ใหญ่กว่าคน คือพรรค ใหญ่กว่าพรรค คือประชาชน ใหญ่กว่าประชาชน คือ ส.ว.

หลังชัยชนะอย่างท่วมท้นของกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย รวมกับพันธมิตร ยึดที่นั่ง 313 ส.ส. เพียงพอมากแล้วสำหรับการตั้งรัฐบาล และความเข้มแข็งในการดำรงอยู่กว่าจะหมดสมัย

ถ้าเป็นการเมืองปกติ แบบโลกสากลเขาเป็นกัน ก็ไม่ต้องมาลุ้นอะไรให้วุ่นวาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนอันดับ 1 และเป็นพรรคผู้รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ มีความชอบธรรมอย่างถึงที่สุด ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แต่ในความจริงกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่

เพราะชัยชนะดังกล่าว เป็นชัยชนะในเกมประชาธิปไตยสูตรพิสดาร ที่ออกแบบมาโดยกลุ่มขั้วอำนาจเก่า เพื่อขั้วอำนาจเก่า

เป็นเกมที่พุ่งเป้าสกัดขั้วอำนาจฝ่ายค้านโดยมีอาวุธสำคัญคือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งขั้วอำนาจเก่า เคยแสดงอภินิหาร เท 250 เสียง โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โดยพร้อมเพรียงกันมาแล้ว พร้อมๆ ไปกับก็พูดว่า ทุกคนมีวิจารณญาณเป็นอิสระ

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมแม้พ่ายแพ้ รวมเสียงได้ 187 เสียง ไม่ถึงครึ่งของสภาล่าง ทั้งที่เคยประกาศจะร่วมปิดสวิตช์ ส.ว. ตลอด 4 ปีที่มีอำนาจ แต่พอแพ้เลือกตั้ง ต่างก็ออกตัว จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลเพื่อให้ชนะเสียง ส.ว. โดยอ้างไม่ชอบนโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกล

แม้จะไม่ชอบที่ ส.ว.จะมีอำนาจเลือกนายกฯ แต่ก็ไม่ชอบท่าทีพรรคก้าวไกลมากกว่า

…นี่คือสัญญาณจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

 

ขณะที่ผลการเลือกตั้งออกมา คะแนน “แลนด์สไลด์” ให้กับพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม มอบความพ่ายแพ้ให้กับขั้วรัฐบาลเดิมอย่างย่อยยับ แต่น่าสนใจว่าเกมนี้กลับไม่มีใครประกาศยอมรับความพ่ายแพ้

ย้อนกลับไปดูการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 คู่แข่งหลักเวลานั้นคือ ประชาธิปัตย์ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สู้กับเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปิดหีบ เวลา 19.40 น. ยังไม่ถึง 2 ทุ่มดี อภิสิทธิ์รู้แล้วว่าแพ้ ชิงแถลงข่าว ยอมรับความพ่าย-ยินดียิ่งลักษณ์ที่ชนะเลือกตั้ง

แต่เลือกตั้งรอบนี้ ผ่านมาจะ 2 สัปดาห์แล้ว ยังไม่เห็นมีใครยอมแพ้ โดยเฉพาะเป้าหลักคือ 2 ลุง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คล้ายกับรออะไรบางอย่าง?

 

ฝั่งสถานการณ์ของพรรคก้าวไกล ก็เข้มข้นยิ่งกว่า หลังชนะเลือกตั้งเป็นพรรคคะแนนอันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้ชนะขาดในระดับแลนด์สไลด์ เพื่อไทยมีคะแนนห่างเพียง 11 เก้าอี้

นั่นแปลว่าการจัดสรรอำนาจต้องจัดการอย่างรอบคอบ รัดกุม ยุติธรรม ไม่ให้ฝ่ายใดรู้สึกไม่แฟร์ มิฉะนั้นแผลความบาดหมางที่มีมาแต่เลือกตั้งจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้น เจ็บลึกขึ้น

เพราะแค่เริ่มต้นก็เหนื่อยแล้ว ล่าสุดคือการแบ่งโควต้าประธานสภา ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ ยังไม่นับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ

อีกด้านของพรรคก้าวไกลที่ต้องบริหารจัดการให้ดีคือ ความชอบธรรมในหมู่ประชาชนผู้สนับสนุน

