หยวนต้องไต่อันดับกวดไล่ดอลลาร์ด้วย พลัง, ลีลา, ไหวพริบและกติกาสากล

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

หยวนต้องไต่อันดับกวดไล่ดอลลาร์ด้วย

พลัง, ลีลา, ไหวพริบและกติกาสากล

 

เงินหยวนของจีนต้องการจะโค่นดอลลาร์ในฐานะเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ จะต้องฟิตซ้อมร่างกายอย่างไร?

ที่เห็นชัดเจนขณะนี้คือคุณสมบัติเบื้องต้นของจีนในฐานะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นตามลำดับนั้นค่อนข้างจะแน่ชัด

แต่ในเกมการแย่งชิงความเป็นเลิศของเงินสกุลยักษ์นั้นก็เหมือนนักมวย

เพียงแค่มีร่างกายดูกำยำแข็งแกร่ง (เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง) ยังไม่พอ

ครูมวยจะบอกว่าต้องมีตั้งลีลา, ไหวพริบ, มารยาท และความคล่องแคล่วว่องไวที่จะชนะใจคนดูอีกด้วย

มีเหตุผลอย่างน้อย 4 ข้อที่นักวิเคราะห์มองว่าจีนยังต้อง “ทำการบ้าน” หนักก่อนที่จะ “โค่นแชมป์” ได้

 

วันนี้ ดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินสำรองหลัก ถือ 62% ของสกุลเงินสำรองรวมของโลก

รองจากดอลลาร์ยังไม่ใช่หยวน แต่เป็นยูโร เยน ปอนด์สเตอร์ลิง และฟรังก์สวิส

ความหวาดวิตกของคนถือดอลลาร์ว่าเงินสกุลมะกันอาจจะหมดความน่าเชื่อถือแล้วมาจากการมองปัญหาจากมุมมองทางเศรษฐกิจล้วนๆ

นั่นคือการมองว่าอเมริกาอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เพราะคนอเมริกันมีกำลังซื้อที่ลดลง

เทียบกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของชาวจีนจำนวนมากขึ้น

และพิจารณาจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน

ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่าผู้คนกำลังโยกย้ายเงินออกจากสหรัฐอเมริกา

ไม่ใช่ว่าการมองเช่นนี้จะไม่มีเหตุผลเสียเลยทีเดียว

แต่คนที่เฝ้าติดตามเรื่องเงินๆ ทองๆ มองว่ามีปัจจัยที่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณา

และเจาะลึกลงไปถึงปัจจัยที่ทำหน้าค้ำจุนเงินดอลลาร์ยังมีเรี่ยวแรงพอที่จะรักษาดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกหรือไม่

หรือจะเปิดทางให้มังกรยักษ์ทุ่มหยวนมาเป็นตัวเลือกใหม่ที่เซ็กซี่กว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า?

 

คุณสมบัติประการสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการที่จะให้เงินสกุลไหนมาเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศคือ “ความโปร่งใสของรัฐบาล”

พอพูดถึงหยวนก็จะมีคำถามว่า

มีสักกี่คนที่เข้าใจว่ากฎกติกาของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับเบื้องหลังเงินหยวนอย่างแท้จริง?

บางคนบอกว่าอาจจะรู้กันเฉพาะผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์และยอดพีระมิดของรัฐบาลสัก 20-30 คน

หากประชาชนทั่วไปจะขอข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความเคลื่อนไหวของนโยบายการเงินการทองของรัฐบาลจะไปหาได้ที่ไหนอย่างไรไม่แจ้งชัด

การขาดความโปร่งใสตรงนี้คือเครื่องกีดขวางสำหรับเงินหยวนที่จะขอเป็น “เงินสกุลนานาชาติ”

เงินดอลลาร์, เยน, ปอนด์, และสวิสฟรังก์มีนโยบายที่จะตอบคำถามและเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาเพื่อให้คนทั้งหลายสามารถประเมินสถานการณ์ของเงินทองและเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลที่ได้มานั้นมีการตรวจสอบและทำให้เป็นปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

ทุกวันนี้ เงินหยวนถูกควบคุมโดยทางการจีนอย่างเข้มงวด แม้ว่าประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ จะเรียกร้องให้เปิดเสรีเงินหยวนมากขึ้นเป็นระยะๆ ก็ตาม

คนที่เขาติดตามเงินตราระดับโลกอย่างใกล้ชิดตั้งข้อสังเกตว่าปลายเดือนเมษายนปีที่แล้ว จีนยืนกรานที่จะเข้าแทรกแซงตลาด เพิ่มเงินหยวนเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงัก เนื่องจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกเปลี่ยนจากการพึ่งพาการส่งออกเป็นการบริโภคภายในประเทศ

จึงทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าจีนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะปล่อยเงินหยวนออกจาก “พี่เลี้ยง” ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

ขณะที่ดอลลาร์ถูกมองว่าเป็น “ผู้ใหญ่เต็มตัว” ที่สามารถเดินไปตามถนนที่ขรุขระของตลาดเปิดได้อย่างมั่นใจ

ดังนั้น หากจีนจะให้หยวนมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเพื่อท้าทายดอลลาร์ก็ต้องพร้อมจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาให้เป็นสากล

 

