ฤทธิ์บัตรสองใบ ใครร่วง ใครส้มหล่น

สมชัย ศรีสุทธิยากร

รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบระบบเลือกตั้งให้ใช้บัตรใบเดียวและคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA : Mixed Member Apportionment System) สร้างความเสียหายให้แก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว และเกิดพรรคปัดเศษมากมายนับสิบพรรค สร้างปัญหาการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองจนเป็นที่น่าเบื่อหน่าย

พรรคพลังประชารัฐที่มีฐานะเป็นพรรครัฐบาล ประเมินการเลือกตั้งครั้งใหม่ว่าตนเองจะมีสถานะเป็นพรรคใหญ่ที่อาจเสียเปรียบด้วยกติกาดังกล่าว จึงคิดเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ นับคะแนนในระบบคู่ขนาน (Parallel System) โดยบัตรเขตใช้ระบบคะแนนสูงสุดได้รับเลือกตั้ง (FPTP : First-Past-The-Post) บัตรบัญชีรายชื่อคิดเป็นสัดส่วนตามร้อยละของคะแนนที่ได้รับ

แต่เนื่องจากการแก้ไขที่ไม่สะเด็ดน้ำ สิ่งสำคัญที่ออกแบบสำหรับระบบบัตรใบเดียวแต่ยังไม่แก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คือ มาตรา 90 ที่กำหนดให้ต้องรับสมัครแบบเขตก่อน พรรคการเมืองจึงจะสามารถสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดปัญหาหมายเลขสมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตแตกต่างกัน และยังไม่ตรงกับหมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรค

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 จึงเป็นการเลือกตั้งที่เกิดปรากฏการณ์พิเศษตามมามากมาย

 

บัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสน

สําหรับคนรุ่นเก่าที่เคยชินกับการเลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้งสองใบที่มีมาในช่วง 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2540 จนถึง 2560 บัตรสองใบจะเป็นเบอร์เดียวกันจดจำได้ง่าย จนเมื่อเปลี่ยนเป็นบัตรใบเดียวในปี พ.ศ.2562 หมายเลขผู้สมัครแม้พรรคเดียวก็จะแตกต่างกันในแต่ละเขตก็ยังพออยู่ในวิสัยที่จดจำได้ แต่พอเป็นบัตรสองใบคนละเบอร์ ค่อนข้างสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นเก่าในการที่ต้องจดจำ 2 หมายเลข และกาให้ถูกบัตร

การหาเสียงในระดับพื้นที่ซึ่งกระทำโดยผู้สมัครในแต่ละเขต จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างการจดจำแก่หมายเลขตนซึ่งเป็นหมายเลขน้อย (ไม่เกิน 10) มากกว่าการหาเสียงให้แก่หมายเลขพรรค (ซึ่งมีหมายเลขมากกว่า 60 หมายเลข)

ขณะเดียวกัน หากมีความพยายามในการทุจริตเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียง จะเป็นการใช้เงินของผู้สมัครและหวังผลกับการให้ผู้มีสิทธิสนับสนุนหมายเลขเขตของตนมากกว่าการขอให้สนับสนุนหมายเลขพรรค

ดังนั้น เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองเก่าที่มีฐานผู้สมัครเก่าที่มีคะแนนนิยมดี จะได้คะแนนรวมในแต่ละเขตขึ้นเป็นอันดับหนึ่งผ่านเข้าไปเป็น ส.ส. จำนวนหลายเขต

แต่คะแนนในส่วนบัญชีรายชื่อทั้งประเทศกลับได้น้อยจนผิดปกติ ตามแผนภาพที่ 1 และ 2

ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นความแปลกประหลาดว่า พรรคการเมืองที่มีฐานผู้สมัครเข้มแข็งในระดับเขต เช่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา กลับได้คะแนนในบัตรใบที่สองที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยเป็นสัดส่วนที่ต่างกันหลายเท่า

ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนลงคะแนนให้เฉพาะ ส.ส.เขต โดยแบ่งคะแนนในบัญชีรายชื่อให้กับพรรคอื่น

พรรคหมายเลขต้น
ที่มีความได้เปรียบและส้มหล่น

ความแปลกประหลาดประการถัดไปของผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ เมื่อพิจารณาถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อหลักแสนคะแนน กลับเป็นพรรคการเมืองที่มีหมายเลขต้นๆ ในอันดับ 1-10 ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่คะแนนรวมทั้งประเทศในส่วน ส.ส.เขต กลับแตกต่างกันหลายเท่า ดังตัวอย่างที่แสดงในแผนภาพที่ 3 และ 4

จากแผนภาพที่ 3 พรรคการเมืองที่มีหมายเลข 1-6 จะได้คะแนนของบัตรใบที่สองตั้งแต่ลำดับที่ 10-17 และได้รับการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไปพรรคละ 1 คน และในแผนภาพที่ 4 แสดงให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของคะแนน ส.ส.เขต และคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคที่ได้รับหมายเลขต้นดังกล่าว เป็นสัดส่วนที่แทบไม่สามารถหาความสัมพันธ์กันได้เลย ยกตัวอย่างเช่น พรรคที่ได้หมายเลข 1 มีคะแนนต่างกันถึง 213 เท่า พรรคหมายเลข 4 ต่างกัน 164 เท่า และพรรคหมายเลข 8 ห่างกัน 107 เท่า เป็นต้น

การยกตรรกะว่า พรรคเหล่านี้อาจมีคะแนนนิยมในระดับประเทศดีจนทำให้มีคนเลือกเป็นหลักแสนคน ดูเป็นเรื่องที่ยอมรับในเชิงเหตุผลได้ยาก เนื่องจากพรรคเหล่านี้แทบไม่มีการหาเสียงหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ดังนั้น ข้อสรุปที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ การที่ผู้มีสิทธิกาบัตรสองใบเหมือนกันโดยใช้หมายเลขเขตที่มีการรณรงค์หาเสียงในพื้นที่เป็นหลัก

บทเรียนการออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบลวกๆ ที่แก้รัฐธรรมนูญไม่ครบทุกมาตราครั้งนี้จึงเป็นบทลงโทษแก่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการแก้ไขเองที่ต้องสอบตกขนานใหญ่ในการเลือกตั้ง และเกิดส้มหล่นแบบมิได้คาดฝันแก่พรรคที่บังเอิญจับสลากได้หมายเลขต้น

คงเป็นเหตุผลพอให้ต้องแก้กติกาการเลือกตั้งอีกครั้งแล้ว