วงถกจี 7 ที่ฮิโรชิมา สะท้อน ‘ยุโรป-ญี่ปุ่น’ หวั่นหยิกเล็บเจ็บเนื้อ

ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือ จี 7 อันประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา และอิตาลี ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยมีสหภาพยุโรปและผู้นำอีกหลายชาติ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ และบราซิล ได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตการณ์ในวงสนทนานี้ด้วย

และยังมีประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเดินทางมาร่วมวงหารือด้วยตนเองจากที่ถูกคาดหมายว่าจะร่วมพูดคุยผ่านวิดีโอคอลล์ หลังจากที่ได้รับการเชื้อเชิญไป

แน่นอนว่าวาระหลักสำคัญของการหารือในเวทีประชุมซัมมิตครั้งนี้ ย่อมไม่พ้นประเด็นการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่เหล่าผู้นำกลุ่มจี 7 มาหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีและมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมต่อความกระหายสงครามของรัสเซีย

ขณะที่เซเลนสกีก็ได้มาหาความสนับสนุนจากกลุ่มจี 7 และชาติพันธมิตร ในการรับมือต่อกรกับรัสเซีย

ซึ่งก็ได้รับการตกปากรับคำว่าจะให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมกลับไป

ที่รวมถึงการเปิดทางสนับสนุนเครื่องบินรบชั้นสูงอย่างเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ให้กับยูเครน

 

แต่อีกหนึ่งวาระสำคัญที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้คือ ท่าทีของกลุ่มจี 7 ที่มีต่อจีน หนึ่งในมหาอำนาจโลกและคู่แข่งสำคัญ ที่ชาติตะวันตกหวั่นวิตกกับการแผ่ขยายอิทธิพลในมิติต่างๆ ของจีน ที่อาจก่อภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติของสมาชิกจี 7 และพันธมิตรทั่วโลก

ไล่มาตั้งแต่ประเด็นพิพาททางการค้า ความมั่นคงทางไซเบอร์ ท่าทีของจีนที่มีต่อรัสเซียกรณีสงครามยูเครน ไปจนถึงปัญหาขัดแย้งเรื่องไต้หวัน

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงท่าทีของกลุ่มจี 7 ที่เป็นการส่งสารโดยตรงจีนแม้จี 7 จะไม่ได้ระบุเจาะจง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” ของจีน ที่กลุ่มจี 7 มองว่าบ่อนทำลายทั้งนโยบายต่างประเทศ ในประเทศ และสถานะทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกจี 7 ตลอดจนมุ่งหมายลดการพึ่งพาทุกอย่างในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ตั้งแต่ชิพประมวลผลไปจนถึงสินแร่

ทว่า ถ้อยคำที่ระบุอยู่ในถ้อยแถลงท่าทีดังกล่าว ก็ไม่ได้แข็งกร้าวเด็ดขาดอย่างที่คาด แต่หากยังเปิดช่องทางของการสื่อสารเอาไว้ให้ระหว่างกัน

โดยในแถลงการณ์ท่าทีของจี 7 ที่มีต่อจีน ใช้ถ้อยคำว่า “ลดความเสี่ยง” เป็นแนวทางปฏิบัติที่กลุ่มจี 7 มีต่อจีน โดยปราศจากการใช้ถ้อยคำว่า “การแยกตัว” จากจีนตามที่สหรัฐเสนอ

ซึ่งเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า แนวทางนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาติยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเองตามมาหากทำการกดดันจีนอย่างหนักหน่วงมากจนเกินไป

 

โจนาธาน เบิร์กเชียร์ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันแมคโดนัลด์ ลอริเออร์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะ ให้ความเห็นถึงแนวทางนี้ของกลุ่มจี 7 ว่า การมุ่ง “ลดความเสี่ยง” ดังกล่าว เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับกลุ่มจี 7 ในการบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับจีน การปรับถ้อยคำในแถลงการณ์นั้นสะท้อนให้เห็นว่าพันธมิตรของสหรัฐเข้าใจถึงความเสี่ยงของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งกับจีน

แต่ขณะเดียวกันยังตระหนักด้วยว่าการตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิงกับจีนนั้นไม่สามารถทำได้จริง

ยกตัวอย่างกรณีของญี่ปุ่น ที่เป็นชาติสมาชิกเอเชียหนึ่งเดียวในกลุ่มจี 7 อาจเผชิญการสูญเสียอย่างมาก หากถูกจีนตอบโต้ โดยจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้เห็นว่า ในปีที่แล้ว จีนเป็นทั้งตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีมูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเช่นกัน มีมูลค่า 189,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลองนึกภาพดู หากญี่ปุ่นและจีนงัดมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้รุนแรงเข้าห้ำหั่นใส่กัน ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวในระดับไหน

สอดคล้องกับความเห็นของคูนิฮิโกะ มิยาเกะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแคนอนเพื่อโลกคดีศึกษา ที่มองว่าชาติจี 7 ไม่ต้องการแยกตัวหรือตัดขาดจากจีนจริงๆ

เพราะเป็นเรื่องยาก เป็นปัญหามาก และไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง

 

ขณะที่แอนดรูว์ สมอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและอินโด-แปซิฟิก บอกว่า ประเด็นนี้ยังคงมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้ว การลดความเสี่ยง หมายถึงอะไร และมาตรการร่วมกันแบบใดที่ต้องใช้ต่อต้านการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

แต่ตอนนี้มีกรอบชัดเจนแล้วว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกับจีนจำเป็นต้องได้รับการปรับสมดุลอย่างไร

เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่มีความลึกซึ้ง ซับซ้อน หลากหลายมิติ ที่บรรดาชาติชั้นนำที่ทรงอิทธิพลอำนาจโลก แต่ยืนอยู่ต่างอุดมการณ์ ต่างขั้ว ที่จะงัดข้อต่อรองกันต่อไป โดยการยึดมั่นผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเป็นที่ตั้ง

ประชาคมโลกก็ต้องทนดูมหากาพย์แห่งความขัดแย้งเหล่านี้กันต่อไปอีกยาวๆ