มิติการเมืองที่โยงกับ “ชนชั้นกลาง” ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย

กองประชากรแห่งสหประชาชาติและโกลด์แมนแซกส์ทำนายไว้เมื่อปี 2011 ว่าชนชั้นกลางของจีนจะมีจำนวนมากกว่าชนชั้นกลางอเมริกันถึง 4 เท่าภายในปี 2030 แน่นอน

แต่ไม่ใช่เพราะคนอเมริกันกำลังยากจนลง

หากแต่เป็นเพราะคนจีนก็ยิ่งร่ำรวยขึ้นต่างหาก

ชนชั้นกลางทั่วโลกมีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง

นั่นคือพวกเขาต้องการความมั่นใจจากผู้นำว่าจะนำพาประเทศไปถูกทิศถูกทาง

โดยที่พวกเขาจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนั้นด้วย

มองจากแง่มุมตะวันตกแล้วการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในจีนก็คือการท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จของกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดหรือโปลิตบูโร

นั่นแปลว่าเมื่อชนชั้นกลางที่ร่ำรวยขึ้นก็จะเรียกร้องสภาพแวดล้อมที่โปร่งใสมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่เดือดปุดๆ สำหรับจีนก็คือชนชั้นกลางส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองที่ร่ำรวยเพียงไม่กี่เมือง

คนเมืองเหล่านี้มีความอดทนรับแรงกดดันของความไม่ชอบมาพากลหรือการขาดธรรมาภิบาลแค่ไหนคือคำถามที่น่าสนใจตัวอย่างเสียงต่อต้านเรื่องมาตรการล็อกดาวน์กรณีโควิดจากชนชั้นกลาง

และปฏิกิริยาต่อความรุนแรงของมลพิษทางอากาศของปักกิ่งที่สะท้อนในรูปแบบการแสดงออกที่ไม่สอดคล้องกับ “การยอมรับอำนาจของผู้ปกครองในทุกกรณี” อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคาดหวังเสมอไป

 

ทุกวันนี้ เงินหยวนมีการใช้ซื้อขายโดยตรงระหว่างจีนกับอีกสองประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น

นั่นหมายความว่าทั้งสองประเทศไม่จำเป็นต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐในการค้ากับจีน

ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าเงินหยวนค่อยๆ รุกเข้าสู่ทุนสำรองเงินดอลลาร์ของประเทศอื่นๆ หรือไม่?

คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่

การรุกคืบของหยวนเกิดขึ้นจริง แต่จำกัดเฉพาะการค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศอื่นเท่านั้น

ในการค้าระดับโลก สหรัฐกำลังใช้สิ่งที่เรียกว่า “แรงกดดันฉันมิตร” เพื่อรักษาค่าเงินดอลลาร์ไว้เป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยน และประเทศอื่นๆ ในโลก

ยกเว้นเกาหลีเหนือ อิหร่าน และจีนกับรัสเซีย

จีนมีจุดแข็งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต แต่การค้าโลกยังเกี่ยวข้องกับการค้าทางการเงิน วิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมากอีกด้วย

จีนกำลังเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งออกสิ่งก่อสร้างและวิศวกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่

นั่นแปลว่ายังมีเส้นทางที่ยาวไกลและจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากสหรัฐอเมริกา

ต้องไม่ลืมว่าดอลลาร์สหรัฐตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคงของประชากรกว่า 310 ล้านคน

ในขณะที่เงินหยวนแผ่กระจายไปทั่วชาวจีนกว่า 1.4 พันล้านซึ่งจะเริ่มเรียกร้องสิทธิมากขึ้นจากรัฐบาลเมื่อเริ่มร่ำรวยขึ้น

แต่ในท้ายที่สุดปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนกำลังรุกหนักในทุกๆ มิติเพื่อยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐ

 

การยกระดับความสำคัญของเงินหยวนให้เทียบเท่าดอลลาร์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาว

แต่ปักกิ่งมีเป้าหมายหลายๆ เรื่องที่เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่จะต้องใหญ่กว่าสหรัฐในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า

หรือบทบาทในองค์การระหว่างประเทศที่จีนต้องการมีเสียงดังขึ้นกว่าเดิม

การตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ AIIB หรือ Asian Infrastructure Investment Bank ที่เดินเคียงคู่กับ Belt and Road Initiative (BRI) นั้นคือการสร้างความแข็งแกร่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ, การเมืองและความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน

เมื่อการค้าและการลงทุนของจีนสยายปีกไปทั่วโลก การเริ่มใช้เงินหยวนในการซื้อขายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างน้อยก็เริ่มในวงเล็กๆ ระดับทวิภาคีและในกลุ่มประเทศที่ค้าขายกันและกัน

แต่จีนต้องสร้างความแข็งแกร่งด้านอื่นๆ นอกเหนือจากอัตราโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเพื่อทำให้เป็นชาติที่มี “ความพร้อมในทุกๆ มิติ” จึงจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง

หากไม่มี “อุบัติเหตุ” ทางด้านการเมืองและสังคมภายในที่อาจท้าทาย “ภูมิต้านทาน” ของโครงสร้างแห่งอำนาจภายใต้การนำของ “ท่านผู้นำสี จิ้นผิง” เสียก่อน