พ.ร.บ.อุ้มหายปัญหาหญ้าปากคอก ตร.ไร้ทางเลือกบนความขาดแคลน ‘คุ้มครองสิทธิ์’ คู่ขนาน ‘บังคับใช้’

บทความโล่เงิน

 

พ.ร.บ.อุ้มหายปัญหาหญ้าปากคอก

ตร.ไร้ทางเลือกบนความขาดแคลน

‘คุ้มครองสิทธิ์’ คู่ขนาน ‘บังคับใช้’

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก เมื่อ 18 พฤษภาคม วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อขยายเวลาการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 1 มีผลให้ พ.ร.ก. ตกไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรค 3

เผือกร้อนตกอยู่ในมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

นั่นหมายถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมามีผลทันที

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 มกราคม 2566 ตร.ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถึงปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.เป็นผู้ลงนาม

ประเด็นสำคัญหนังสือ ขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย บางส่วน เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน

เหตุผลที่ ตร.ยกขึ้นมา มี 3 ประการ กล่าวคือ

1. กล้องรองรับการปฏิบัติยังไม่พอ ต้องจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ 1.7 แสนตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับอีก 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว ใช้งบประมาณ 3,473 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณนี้ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณปี 2566 จะต้องตั้งคำของบฯ ปี 2567

2. เตรียมพร้อมบุคลากร เหตุตำรวจยังขาดความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน ต้องใช้เวลาฝึกอบรม

และ 3. ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง

ต่อมา “รัฐบาลประยุทธ์” ออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22- 25 ของ พ.ร.บ.อุ้มหาย

แต่ที่สุด ส.ส.เข้าชื่อกัน 114 คนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญ

 

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.ก.ดังกล่าว เย็นวันเดียวกัน “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เรียกประชุมด่วน ตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. ผู้บังคับบัญชาทุกดับ ระดับหัวหน้าหน่วยทั่วประเทศ เพื่อกำชับการปฏิบัติการ พ.ร.บ.ดังกล่าว

โดยเฉพาะมาตรา 22 กำหนดให้ ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป รวมถึงการแจ้งให้การจับกุม การควบคุมตัวให้พนักงานอัยการ ฝ่ายปกครองรับทราบ

“บิ๊กเด่น” กำชับที่ประชุมว่า ปฏิบัติตามแนวทางกฎหมายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าขณะนี้ตำรวจจะขาดแคลนอุปกรณ์ อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดหา แต่เน้นย้ำให้หน่วยบริหารจัดการตามที่มีอยู่เดิม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เบื้องต้นมีกล้องติดตัวเดิม 120,597 ตัว กำลังพลที่จะใช้ 160,000 นาย อยู่ระหว่างจัดหาอีกราวๆ 37,000 ตัว ได้เร่งสำนักงานส่งกำลังบำรุง รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพและเสียง และเร่งให้สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) รับผิดชอบจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลการบันทึกภาพและเสียง คาดว่าจะเสร็จสิ้นและส่งมอบให้ตำรวจได้ต้นเดือนกันยายนนี้

ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัวและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ.2566 ซึ่งจะต้องออกโดยคณะกรรมการดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้ออกแนวทางให้ตำรวจปฏิบัติไปพลางๆ ก่อน

ดังนี้

 

1.ให้หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการอุปกรณ์เครื่องบันทึกภาพและเสียงที่มีอยู่เดิมให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายจราจร หรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จับและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดเป็นหลักก่อน หากไม่เพียงพอให้จัดแก่เจ้าหน้าที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่เป็นลำดับแรก

2. การบันทึกภาพและเสียง ตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับกุมและควบคุมตัว จนกว่าจะส่งผู้ถูกจับกุมหรือผู้ถูกควบคุมตัวให้พนักงานสอบสวน หรือได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกระทำได้ ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานในบันทึกควบคุมตัว

3. การแจ้งการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการและนายอำเภอท้องที่ที่มีการจับกุม หรือผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนหรือนิติการ ตามมาตรา 22 วรรคสอง เบื้องต้นให้ใช้วิธีแจ้งไปยังศูนย์รับแจ้งของสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมการปกครอง โดยให้จัดทำสารบบคุมการแจ้งการควบคุมตัวไว้ด้วย ช่องทางการแจ้ง และสมุดคุมการแจ้งรายละเอียด

4. การจัดเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่บันทึกไว้ เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบ จัดเก็บลงในเครื่องบันทึกไปพลางก่อน โดยให้ทุกหน่วยเร่งจัดหาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ขนาดความจุ 5 TB) และสำรองจ่ายจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรปกติดำเนินการไปก่อน

5. ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลการบันทึกภาพและเสียงเบื้องต้น ให้เก็บรักษาไว้จนกว่าคดีที่จับกุมถึงที่สุดหรือขาดอายุความ หรือให้ดำเนินตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ที่กำหนด

 

แต่อีกมิติการบังคับใช้ “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ได้รับเสียงชื่นชมเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไทยมีความก้าวหน้าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งไทยลงนามในอนุสัญญา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา ทำให้ยังไม่ผูกพันตามพันธกรณี

ขณะที่ตำรวจผู้อยู่หน้างานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีเสียงสะท้อนว่ากฎหมายนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและมีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายหลัง

อย่างเหตุสุดวิสัย กรณีเฉพาะหน้าจับกุมนอกเวลาปฏิบัติงาน แล้วตำรวจไม่ได้พกอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง หรืออุปกรณ์ขัดข้องหรือสูญหาย ใครจะรับผิดชอบ อาจทำให้ตำรวจถูกฟ้องร้องคดีได้

หรืออย่างการขยายผลจับกุมผู้ต้องหายาเสพติด อาจทำให้บันทึกภาพและเสียงทำได้ไม่ต่อเนื่อง เช่น การให้ผู้ถูกจับพาเจ้าหน้าที่ไปขยายผล ล่อซื้อหายาเสพติดจากผู้ขาย

ส่งผลการทำสำนวนมีน้ำหนักต่อการรับฟังพยานหลักฐานของศาลหรือไม่ รวมถึงการควบคุมตัวว่า จะเป็นการควบคุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอให้ศาลปล่อยตัวได้หรือไม่ อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำสำนวนการสอบสวนพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น

แต่เมื่อชั่งน้ำหนักการบังคับใช้กฎหมายต้องคู่ขนานการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชน ปราศจากการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย