33 ปี ชีวิตสีกากี (21) | พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ “ไอ้อ่ำ”ของเพื่อนนรต. ที่หาไม่เจอ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ฝีมือในการว่ายน้ำของผมแรกๆ ก็ดีมาก แต่ระยะหลังๆ ผมรู้สึกจะตกลงมาก จนแทบจะไม่พัฒนา

ต่างจากเพื่อนผมที่แต่ละคนว่ายน้ำได้เร็วขึ้น ดีขึ้น

นักว่ายน้ำที่ยอดเยี่ยมของโรงเรียนนายร้อยตำรวจเวลานั้น ชั้นปีที่ 3 นรต.สุนทร โชคอำนวย จะว่ายฟรีสไตล์เร็วที่สุด

ชั้นปีที่ 2 นรต.เชาวลิต วนิชย์ถนอม จะมีฝีมือในการเล่นโปโลน้ำได้สุดยอดมาก ท่าแบ๊กแฮนด์ ชู้ตทำประตูโดยฝ่ายตรงข้ามไม่มีทางรู้เลย เป็นท่าที่ประทับใจผมและทุกๆ คน จนนำทีมโปโลน้ำโรงเรียนนายร้อยตำรวจคว้าแชมป์กีฬาเหล่าทัพได้ 3 ปีซ้อน โรงเรียนได้ถ้วยรางวัลมาครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์

เมื่อจบการศึกษา นรต.เชาวลิตถูกเรียกเข้าไปทำงานในวังจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อใหม่

ส่วนรุ่นผมต้องเป็น นรต.บุญลือ กอบางยาง เป็นคนที่ฟิตมาก จะเรียกว่าเข้าขั้นบ้าออกกำลังกายก็ไม่ผิด มาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แกร่งผิดคนจริงๆ ทั้ง นรต.เชาวลิต และ นรต.บุญลือ เมื่อมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายประจำปี จะชนะเป็นอันดับ 1 ของรุ่น

ในทีมว่ายน้ำยังมี นรต.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ชีวิตเมื่อพ้นจากการเป็นตำรวจก็กลายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งๆ ที่พื้นเพเดิมเป็นคนสุพรรณบุรี

ในทีมว่ายน้ำเรียก นรต.ไวพจน์ว่า ไอ้อ่ำ จนทุกวันนี้ ตำรวจยังตามหาไวพจน์ไม่เจอ ไม่รู้ว่า ดำน้ำไปโผล่ที่ไหนสักแห่ง

 

ในรุ่นของผมที่ไปเป็นนักกีฬา ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เล่นกีฬามาจากโรงเรียนเดิม แต่ผมจำได้ไม่ครบเท่าที่พอจะนึกออก พวกทีมรักบี้ มี นรต.ไตรรัตน์ อมาตยกุล, นรต.สมิทธิ มุกดาสนิท, นรต.ชาญเทพ เสสะเวช, นรต.เดชา บุตรน้ำเพชร, นรต.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง, นรต.นพดล เผือกโสมณ, นรต.วาทยุทธ์ สิงห์ไฝแก้ว, นรต.สัญชัย สุนทรบุระ, นรต.ไพโรจน์ ขันธบุญ

ทีมฟุตบอล มี นรต.จิตติ รอดบางยาง, นรต.จุฑา จารุบุณย์, นรต.ภานุ รักษ์กุล, นรต.วิฑูรย์ ผาติเสนะ, นรต.สมเกียรติ แสงสินศร, นรต. สมบัติ เจริญสลุง

ทีมบาสเกตบอล มี นรต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์, นรต.พรประเสริฐ กาญจนรินทร์, นรต.อดิศร งามจิตรสุขศรี

ทีมวอลเลย์บอล มี นรต.สิทธิพล แสนสุโพธิ์, นรต.ปราณีต พิมายนอก, นรต.สำอาง ทับจันทร์

ทีมเซปรักตระกร้อ มี นรต.ปฐม ศุกระมูล, นรต.ถวาย บูรณะรักษ์

ทีมเทนนิส มี นรต.พูนทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์, นรต.วีรเดช รัตนโชติทีปกร, นรต.สุวิชชา ถมยาบัตร

ทีมยิงปืน นักกีฬามี นรต.ทศเทพ นิวาศะบุตร, นรต.พรหมธร ภาคอัต, นรต.พร้อมภัณฑ์ อุตมัง, นรต.พีระ เต็มแย้ม, นรต.วรพจน์ หาสุณหะ, นรต.สมเกียรติ กันคล้อย, นรต.สมชาย พึ่งแย้ม, นรต.สมศักดิ์ วรรณวรรค, นรต.สาคร ทองมุณี

