จาก Coup d’e tat ’57 สู่ MOU’66 9 ปีที่สูญหาย

สัปดาห์ที่แล้วติดตามดูคุณศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย ปะทะความคิดกับ “ส.ว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” ในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 ที่มีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร กับรายการ เข้มข่าวค่ำ ช่องพีพีทีวี นอกจากจะสนุกสนานสำหรับผู้ฟังผู้ชมทั้งขาเชียร์ขาแช่งแล้ว ยังได้เห็น “สัจธรรม” ตามที่คุณศิธาอ้างหลักพุทธธรรมว่า มนุษย์เราเกิดมาก็เหมือนบัว 4 เหล่า

“เวทีดีเบต” ช่วยให้ดวงตาเห็นธรรมไปพร้อมๆ กับกลับกลายเป็น “ลานประหาร”!

บัวบางเหล่าเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเต่าอย่างแท้จริง

อย่าหมายว่าจะชูช่อโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเบ่งบานให้โลกได้รื่นรมย์

การวิวาทะของคุณศิธากับ ส.ว.กิตติศักดิ์ไม่มีจุดที่จะบรรจบกัน

หากกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเข้าใจได้ว่า มนุษย์ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการนับหมื่นล้านปี จากที่เมื่อก่อนกระดูกสันหลังเคยขนานกับพื้นโลก เดิน 4 ขา พอวิวัฒน์เหยียดหลังตั้งตรงได้ก็กลายเป็นสัตว์ 2 ขา และ “มือ” ก็พัฒนาการมาแทน 2 ขาที่ไม่ได้ใช้เดินอีกต่อไป

สำนวนสตีฟ จ็อบส์ (จากหนังสือ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน : สฤษี อาชวานันทกุล แปล) เตือนให้มี “มรณานุสติ” ได้ดีที่สุดว่า

“ความตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติให้เรามาเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กำจัดของเก่าเพื่อสละพื้นที่ให้กับของใหม่ ตอนนี้น้องๆ ทุกคนเป็นของใหม่ แต่อีกไม่นานนับจากนี้ น้องๆ จะกลายเป็นของเก่าที่ธรรมชาติต้องกำจัด”

ผู้สูงวัยทางการเมืองน่าจะสำนึกได้ว่า “ชีวิตคนนั้นสั้นนัก”

 

“วิทยาศาสตร์สังคม” ก็มีวิวัฒน์เช่นเดียวกัน เพราะสังคมก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว

ในการวิวาทะกับคุณศิธาวันนั้น “ส.ว.กิตติศักดิ์” อ้างว่า ถ้านายพิธาเป็นนายกฯ อาจเกิดความขัดแย้งและจะกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ได้

ช่างสอดรับกับที่ “ไอโอ” ปั่นกระแสในโซเชียลว่า ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลอาจจะนำไปสู่ “สงครามกลางเมือง”!

“สงครามกลางเมือง” คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ควรจะนิยามให้ชัด

ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา เคยมี “สงครามกลางเมือง” เกิดขึ้นครั้งเดียว

นั่นคือ “กบฏบวรเดช” เมื่อ 11-25 ตุลาคม 2476

นอกนั้นเป็น จลาจล 1 ครั้ง เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

“ล้อมฆ่า” 1 ครั้ง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

“บดขยี้” 1 ครั้ง เมื่อ “พฤษภาคม 2535” และ

“รุมยิงนกในกรง” เมื่อ “พฤษภาคม 2553

 

“รุมยิงนกในกรง” เป็นสำนวนและชื่อเรื่องบทความของ “พล.อ.อดุล อุบล” ทหารอาชีพ เหล่าราบที่เป็นนักรบแท้และมีหัวใจประชาธิปไตย ได้กล่าวถึงการใช้ “พลซุ่มยิง” หรือ “หน่วยสไนเปอร์” ลอบสังหารผู้ชุมนุมที่มีแต่มือเปล่าเอาไว้ว่า

“…ก่อนเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีกองทัพของประเทศใดในโลกประชาธิปไตย ที่นำกำลังทหารออกมาสลายมวลชน รวมทั้งมีการใช้พลซุ่มยิงสังหารประชาชน” (จากเรื่อง พลซุ่มยิง Sniper; 27 มีนาคม 2554)