จากการที่ก้าวไกลเข้ามาเปลี่ยน “เกม” การเลือกตั้งของประเทศ ส่งคนธรรมดา ไม่เคยเป็นผู้แทนฯ ชนะการเลือกตั้งจำนวนมาก ฉีกขนบการเมืองไทย ด้วยการเล่นกับการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ต้องสู้ด้วย “กระแส” ยืนอยู่บน “ความคิดเห็น” และ “ความหวัง” ของประชาชน ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉับไวในปัจจุบัน

แต่ก็พลาดตกม้า (เกือบ) ตายภายในเวลาอันรวดเร็วช่วงแรก จากดีลพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งระดับนำของพรรคเคยมีส่วนร่วมในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์-และอยู่ในอำนาจช่วงการล้อมปราบเสื้อแดง สุดท้ายต้องออกมาขอโทษ เพราะถูกถล่มอย่างหนัก

“ขอโทษครับ ผมจะระลึกไว้เสมอ พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” พิธาระบุ

นี่คือบทเรียนแรกของก้าวไกล ที่ขายความตรงไปตรงมา ก็ต้องตรงไปตรงมาตามอุดมการณ์ที่เคยพูดไว้จริงๆ

 

กระนั้นกระแสนิยมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก ดูจากการลงพื้นที่ไปขอบคุณประชาชน ทั้งที่ จ.นนทบุรี ชลบุรี และระยอง มีประชาชนตอบรับยืนรอเรียงแถวระหว่างทางแบบล้นหลาม ไม่เคยมีมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์

พิธายังเก๋าเกมด้วยการเดินสายไปยังสมาคมต่างๆ กระชับความสัมพันธ์กับองค์กรต่างประเทศ จนเรียกได้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา พิธาประพฤติตนประหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในทางพฤตินัยไปแล้ว

สื่อต่างชาติให้ความสนใจการเมืองไทยในครั้งนี้มาก และโดยเฉพาะบุคลิกความโดดเด่นของพิธาถูกนำเสนอในทุกสื่อใหญ่ระดับโลก

ทั้งภาพการออกพบปะประชาชน ทั้งภาพของสื่อนอก สะท้อนความสามารถระดับสูงกับยุทธศาสตร์ช่วงชิงภาพความชอบธรรมของก้าวไกลในการตั้งรัฐบาลแบบเหนือชั้น

 

ระหว่างที่ประเด็นการเมืองกำลังวนเวียนกับเรื่องการตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ด่านใหญ่เวลานี้ที่จะชี้ชัดว่า พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อยู่ที่สภาสูง หรือ ส.ว.

ขณะนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มชัดเจน คือกลุ่มขวากลางที่แม้จะเคยยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ประกาศตัวพร้อมยกมือให้พรรคการเมืองที่ชนะอันดับ 1 และสามารถรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ เป็นนายกฯ อันเป็นหลักการในสังคมประชาธิปไตยอารยะเขาทำกัน

กลุ่มนี้ประกาศตัวชัดเจนผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแล้วประมาณ 20 คน เมื่อนำไปรวมกับเสียง ส.ส.อีก 313 คน เท่ากับพรรคก้าวไกลและพันธมิตรต้องหาอีกราว 40 เสียง จึงจะตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนสำเร็จ

แต่อีกกลุ่มคือขวาสุดโต่ง ยืนยันจะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ เด็ดขาด อ้างว่าแม้จะเห็นด้วยกับหลักการมติมหาชน แต่ไม่ไว้ใจในนโนบายเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดีก็ขอไม่โหวตให้พรรคชนะที่ 1 อย่างก้าวไกลแบบล้านเปอร์เซ็นต์ กลุ่มนี้รวมถึง ส.ว.ที่ประกาศงดออกเสียงด้วย

ซึ่งแรงกดดันนี้ก็ดูเหมือนจะสำเร็จ ในการแถลงการลงนามร่วมรัฐบาลของ 8 พรรคที่นำโดยก้าวไกล สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีกรณีการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในเอ็มโอยู

แปลว่า 4 ปีจากนี้ หากรัฐบาลที่นำโดยก้าวไกล ก็จะไม่มีการเสนอแก้ 112 ในนามรัฐบาล และจะไม่มีการกระทำทางนโยบายใด ส่งผลกระทบต่อรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

