‘พิธา’ ฝ่าดราม่าค่าแรง 450 เดินสายเคลียร์ใจภาคเอกชน ฟื้นความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ

การเมืองยังฝุ่นตลบผันผวน แม้ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ล็อก 8 พรรคการเมือง เซ็น MOU 23 ข้อ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง

ขณะที่ขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม คือรัฐบาลปัจจุบัน กำลัง “ซ่อนเล็บ” ใช้ความนิ่งแต่มีพลัง ท่ามกลางความเคลื่อนไหว จะสู้/จะถอยอย่างไร ไม่มีใครรู้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน ยังส่งเสียง “No comment” เมื่อถูกถามว่า ยังมีความหวังที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ ในกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

เส้นทางเข้าทำเนียบรัฐบาลของพิธา ยังต้องผจญกับขวากหนาม และตะปูเรือใบอีกหลายด่าน จึงต้องระดมเสียงข้างมากทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รวมเสียงให้ได้ 376 ผ่านด่าน ส.ว.พาตัวเองเข้าทำเนียบรัฐบาล

ทั้งยังต้องฝ่ากับดักคดีหุ้นไอทีวี ที่เป็นคดีคุณสมบัติส่วนตัว รวมถึงคดีพรรคก้าวไกลในอดีตที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

ช่วงเวลาในการฟอร์มรัฐบาลยังมีเวลาเกือบ 2 เดือน การเมืองจึงอยู่ในภาวะ “อึมครึม” สะเทือนถึงเศรษฐกิจ-การลงทุนที่อยู่ในภาวะ Wait & See

แต่ในจังหวะที่การเมืองยังคงอึมครึม “พิธา” และพันธมิตร ไม่รอช้า จัดทีมขึ้นมา 1 คณะ เรียกว่า “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล”

เดินสายคู่ขนานกับเกมการจัดตั้งรัฐบาล เข้าพบนักธุรกิจ นักลงทุน รับฟังความคิดเห็น-ข้อเสนอ เผื่อนำมาจัดทำเป็นนโยบายรัฐบาล หากฝ่าด่าน ส.ว.ได้สำเร็จ

ในคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มี “พิธา” เป็นหัวหอกในการเดินสาย ขนาบข้างด้วย “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทีมงานฝ่ายนโยบายพรรค ยังมีคนจากพรรคการเมืองพันธมิตร อย่าง สุพันธ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ร่วมทีม

สถานที่แรกที่คณะพิธาไปรับฟังความคิดเห็นคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ไฮไลต์สำคัญในการถก-ถาม และเสนอแนะ อยู่ที่การแก้ไขปัญหาแรงงาน โจทย์ใหญ่อยู่ที่นโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวันทันที และขึ้นตามขั้นบันไดทุกปี

สูตรขึ้นค่าแรงนี้ “พิธา” ให้คำจำกัดความว่า “ขึ้นน้อยๆ ไม่แรง ไม่กระทบนายจ้าง”

“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสม่ำเสมอ ตามเงินเฟ้อ หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนในช่วงของแพง ค่าแรงถูก ยังมีแน่นอน พรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท/วัน พรรคเพื่อไทยเสนอ 400 บาท/วัน”

ในขณะเดียวกันยังคำนึงถึงเหรียญอีกด้านหนึ่งคือผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก หรือมีค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 2 เท่า 2 ปี สามารถหักภาษีได้ หรือนโยบายลดภาษีให้กับ SMEs จาก 20% เป็น 15% จาก 15% เป็น 10%

“เรายังเดินหน้ารับฟัง สภาอุตสาหกรรมฯ ที่เป็นรุ่นเด็กลงมาหน่อย สภาหอการค้าไทย สภาแรงงาน สภา SMEs รับฟังให้รอบคอบ แต่ยังยืนยันกับพี่น้องแรงงานว่าค่าแรงขั้นต่ำ มีความจำเป็นต้องขึ้นจริงๆ และต้องขึ้นสม่ำเสมอ อัตโนมัติ เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายนายจ้าง

ซึ่งนายจ้างสามารถควบคุมต้นทุนของตัวเองได้ เพราะไม่ได้ขึ้นแรงมาก ขึ้นน้อยๆ ขึ้นบ่อยๆ แต่ฝ่ายของลูกจ้างก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในที่สุดสามารถทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ”

 

ด้าน ส.อ.ท. มองปัญหาแรงงานไทย พร้อมชงข้อเสนอให้ “พิธา” และทีมงานนำไปคิด-ตกผลึก ดังนี้

ปัญหาผลิตภาพแรงงานต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าสูง ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน สร้างความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

ภาครัฐควรพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data โดยมีหน่วยงานเฉพาะมารับผิดชอบเพื่อวางแผนพัฒนากำลังคน สร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงาน Demand & Supply แก้ปัญหา Mis-Matching

ขณะที่ “ทักษะแรงงาน” ส.อ.ท.มองเห็นปัญหาว่า ทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ขาดการ Up-skills / Re-skills ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคดิจิทัล เกิด Mis-Matching ระหว่าง Demand & Supply

อีกทั้งขาดการประสานนโยบายระหว่างรัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้รัฐส่งเสริม Up-skill / Re-skill / Multi-skill / Future-skill กำลังแรงงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และส่งเสริมการจ่ายค่าจ้างแบบ Pay by Skill

รวมถึงพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับเอกชน เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ขาดกำลังคนในเชิงปริมาณ ดังนั้น ข้อเสนอคือ ต้องมีมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ ส่งเสริมการจ้างผู้สูงอายุ (เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่นๆ)

รัฐบาลต้องเจรจานำเข้าแรงงานต่างด้าว ลดขั้นตอน / เวลา / ค่าใช้จ่าย แบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่แรงงานไทยไม่ทำ ขณะเดียวกันควรมีนโยบายและงบประมาณเพื่อส่งเสริม SMEs นำระบบ IT และ Automation มาทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน

และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ สร้างความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

โดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDPs ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลิตภาพแรงงาน

 

อีกด้านหนึ่ง สภาอุตสาหกรรมฯ ยังชงแผนการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ไปพิจารณา 5 ข้อ

1. เชื่อมต่อบริการเพื่อ SME ของประเทศ “SMART SMEs ONE” จัดทำ Government Service Catalog for SMEs ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อ-บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เชื่อมโยงกับ SMEs อย่างเป็นระบบ

2. ให้มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้านสภาพคล่องทางการเงิน อาทิ เลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้

3. จัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งด้าน เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

4. ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ

5. เสนอให้ขยายฐานการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจ SME ขนาดเล็กที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ภายในรอบระยะเวลาบัญชี

ข้อเสนอสุดท้ายคือปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย ที่รวมอยู่ในพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด อนุบัญญัติ ใบอนุญาต นับแสนฉบับ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business

 

ต่อจากนี้ “พิธา” และทีมงาน เตรียมเข้าพบสภาหอการค้าไทย-หอการค้าจังหวัด กลุ่ม YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce) หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ สภาแรงงาน ฯลฯ เพื่อชี้แจงนโยบายที่ยังคลุมเครือ ติดค้างในใจภาคธุรกิจ-แรงงาน

เป็นความพยายามที่จะเดินหน้าพบปะ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักธุรกิจ นักลงทุน แม้อยู่ในภาวะที่การเมืองยังอึมครึม และการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ที่ยังอยู่ในสภาวะ “ไม่แน่นอน” เช่นเดิม