ทั้งหมดนี้เป็นรายชื่อเพื่อนร่วมรุ่นของผมที่เป็นนักกีฬา และเท่าที่ผมพอจะจำได้ หรือบางคนอาจจะมาเล่นกีฬา ภายหลังการเป็นนักเรียนใหม่แล้วก็มี ต่อมาทีมว่ายน้ำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นตัวแทนของจังหวัดนครปฐม ส่งนักกีฬาว่ายน้ำเพื่อแข่งขันคัดเลือกเป็นตัวแทนของเขต 7 ผมได้ไปแข่งขันด้วย มีการแข่งขันกันที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยว่ายฟรีสไตล์ 400 เมตร และ 800 เมตร แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

มีเพื่อนของผมหลายคนได้เป็นตัวแทนเขต 7 ไปทำการแข่งขันกีฬาเขตในปีนั้น ถ้าจำไม่ผิดพลาด มี นรต.บุญลือ กอบางยาง, นรต.ประสิทธิ์ สมบัติศิริ, นรต.คมสัน พุ่มไพศาลชัย, นรต.วรรณศักดิ์ คำนุ้ย

 

ในชั้นปีที่ 1 จะเข้าตอนเรียนหรือห้องเรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ คือเรียนในตอนเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ และเรียนเช่นนี้เหมือนกันทุกชั้น

การเรียนจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. บางวิชาจะเรียนติดต่อกัน 2 ชั่วโมง บางวิชาจะเรียนครั้งละ 1 ชั่วโมง จะมีอาจารย์จากภายนอก เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มาสอนร่วมกับอาจารย์ฝ่ายตำรวจ

ถึงเวลา 12.00 น. จะเป็นเวลารับประทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่าย ตามปกติจะเรียนจนถึง 15.00 น.

แต่สำหรับนักเรียนใหม่ บางวันในช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวันจะเป็นการฝึกโดยใช้ลานฝึกศรียานนท์เป็นสถานที่ฝึก เป็นการฝึกให้มีความชำนาญและเข้าใจ แบบฝึกตำรวจ ทั้งบุคคลท่ามือเปล่า เรื่อยไปจนถึงบุคคลประกอบอาวุธ และฝึกซ้อมการสวนสนามเพื่อพิธีสำคัญในวันตำรวจ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี

การฝึกจะหนักแค่ไหน การเรียนในตอนเรียนก็ยังเป็นปกติ ร่ำเรียนวิชาการที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ได้ดี

ในชั้นเรียนจึงเข้มข้นไปด้วยวิชาการทางกฎหมายอาญา และวิชาการที่เน้นคือ วิชากฎหมาย จะเรียนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากนั้นแล้ววิชาที่เกี่ยวข้องเฉพาะของตำรวจ เป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องรู้เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง เรียนวิชาการดับเพลิง ให้ทราบลักษณะการเกิดเพลิงไหม้ การลุกไหม้ ธรรมชาติของไฟ

ยังเรียนตรรกวิทยา วิชานี้ว่าด้วยลักษณะการใช้เหตุผลแบบอุปไมย คือ การสรุปจากข้อมูลทุกหน่วย การใช้เหตุผลเปรียบเทียบ วิธีการของมิลล์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และการใช้เหตุผลแบบนิรมัย คือ การใช้เหตุผลด้วยเทอม กฎของซิลลอจิสม์และเอนธีม การใช้เหตุผลด้วยข้อความ ข้อบกพร่องในการใช้เหตุผลและหลักในการแก้ไข ข้อบกพร่องด้านรูปแบบ ข้อบกพร่องด้านภาษา ข้อบกพร่องด้านเนื้อหา ข้อบกพร่องด้านจิตวิทยา

ศึกษาวิชาหลักเศรษฐศาสตร์ เพื่อทราบความเป็นมาของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทราบทฤษฎีและหลักทางเศรษฐศาสตร์ ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐศาสตร์

วิชาที่สำคัญและเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งคือ สังคมวิทยา เพื่อให้ทราบถึงการจัดระเบียบของสังคมและการควบคุม ศึกษาพื้นฐานเบื้องต้นของการจัดระเบียบสังคม ไปจนถึงศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม

วิชานี้สอนโดยคณะอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นักเรียนใหม่จะเรียนภาษาอังกฤษถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง รวม 3 ชั่วโมงในรอบสัปดาห์ มีอาจารย์ที่เป็นฝรั่งมาสอนถึง 3 ท่าน

