แค่ฝุ่น หรือภูมิทัศน์ใหม่การเมืองไทย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในที่ประชุมนานาชาติที่จัดโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Institute for International and Area Studies (IIAS), Tsinghua University จีน ผมมีโอกาสเจอเพื่อนนักวิชาการอินโดนีเซีย

ผมแสดงความยินดีและชื่มชมความสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียที่ต่อเนื่องและแข็งแรง

แต่เขาก็บอกว่าสิ่งท้าทายมากของประชาธิปไตยอินโดนีเซียคือ ประชานิยม (populism) ซึ่งผมคงต้องเรียนรู้อีกมาก

เขาเสนอว่า สิ่งท้าทายหลังการเลือกตั้งไทยที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งคือ พลังอนุรักษนิยมในไทยที่กัดเสาะประชาธิปไตยไทย ซึ่งผมเห็นด้วย แล้วผมถือโอกาสแลกเปลี่ยนกับเขาเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย

 

แค่ฝุ่นหรือภูมิทัศน์ใหม่การเมืองไทย

ประเด็นที่ผมแลกเปลี่ยนกับเขาคือ การเลือกตั้ง 2566 ในไทยแสดงความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการ ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ชัยชนะของพรรคก้าวไกลเป็นแค่ฝุ่นการเมืองชั่วครั้งชั่วคราว สักพักก็จางหายไป

ตรงนี้ผมเห็นต่าง ผมเสนอว่า อันหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ เรื่องราวที่แสดงออกมาจากผลคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่ควรดูจากเนื้อหาเป็นสำคัญ

ในแง่นี้ เราจะเห็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากๆ

ประการแรก มีการเสนอว่า ผลการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะ นี่เป็นสิ่งแสดงถึงความคิดของคนไทยเรื่องความเท่าเทียม เป็นคุณค่าใหม่ที่สังคมไทยใฝ่หา

เพื่อนอินโดนีเซียถามว่า ดูจากอะไร

ผมตอบว่า การเคลื่อนย้าย (mobility) ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา บ้านใหญ่หรือระบบอุปถัมภ์ในชนบทพังทลายไปแล้ว ดูผลการเลือกตั้งในระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ บ้านใหญ่พังทลายหมดแล้ว ด้วยผู้คนออกจากชนบท พวกเขาไม่ได้ภักดีกับระบบอุปถัมภ์จากบ้านใหญ่อีกต่อไปแล้ว

ประการที่สอง ซึ่งสำคัญมากคือ งานศึกษาของอาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี1 ดังต่อไปนี้

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อประเทศ คือ มุมมองต่อการเลือกตัวแทนเข้าสภาเปลี่ยนแปลงไป

งานของอาจารย์สิริพรรณพบว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด มีผู้สมัครที่ไม่มีพื้นเพเป็นครอบครัวนักการเมือง 204 คน หากรวมผู้สมัครที่มีครอบครัวเป็น ส.ท.อบต. บวกเข้าไปอีก 107 คน จะมีจำนวนทั้งหมด 311 คน นี่เป็นภาพสะท้อนผลโหวตของประชาชนคือ

– การปฏิเสธการเมืองแบบเดิม การเมืองแบบอุปถัมภ์ที่ดูแลพื้นที่มายาวนาน มองในแง่หนึ่งสงสารก็สงสารนักการเมืองเดิมที่ทำงานในพื้นที่แล้วไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่อีกแง่หนึ่ง นี่เป็นการลงโทษพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ด้วยเหตุว่า คนในตระกูลอัศวเหม พ่ายแพ้ในจังหวัดสมุทรปราการ แพ้แก่ น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล

คนในตระกูลคุณปลื้ม พ่ายแพ้ในจังหวัดชลบุรี แพ้แก่ น.ส.กฤษฎี ชีวะธรรมานนท์ พรรคก้าวไกล คนในตระกูลปิตุเดชะ พ่ายแพ้ในจังหวัดระยอง แพ้แก่นายกฤช ศิลปะชัย พรรคก้าวไกล2

สรุปพรรคก้าวไกลได้ชัยชนะใน 3 จังหวัด ที่มีบ้านใหญ่อันแข็งแกร่งมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษในการเมืองไทย ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

แต่พรรคการเมืองที่ได้รับความเสียหายด้วยอย่างชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทย นี่เป็นความพ่ายแพ้อย่างมากของพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงเน้นการเมืองแบบบ้านเก่า

เรื่องนี้แม้แต่ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังยอมรับ คุณทักษิณได้สรุป 7 บทเรียน เรื่องที่เขาอยากกลับมาเลี้ยงหลาน เขาเหมือนรับโทษติดคุกมานาน 17 ปี ยังไม่สำคัญเท่าที่เขาเองก็ยอมรับว่า พรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เขาอธิบายว่า3

