‘พรรคลุง-พรรคเฉพาะกิจ’ ซ้ำรอยอดีต | วงค์ ตาวัน

ขณะที่พรรคการเมืองขั้วฝ่ายประชาธิปไตย กำลังคึกคักกันอย่างยิ่ง เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จัดทำเอ็มโอยูพร้อมกับลงนามกันไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ขั้นต่อไป จะต้องฝ่าด่าน ส.ว.ในขั้นตอนโหวตนายกรัฐมนตรีให้ได้

เพราะยังขาดอีก 63 เสียง จึงจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา เพื่อดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกฯ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มองจากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

ส่งให้พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม กำลังต้องเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้าน

แถมพรรคของลุงๆ ได้จำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งค่อนข้างต่ำมากๆ

พรรคพลังประชารัฐของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังดีหน่อย ได้ ส.ส.มา 41 เสียง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ ส.ส.มาเพียง 36 เสียง

ผลการเลือกตั้ง ทำให้ 2 พรรคลุงต้องเงียบหงอย

เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐนั้น พล.อ.ประวิตร แม้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่คงไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว แต่ก็ยังมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ยังเป็นหลักให้พรรคได้ต่อไป

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ มีลุงตู่เป็นหลัก แต่ก็มีฐานะเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งถือว่าจบแล้ว ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ อีกแล้ว

แถมไม่มีตำแหน่งในพรรค ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้น เมื่อลุงตู่ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็คงกลับบ้านไปใช้ชีวิตบั้นปลายต่อไป

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องบริหารโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ซึ่งไม่มีบารมีของลุงตู่มาคอยประคับประคองเคียงข้าง

ปัญหาการบริหารของนายพีระพันธุ์เอง ซึ่งไม่เป็นที่แฮปปี้ของคนในพรรค จึงน่าเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่ ส.ส.ซึ่งได้รับเลือกตั้งของรวมไทยสร้างชาติ อาจจะวิ่งเข้าหาพรรคใหม่

อนาคตของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงดูแล้วน่าเป็นห่วงมากที่สุด!

 

เพราะการพ่ายแพ้เลือกตั้ง โดยได้ ส.ส.ต่างจากพรรคอีกขั้วอย่างห่างไกลกันมาก คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องวางมือแล้วแน่ๆ ยิ่งไม่มีตำแหน่งผูกพันกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะหายตัวไปจากวงการเมือง

อนาคตของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงเป็นภาระหน้าที่ของนายพีระพันธุ์

จะไปต่อได้หรือไม่ หรือพรรคอาจจะหดเล็กลงไป

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ แม้จะพ่ายแพ้เลือกตั้ง แต่บิ๊กป้อมก็ยังเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้วางมือ ดูแล้วคงไม่ระส่ำอะไรนัก จึงน่าจะเดินหน้าต่อไปได้

แถมมีกระแสข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่า พรรคพลังประชารัฐกำลังเคลื่อนไหวดูดพรรคอื่นๆ ให้เข้ามารวม เพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพรรคที่ใหญ่ขึ้น มี ส.ส.มาเพิ่มมากขึ้น

พลังประชารัฐจึงเงียบสงบ แต่ก็ยังเฝ้ารอคอยโอกาสอยู่

ต่างจากรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าบิ๊กตู่คงจะวางมือ สถานการณ์ของพรรคนี้จึงน่าจะระส่ำระสายไม่น้อย

ดีไม่ดี ส.ส.รวมไทยสร้างชาติ อาจจะโดนพรรคอื่นช้อปไปเข้าสังกัดอีก!!

แนวโน้มที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะหดเล็กลงไปอีก เป็นไปได้อย่างมาก

พรรคลุงตู่มีแนวโน้มลำบาก ขณะที่พรรคลุงป้อมยังพอจะคึกคักได้ มีแนวทางเพิ่ม ส.ส.ให้พรรคเพิ่มมากขึ้น

เป็นการซุ่มซ่อน สะสมกำลัง รอคอยโอกาส

เพราะหากพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว.ในการตั้งนายกฯ ได้ ย่อมมีบางพรรคแอบหวังว่า จะทำให้การตั้งรัฐบาลเกิดการพลิกผัน พลิกสูตร ปรับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลได้

นั่นก็อาจเป็นโอกาสของพลังประชารัฐ โดยบิ๊กป้อมอาจจะวางมือลาออก เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐหลุดพ้นไปจากภาพ “3 ป.” พ้นจากข้อครหาร่วมหนุนนักรัฐประหาร มีโอกาสต่อลมหายใจได้ต่อไปอีก ยังคงหวังว่าอาจจะได้ร่วมรัฐบาลในท้ายสุดก็ได้

พรรคลุงตู่มีแต่ลำบาก ส่วนพรรคลุงป้อม ยังมีหนทางเดินต่อไปได้!

