลพรรคนักการเมืองรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวเหล่านี้กระจัดกระจายกันไปปักธงความคิดอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาค

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือจังหวัดสระบุรีด้วย

สระบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคกลางตอนกลาง อันประกอบไปด้วยสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครนายก

อาณาบริเวณนี้ส่วนใหญ่คือพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ลพบุรี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่นอกเขตปริมณฑล แต่ก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

รวมทั้งมีลักษณะเฉพาะอันเป็นจุดร่วมกันอยู่หลายประการ ทั้งในแง่ของสภาพภูมิประเทศ อุปนิสัยใจคอของผู้คน ภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ภาคกลางตอนกลางมีหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขคล้ายๆ กัน

สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในทางการเมืองของพื้นที่นี้ก็คือ ปัจจุบันภาคกลางแถบนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่อันมีพรรคการเมืองใดผูกขาดอยู่เลย

ซึ่งต่างกับในอดีตที่มีตระกูลใหญ่ครอบครองพื้นที่ในหลายจังหวัด เช่น ศิลปอาชาในสุพรรณบุรี อดิเรกสารในสระบุรี ปริศนานันทกุลในอ่างทอง เป็นต้น

ทว่า ทุกวันนี้บทบาทของตระกูลทางการเมืองที่ครองอำนาจนำในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดมีอิทธิพลที่ลดลงอย่างมาก หรือไม่ก็เสื่อมความนิยมไป

จนบางพื้นที่แทบไม่เหลือที่นั่งในการเลือกตั้งระดับต่างๆ เลย

ดังจะเห็นได้จากความพ่ายแพ้ของปรพล อดิเรกสาร ในการเลือกตั้งที่สระบุรี เขต 1 ซึ่งได้อันดับ 4 ด้วยคะแนนเสียง 9,777 คะแนนเท่านั้น

และคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ได้เพียงอันดับที่ 3 ในสุพรรณบุรี อดีตดินแดน “บรรหารบุรี” ที่ไม่มีผู้ใดตีแตก

 

หากมองในขอบเขตที่แคบและเฉพาะเจาะจงลงมาที่สระบุรี

เมื่อมองชัยชนะของพรรคก้าวไกลในเขต 1 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปักธงส้มได้สำเร็จ เพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในจังหวัดนี้เลย แม้จะมีคะแนนดีมากในเขตเมือง

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่างๆ คณะก้าวหน้าก็ยังมิอาจปักธงลงไปได้

กระทั่งคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบนี้ที่เขต 1 จาก “ปอ” สรพัช ศรีปราชญ์ หนุ่มน้อยหน้าใสวัย 29 ปี ที่การแหวกดงเสือสิงกระทิงแรดในภูมิทัศน์การเมืองภาคกลางเข้ามานั่งเป็นว่าที่ ส.ส.น้องใหม่ใน จ.สระบุรีได้สำเร็จ

ปรากฏการณ์อันสร้างความฮือฮาไปทั่วจังหวัดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเรื่องราวน่าจะเป็นอย่างไรต่อนั้น

เห็นทีจะต้องพิจารณาจากปากคำของเจ้าตัว และมาทำความรู้จักว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่คนนี้กัน

 

สรพัชเป็นคนสระบุรีโดยกำเนิด

เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนราษฎร์ศึกษา โรงเรียนเสาไห้ “วิมลวิทยานุกูล” วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรีในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา

อาชีพเดิมของเขาคือวิศวกรโยธาตามวุฒิการศึกษา

แต่หลังจากที่ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทเอกชนได้ไม่นานก็หันมาเปิดบริษัทเองร่วมกับเพื่อนๆ กระทั่งตัดสินใจถอนตัวจากบริษัทเพื่อเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว

สรพัชเป็นผู้สมัคร ส.ส.สระบุรีที่ได้รับการรับรองจากพรรคก้าวไกลเป็นลำดับหลังสุดเมื่อเทียบกับเขตอื่น คือได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคในช่วง 8 เดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ในขณะที่ผู้สมัครรายอื่นได้รับการรับรองมา 1-2 ปีแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากผู้สมัครรายเดิมได้ถอนตัวไป สรพัชซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรกจึงอาสาเข้ามาอีกครั้ง ก่อนจะได้รับการคัดเลือกจากพรรคในที่สุด

เมื่อถามเขาว่า เหตุใดจึงอาสาเข้ามาอีกในเมื่อครั้งแรกก็ไม่ได้รับเลือก

เขาตอบอย่างแน่วแน่วว่าตั้งใจมาทำงานนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะพลาดอีกกี่รอบเขาก็ยังยืนยันที่จะมาสมัครซ้ำเหมือนเดิม

ความมุ่งมั่นอันแรงกล้านี้คงไม่ได้สะกิดใจคณะกรรมการคัดสรรผู้สมัครแต่เพียงกลุ่มเดียวแน่ๆ เพราะระหว่างที่ผมกำลังสัมภาษณ์อยู่นี้ก็ยังสัมผัสถึงพลังนี้ได้

เมื่อถูกถามว่า “คิดว่าตัวเองเป็นตัวเต็งลำดับใดในช่วงที่เปิดตัว และมีผู้สมัครรายใดที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวบ้าง”

เขาก็ตอบว่าไม่เคยประมาณฐานะของตัวเองเลยว่าอยู่ลำดับใด แต่มองเพียงว่าต้องการเข้ามาปักธงความคิดให้ขยายออกไปให้มากที่สุดเท่านั้น เมื่อคิดเช่นนี้แล้วตัวเองจะเป็นตัวเต็งลำดับเท่าใดจึงไม่สำคัญ และไม่จำเป็นต้องไปคำนึงถึง

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดคงหนีไม่พ้นแชมป์เก่าหลายสมัย อย่าง ส.ส.นก กัลยา รุ่งวิจิตรชัย จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมารอบนี้ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำที่สุดในชีวิต คือร่วงกราวรูดลงมาอยู่ในอันดับ 5 ด้วยคะแนนเพียง 9,744 คะแนนเท่านั้น

ต่างกับสรพัชที่เดบิวต์ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกก็คว้าชัยมาได้ด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 32,444 คะแนน

แซงเข้าเส้นชัยในโค้งสุดท้ายแบบหักปากกาเซียน

 

สําหรับนโยบายที่สรพัชคิดจะผลักดันหลังจากที่ได้เข้ามาเป็น ส.ส.แล้ว มี 3 ทิศทางหลัก นั่นคือ (1) การท่องเที่ยว (2) สิ่งแวดล้อม และ (3) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

โดยเขามองสภาพของสระบุรีว่าเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นใน 3 ประการนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรพัฒนาไปตามลักษณะที่มีต้นทุนอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่

ในเรื่องการท่องเที่ยวนั้น เขามองว่าสระบุรีมีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่เพียบพร้อมแล้ว แต่ถูกปล่อยปละละเลย หรือไม่ได้ขับเน้นอย่างเป็นรูปธรรมเพียงพอ

ยกตัวอย่างเช่น วัดพระพุทธฉายที่แม้จะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมต่อทั้งชาวสระบุรีและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก

แต่ยังขาดการพัฒนาเพื่อยกระดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งๆ ที่ควรได้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดด้วย

ในส่วนของสิ่งแวดล้อม สรพัชมองว่าเป็นปัญหาหลักของ จ.สระบุรี

ตามที่ทราบกันดีว่าจังหวัดนี้เป็นเมืองอุตสาหกรรม การเป็นเมืองอุตสาหกรรมนี้นำพาเม็ดเงินเข้าจังหวัดเป็นจำนวนมากก็จริงแต่ก็ทำให้สภาพแวดล้อมถูกทำลายจนทรุดโทรม

ผลที่ประจักษ์ชัดที่สุดก็คือปัญหาฝุ่น อันเป็นมลพิษที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตหน้าพระลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อ.เฉลิมพระเกียรติ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่รุนแรงและเรื้อรังที่สุดปัญหาหนึ่งของสระบุรีมาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 2500