อาจารย์ที่สอนมาอย่างยาวนานคือ มิสซิส ซี.ที.รัสเซล

พวกผมยังเรียนรู้ถึงวิชายุทธวิธีตำรวจ ควบคู่กับ อาวุธศึกษา เพราะนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนจะต้องรู้กลไกของอาวุธชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอาวุธปืนสั้น หรือปืนพก ปืนเหล่านี้ มีการทำงานอย่างไร จะต้องจดจำให้ขึ้นใจถึงขนาดของปืนและกระสุนปืน

มีวิชาที่สำคัญอีกคือ วิชาเครื่องยนต์ เน้นเรื่องเครื่องยนต์ยานพาหนะ ให้ทราบหลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องยนต์ เพราะทุกวิชาจะเป็นพื้นฐานในวิชาการสืบสวนสอบสวนต่อไป

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่ได้ปล่อยให้เรียนทางวิชาการที่เป็นเรื่องของทางโลกแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีชั่วโมงให้เรียนเรื่องจิตใจ วิชาจริยธรรม จึงถูกจัดอยู่ในหลักสูตรทุกชั้นปี

และเมื่อจบออกไปจะต้องไปเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจชั้นประทวน วิชาครูฝึกก็ต้องเรียนรู้ หลักการถ่ายทอดวิชาความรู้ไปยังผู้อื่น

 

ในภาคต้นของนักเรียนชั้นปีที่ 1 เรียนทั้งหมด 11 วิชา ดังนี้

1. ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี

2. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

3. ประมวลกฎหมายอาญา

4. อาวุธศึกษา

5. วิชาเครื่องยนต์

6. งานสารบรรณ

7. การดับเพลิง

8. จิตวิทยา

9. แผนที่

10. ภาษาอังกฤษ

11. วิชาทหาร

ทั้ง 11 วิชานี้รวมเวลาเรียน 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนวิชาอื่นที่ผมพูดถึงก็เรียนในเทอมต่อไป

 

นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนจะต้องฝึกวิชายูโด และทุกคนจะมีชุดยูโดเก็บรักษาไว้ที่ตัวเองและนำมาทุกครั้งเมื่อถึงชั่วโมงเรียนยูโด โดยมีผู้ฝึกสอนเป็นอดีตนักยูโดทีมชาติ รวมทั้งมีการฝึกมวยไทย ท่าทางการชก การเข้าทำ การหลบอาวุธของคู่ต่อสู้ เรียนศิลปะการป้องกันตัว การหลบอาวุธมีด การหลบเมื่อถูกตีด้วยของแข็งที่เป็นไม้ หรือเหล็ก และเรียนรู้วิธีเมื่อถูกกระทำให้กลับมาได้เปรียบ เรียนวิธีการล็อกคู่ต่อสู้ด้วยท่ามือเปล่า

ยังมีการให้ความรู้เรื่องยูโดด้วยว่า ยูโด มาจาก ญญิตสู และ ยูโด

โดย ญญิตสู เกิดก่อนยูโด

คำแปล ญญิตสู

ญ = โอนอ่อน

ญิตสู = ศิลปะ

ญญิตสู = ศิลปะแห่งการโอนอ่อน

ส่วนคำว่ายูโด

ยู = โอนอ่อน

โด = หลักการ

ยูโด = หลักแห่งการโอนอ่อน

ยูโด ปฏิรูปมาจาก ญญิตสู โดย ศ.ยิโกโรคาโน เมื่อ พ.ศ.2425 แต่เพราะญญิตสูขาดมาตรฐานและความปลอดภัย กล่าวโดยย่อคือ ปฏิรูปคำว่า ศิลปะ คือ ญิตสู มาเป็นหลักการ คือ โด

การปฏิรูปมีอุปสรรค คือ นัก ญ – และนักโด ไม่ปรองดองกันและทะเลาะกัน กรมตำรวจญี่ปุ่นจึงแก้ไขโดยจัดนักญ และนักยู- ฝ่ายละ 15 คนมาแข่งขันกัน เมื่อ พ.ศ.2429 ผลคือยูโดชนะ 13 คู่ เสมอ 2 คู่ ทำการปรับปรุงอยู่ 40 ปี จึงได้มาตรฐานในปี พ.ศ.2465

ยูโดแพร่หลายเข้ามาประเทศไทย 3 ทาง คือ

1. ทางประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2450 ที่บริษัทมิตซุย ปุดเชน ไกซา ในเขตบางรัก กรุงเทพฯ ผู้นำเข้ามาคือ ดิโยฟูยี ชาวญี่ปุ่น

2. ทางครูและนักเรียน เมื่อ พ.ศ.2456 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ โดย ม.จ.วิบูลย์สวัสด์วงศ์ สวัสดิกุล

3. ทางตำรวจ เมื่อ พ.ศ.2459 ที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ชั่วคราว) บริเวณสวนลุมฯ โดย ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์