โดยพิธาชี้แจงว่าไม่บรรจุเข้าไป แต่จะเป็นการเสนอไปพูดคุยในสภาในนามพรรคเอง ไม่ใช่ในนามรัฐบาล

แต่ก็ต้องไปดูอีกว่า การถอยของพรรคก้าวไกลในจังหวะนี้ มีเหตุผล ฟัง “ขึ้น” หรือไม่สำหรับบรรดาสมาชิกสภาสูง

 

เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยหลัก เป็นอุปสรรคใหญ่ของรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทย แม้สองพรรคจะชนะการเลือกตั้ง ประชาชนกว่า 26 ล้านเสียงของผู้มาใช้สิทธิเทคะแนน ทิ้งขนาดขั้วลุงในระดับถล่มทลาย ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ 50:50 ว่าจะได้เป็นรัฐบาลตามกรอบเวลาปกติหรือไม่?

ประชาชนกว่า 26 ล้านคนได้ลงมติตั้งรัฐบาลของประชาชน จูงมือนำพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ไปส่งหน้าประตูทำเนียบรัฐบาลแล้ว แต่มี 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ยืนขวางประตู ไม่ให้เข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาล

นี่คือความรู้สึกของคนจำนวนมากในห้วงเวลานี้

ชนะเลือกตั้งว่ายากแล้ว ตั้งรัฐบาลยากกว่า ตั้งนายกฯ ยากที่สุด ทั้งหมดเพราะเป็นการเล่นการเมืองในกติกาประชาธิปไตยสูตรพิสดารนั่นเอง

ดังภาษาข่าวสื่อรุ่นเก๋าที่เรียกอาการการเมืองไทยเช่นนี้ว่า “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ทำอะไรก็มีปัญหาอุปสรรคไปหมด หาทางออกตามระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยปกติที่ทั่วโลกเขาใช้ไม่ได้

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรกับการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐธรรมนูญปี 2560

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากได้สะท้อนแล้วว่า ต้องการให้ใครเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ

หาก ส.ว.ขัดขวางยกมือคว่ำ ไม่ยอมให้พรรคคะแนนอันดับ 1 ตั้งรัฐบาล นั่นหมายความว่า เสียง 250 ส.ว. ยิ่งใหญ่กว่าประชาชนกว่า 26 ล้านเสียง

สภาสูงที่มาจากการแต่งตั้ง ก็จะตั้งตัวเป็นศัตรูทางการเมืองต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทันที

และโดยไม่ต้องจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ ดูแค่บรรยากาศการมารอต้อนรับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในจังหวัดต่างๆ ก็น่าจะเพียงพอ ว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรุนแรงแค่ไหน

 

เผือกร้อนชิ้นใหญ่ตกไปอยู่ที่วุฒิสภาแล้วในขณะนี้ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว อยู่ที่ ส.ว.ว่าจะโอบรับความเปลี่ยนแปลงนั้น คอยประคับประคองให้การเปลี่ยนแปลงเกิดประโยชน์ต่อประเทศ หรือจะตั้งป้อมสกัดขัดขวางหวังจะยุติสายลมที่รุนแรง

ก้าวไกลนำเสนอข้อคิดสำคัญว่า “พรรคใหญ่กว่าคน แต่ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” สะท้อนหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่

แต่ที่สำหรับประเทศไทย กติกากำหนดให้ ส.ว.ใหญ่กว่าประชาชน ตามแบบฉบับประชาธิปไตยสูตรพิสดาร ไม่เหมือนใครในโลก

‘อานันท์ ปันยารชุน’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อาวุโสของบ้านเมือง ให้สัมภาษณ์วีโอเอไทย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ส่งเสียงเตือนเบาๆ แต่น่าคิด ถึงสมาชิกวุฒิสภาไว้ดังนี้

“ทุกคนต้องคิดหนักขึ้นว่าจะยึดหลักการประชาธิปไตยมั้ย เมื่อมีเลือกตั้งแล้ว มีการลงคะแนน มีประชาชนจำนวนมากออกความเห็นอย่างนี้ การโหวตควรจะเป็นไปตามเสียงของประชาชนหรือไม่ หรือตัวเองยังมีความจงรักภักดีกับทางฝ่ายทหาร หรือนิยมทหาร ผมตอบไม่ได้ แต่ละคน ผมไม่รู้ แต่ละคนต้องค้นหาจิตวิญญาณของตัวเอง”