ทำให้ผู้คนในพื้นที่แถบนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพอย่างมาก และยังกระทบไปถึงมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

วิธีแก้ปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมในทัศนะของสรพัชดูจะแตกต่างจากคนทั่วไป

คือแทนที่จะมองไปที่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตรงๆ เช่น มีฝุ่นก็กำจัดฝุ่น มีน้ำเสียก็บำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

แต่เขามองว่าปัญหาเรื่องนี้แยกขาดจากการกระจายอำนาจไม่ได้ เพราะว่าผู้ที่รู้ปัญหาเหล่านี้ดีที่สุดก็คือคนในพื้นที่นั่นเอง

หากไม่มีการกระจายอำนาจ ชาวบ้านก็จะไม่มีเครื่องมือหรือกำลังอำนาจในการแก้ไขปัญหาของตัวเองได้

ถ้าประชาชนมีสิทธิอำนาจที่จะทำได้ก็ย่อมไม่มีใครที่อยากทำร้ายร่างกายและจิตใจของตัวเอง

ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการใช้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจตรวจตราการควบคุมมลพิษให้อยู่ภายใต้มาตรฐานที่กำกับไว้

 

และข้อสุดท้ายก็คือเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเขามองว่าสระบุรีคือ “ฮอลลีวู้ดของเมืองไทย” ด้วยความที่จังหวัดนี้มีโลเกชั่นสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และสื่อต่างๆ มากที่สุดในประเทศ เนื่องจากอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ครบถ้วนทั้งป่าเขา เมือง และหมู่บ้าน อีกทั้งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก คืออยู่ในระยะประมาณ 100 กิโลเมตร จึงทำให้สระบุรีเป็นสถานที่ยอดนิยมที่กองถ่ายต่างๆ มักเลือกใช้ในการถ่ายทำอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบนิเวศน์ของการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อกองถ่ายนัก ทำให้ในระยะหลังสระบุรีสูญเสียสถานะของการเป็นสถานที่ถ่ายทำสำคัญให้กับหลายจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่า

ดังนั้น จึงควรมีแผนที่จะพัฒนาในเรื่องปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำงานกองถ่ายสำหรับการรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

จริงๆ แล้วแนวนโยบายข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่ผมเผอิญได้คุยกับสรพัชไปแล้วเมื่อแปดเดือนก่อน ตอนนั้นผมบอกเล่าข้อมูลเรื่องฮอลลีวู้ดเมืองไทยให้เขาฟังโดยไม่คิดว่าเขาจะจดจำได้และเห็นความสำคัญจนนำมาก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจนถึงตอนนี้

ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของเขา คือเป็นผู้รับฟังที่ดีและมีความคิดที่อยากริเริ่มสิ่งใหม่

ในฐานะผู้สัมภาษณ์ก็อดรู้สึกชื่นชมอยู่ในใจไม่ได้ และมีความหวังขึ้นมาว่าบางทีนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนา จ.สระบุรี และต่อเนื่องไปถึงการเมืองภาคกลาง ส่วนจะเป็นดังนั้นหรือไม่ก็ต้องคอยติดตามต่อไปในอนาคต

คำถามสุดท้ายก็คือ “มีอะไรที่อยากจะบอกประชาชนหรือผู้คนชาวสระบุรีบ้าง”

เขาตอบว่าในมุมมองของเขา ที่ผ่านมา ส.ส.สระบุรีไม่มีตัวตนในสภาเลย ต่อไปจะต้องไม่เป็นเช่นนั้น ปัญหาทุกเรื่องของที่นี่ต้องได้รับการบอกกล่าวและสะท้อนเสียงเหล่านี้ออกไปสู่วงกว้าง และเขาจะเป็นคนทำเช่นนั้นเอง นั่นคือทำให้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

“ส.ส.สระบุรีจะต้องมีตัวตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร” นั่นเอง