ในบทความเรื่อง “ยุทธการ รุมยิงนกในกรง” (30 มิถุนายน 2554) ตอนหนึ่งว่า

“…ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องโทรศัพท์มาถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกคนพูดเหมือนกันว่า มันเป็นทหารกันหรือเปล่าวะ สามารถออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธสงครามที่จัดหามาจากภาษีอากรของประชาชน สังหารประชาชนมือเปล่า แล้วยังมีหน้ามาวิเคราะห์บทเรียนจากปฏิบัติการนั้นว่า สำเร็จอย่างเลอเลิศ สรรเสริญและชื่นชมกันราวกับ ‘วีรบุรุษสงคราม’ ผู้พิชิตชัยชนะในสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนในชาติของตน ที่มีแต่มือเปล่า และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิงและคนแก่

ผมอยากจะถามว่า พวกท่านมีความรู้สึกเป็นวีรบุรุษและมีความภาคภูมิใจมากนักหรือกับความเป็นจริงเหล่านี้

1. ท่านใช้กำลังทหาร 4 กองพล ซึ่งเท่ากับ 1 กองร้อย (Corps) ของกองทัพ US ที่ใช้เป็น Main effort (ME) ในการขับไล่กองทัพอิรัก ออกจากการยึดของประเทศคูเวต แต่พวกท่านเอามาใช้ล้อมปราบประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และเต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิงและคนแก่

2. ท่านใช้พลซุ่มยิงทั้งกองทัพ รุมยิงเป้าหมายผู้ชุมนุมที่ถูกล้อมอยู่ ดุจดังยิงนกในกรง

3. ท่านประกาศว่า เป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนภายในชาติ ด้วยกำลังรบผสม ทั้งเหล่าทหารราบ ทหารม้ายานเกราะ หน่วยบิน พลซุ่มยิง หน่วยรบพิเศษ หน่วยส่งทางอากาศ ขาดแต่อาวุธปืนใหญ่

4. ท่านมีความภาคภูมิใจว่า มีการวางแผนประณีต มีการซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี

5. ท่านให้ข้อมูลที่ทำให้แน่ใจได้ว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารเป็นอย่างดี เพราะทางรัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ มีการสั่งและควบคุมการปฏิบัติการอย่างสมบูรณ์แบบ ตามลำดับสายการบังคับบัญชา

6. ท่านชี้ให้เห็นถึงการใช้กระสุนจริงเป็นผลต่อขวัญและกำลังใจของทหาร โดยเฉพาะมีการประกาศ ‘เขตการใช้กระสุนจริง’ ในดาวน์ทาวน์ของ กทม.

แค่นี้ผมก็อยากจะอ้วกแล้วครับ”

 

ขนาดพล.อ.อดุล อุบล ยังถึงกับ “จะอ้วก”

14-19 พฤษภาคม 2553 ไม่ใช่สงครามกลางเมือง

“กบฏบวรเดช” เป็น “สงครามกลางเมือง” ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ระหว่างทหารกับทหาร

แต่ก่อนเกิดรัฐประหารทุกครั้งจะมี “มือจุดไฟ” ชูคำขวัญเดิมๆ ปลุกระดม สร้างสถานการณ์ให้คนเกลียดชังชนิดอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันไม่ได้ เช่น ล้มเจ้า ไม่จงรักภักดี จากนั้นจึง “ลงมือ” ด้วยอาวุธ

ลองไปสำรวจ “รายชื่อผู้ตาย” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และพฤษภาคม 2553 ดูก็จะรู้ว่า ใครที่ถูกฆ่า และใครใช้อาวุธสงคราม

ยิ่งไปกว่านั้น หลังการฆ่าเสร็จสิ้นลงทุกครั้ง “คนฆ่าไม่ต้องรับผิด” คำขวัญปลุกระดม วาทกรรมทำลายที่เป็นเท็จถูกเก็บใส่ลิ้นชัก

ก่อน “คสช.” ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ใช้สูตรเดียวกันปูทางสร้าง “รัฐทหาร”

วันนี้ พอจะมี “รัฐบาลพลเรือน” ที่มาจากการเลือกตั้ง นำเสนอนโยบายใหม่ๆ ตั้งใจจะทำดีๆ ก็เริ่มขุดมุขเดิมๆ ออกมาใช้!?!!!