 

หลายครั้งหลายสมัย ที่เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา บางพรรคที่มาด้วยฟอร์มใหญ่โต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน จนทำให้พ่ายแพ้ย่อยยับ หากพรรคนั้นมาโดยไม่มีรากฐานมั่นคง ก็อาจต้องสูญสลายไปหลังการเลือกตั้ง

พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นเพียงแค่พรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาหวังกวาดต้อนเสียง ส.ส. แต่ก็ไม่มีความเป็นมืออาชีพเพียงพอ ก็เลยได้ ส.ส.มาน้อยนิด

เมื่อล้มเหลว พรรคเฉพาะกิจก็คงไปต่อไม่ได้

การเลือกตั้งในอดีตหลายหน มีพรรคทำนองนี้เกิดขึ้น มาแบบอลังการ แต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร หลังจากนั้นก็สลายหายไป จึงเรียกกันว่าพรรคเฉพาะกิจ

เช่น ในยุค 2500 มีพรรคเสรีมนังคศิลา รองรับผู้นำทหารในยุคนั้น เมื่อสิ้นอำนาจ พรรคก็สลายไป เป็นได้แค่พรรคเฉพาะกิจ

พรรคสหประชาไทย ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร หรือพรรคสามัคคีธรรม ในยุครัฐบาลทหาร รสช. ที่ถูกประชาชนลุกฮือต่อต้าน จนบานปลายปราบปรามนองเลือด เป็นพฤษภาทมิฬ 2535 ล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกัน

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ดูจะเห็นแววแล้วว่า พรรคไหนที่เป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ ลงสนามเลือกตั้งเป็นหนแรก แล้วล้มเหลว และคงไปต่อไม่ได้

อันที่จริงเดิมที การเลือกตั้งในปี 2562 ได้มีพรรคพลังประชารัฐ ที่เข้าข่ายพรรคทหาร พรรคเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่ม 3 ป. กลุ่มอำนาจที่ก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

แต่มาในการเลือกตั้ง 2566 นี้ เกิดรอยร้าวจนทำให้ ป.ประยุทธ์ ต้องแยกตัวออกไปเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่เอี่ยมเพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์

ทำให้พลังประชารัฐเหลือเพียงบิ๊กป้อม มองอีกด้านกลับมีข้อดี ทำให้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป

ผลการเลือกตั้ง พลังประชารัฐได้ ส.ส. 41 เสียง จากเดิมได้เกินร้อย ส่วนรวมไทยสร้างชาติ พรรคที่ตั้งขึ้นมารองรับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้น้อยกว่านั้นอีก

เข้าทำนอง ตั้งมาเพื่อผู้มีอำนาจ แล้วล้มเหลว และยากจะไปต่อ

ยิ่งเห็นแล้วว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วอย่างมาก แสดงผ่านผลการเลือกตั้ง 2566 นี้ สร้างปรากฏการณ์น่าตื่นตะลึง

เป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองซึ่งไม่ใช่เงินซื้อเสียง ไม่มีหัวคะแนนจัดตั้ง กลับได้รับเลือกอย่างไม่มีใครคาดคิด

เพราะประชาชนต้องการการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

พรรคแนวล้าหลัง แนวอนุรักษนิยมการเมือง จึงพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

แล้วพรรคที่ไม่มีฐานรากอันมั่นคง แถมมองไปข้างหน้ายิ่งไม่มีอนาคต เพราะสังคมไทยและคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ล้วนต้องการโลกยุคใหม่

มีแนวโน้มไปต่อยาก ลงเอยก็เป็นพรรคเฉพาะกิจที่ต้องปิดฉาก ดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มาในอดีต!