“…ไม่ใช่ยุคของเพื่อไทย คนแก่ในพรรคต้องถอยแล้ว…”

แต่ผมคิดว่า นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า พลัง เสน่ห์ มนต์ขลังของทักษิณ ชินวัตร ในเศรษฐกิจการเมืองไทย อ่อนตัวลงแล้ว

บุคลิกส่วนตัว เงินทุน ความคิดใหม่ๆ นโยบายประชานิยม เครือข่ายทางการเมืองทั้งกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มวลชนในชนบท เข้ากันไม่ได้กับบริบทและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว

เป็นภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย ที่แม้แต่ตัวทักษิณและนักยุทธศาสตร์ของเขาเองก็ไม่เข้าใจ มองไม่ออก ประหลาดใจ ซึ่งเราเห็นได้เมื่อครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ที่แกนนำของพรรคเพื่อไทยคือ คุณแพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน หัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เลขาธิการพรรค ประเสริฐ จันทรวงทอง พี่ภูมิธรรม เวชยชัย รวมทั้งคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ร่วมกันแถลงขอบคุณพี่น้องประชาชนหลังผลการเลือกตั้งเริ่มทยอยออกมา บนเวทีแห่งนั้น

ทุกคนบนเวทีดูเคร่งเครียดและประหลาดใจที่พรรคก้าวไกลมีผลคะแนนนำพรรคเพื่อไทยมาก

อาจารย์สิริพรรณสรุปอีกว่า มันสะท้อนว่า ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะ ตอนนี้กลุ่มคนที่เลือกพรรคก้าวไกล ก้าวข้ามวัยไปมาก เกิดสิ่งที่พรรคก้าวไกลเรียกตัวเองว่า หัวคะแนนธรรมชาติ โดยจุดผลิกผันสำคัญคือ 2 อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้ง คะแนนพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นแบบพุ่งทะยาน หากย้อนดูผลโพล ในช่วงแรกคะแนนพรรคเพื่อไทยยังนำอยู่ แม้ 2 อาทิตย์สุดท้ายเราอาจไม่เห็นโพลเท่าไรนัก แต่ก็มีรายงานออกมาว่า คะแนนพรรคก้าวไกลนำ

ในด้านหนึ่ง อาจารย์สิริพรรณเห็นว่า นี่อาจเป็นความสำเร็จจากการเข้าร่วมดีเบตของพรรคก้าวไกล ในขณะที่คุณแพทองธาร ชินวัตร คุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมเข้าร่วมรายการดีเบต รายการเหล่านี้กลับมีผู้ฟังที่ย้อนกลับมาฟังเรื่อยๆ มีผู้ทำคลิปบางส่วนมาสร้าง user-generated content กระจายเป็นไวรัล ทำให้ คนเข้าถึง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและผู้สมัครของพรรคก้าวไกลจาก ข่าวสารที่กระจายไปเองตลอดเวลา

ย้อนมาดูพรรคเพื่อไทย อย่างมากเราก็เห็นแค่หมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว แต่ไม่เห็นผู้สมัครที่เป็นตัวดูดคะแนนได้จริง ย่อมส่งผลต่อความคาดหวังที่คนมีต่อพรรคเพื่อไทย

นั่นหมายความว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า สงคราม on ground ไม่แข็งแรงพอ ที่จะสร้างคะแนนเสียงได้เท่า air war หรือสงครามในอินเตอร์เน็ต และสงครามใน air war ก้าวไกลทำได้ดีที่สุด หัวคะแนนธรรมชาติของเขาเป็นตัวช่วยสำคัญ ซึ่งโมเดลนี้คล้ายคลึงกับกรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีแฟนคลับเป็นตัวขยายผล ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะ

สำหรับภูมิทัศน์การเมืองใหม่ของไทย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองครั้งสำคัญ อีกด้านหนึ่ง ยังสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารประเทศของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อันพ้นยุค ล้าหลัง คำการเมือง ไม่เอาลุง จึงจับใจ เข้าใจง่าย ทรงพลัง

 


1สิริพรรณ นกสวน สวัสดี “101 Postscript คุยนอกสคริปต์ Ep.73 ชัยชนะของก้าวไกล ประเทศไทยเปลี่ยน?” 16 พฤษภาคม 2566

2เลือกตั้ง 66 พิฆาตบ้านใหญ่ สั่นคลอนการเมืองแบบเก่า The People 15 พฤษภาคม 2566

3“ทักษิณ สรุป 7 บทเรียนเพื่อไทยพ่ายแพ้เลือกตั้ง คู่แข่งก้าวไกลใช้ไอโอ-เก่ง” ประชาชาติธุรกิจ 17 พฤษภาคม 2566