ผีค่าจ้างขั้นต่ำ ปีศาจที่หลอกหลอนชนชั้นนำ ทุกยุคทุกสมัย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

วเป็นไปตามคาดเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น แม้จะยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่ชนชั้นนำเลือกที่จะปลุกขึ้นมาเป็นอันดับแรกคือ ผีร้ายที่หลอกหลอนชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย ก่อนจะมีพรรคก้าวไกล อนาคตใหม่ หรือเพื่อไทย ซึ่งไม่พ้นปีศาจสองตนที่หลอกหลอนสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย คือผีค่าแรง และผีรัฐสวัสดิการ

พวกเขาไม่อายที่จะสร้างวาทกรรมเหล่านี้อีกครั้งเมื่อเห็นว่าหลายอย่างกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

พวกเขาพยายามจะหาเสียงสนับสนุนจากสังคมด้วยวาทกรรมแบบเดิมๆ

แต่พวกเขากำลังจะล้มเหลว

เพราะความเข้าใจต่อสังคมได้ปรับเปลี่ยนไปมากมายมหาศาล

ในบทความนี้ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า ทำไม “ผีค่าจ้างขั้นต่ำ” จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาหลอกหลอนให้ประชาชนหวาดกลัวร่วมกับชนชั้นนำได้อีกต่อไป

 

ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่นายจ้างจะไม่คัดค้าน นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 10 บาท ถึง 100 บาท

พวกเขาใช้สรรพกำลังที่พวกเขามีไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรต่างๆ ของผู้ประกอบการ รวมถึงสายสัมพันธ์ของพวกเขากับพรรคการเมืองทั้งฝ่ายอำนาจนิยม และฝ่ายรัฐบาล เพื่อคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

ราวกับว่าหากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้น จะเป็นหายนะทางเศรษฐกิจ

ผู้เขียนเองเคยวิพากษ์ในคอลัมน์นี้หลายครั้งแล้ว สำหรับครั้งนี้ผู้เขียนขอยกตัวเลขที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ค่าจ้างที่พึงเป็นควรจะเป็นเช่นไร

หากเราตัดปัจจัยเรื่องค่าจ้างเพื่อชีวิตออก หรือมุมมองว่าด้วยค่าจ้างเพื่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ และพิจารณาเพียงแค่ตัวเลขอย่างเดียวเราลองมองย้อนไปในปี 2554 ถึง 2566 ซึ่งก็ล่วงมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว

สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในราคาปัจจุบัน (GDP) ปี 2554 อยู่ที่ 11,306.90 ขณะที่ปี 2566 อยู่ที่ 17,367.30 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น ประมาณ 53.5%

หรือหากคิด ผลิตภัณฑ์ประชาชาติต่อคน 223,715.10 บาทต่อปีในปี 2566 ปี 2554 อยู่ที่ 166,355.50 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 34.48%

เมื่อพิจารณาเท่านี้ก็จะพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือที่คนคนหนึ่งทำ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน หรือค่าใช้จ่ายภาครัฐ ก็มีการขายและเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งหากประเมินเพียงสองตัวชี้วัดนี้ ก็พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันควรปรับถึง 403-460 บาท เป็นอย่างน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ถ้าไม่ปรับ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

 

กลุ่มผู้ประกอบการมักจะท่องคาถาว่าที่ผ่านมายังอยู่กันได้ ทำไมต้องปรับ

พวกเขาอยากให้แรงงานพัฒนาตัวเองสร้างมูลค่าที่คู่ควรกับค่าจ้าง

แต่พวกเขามักหลงลืมว่า มันก็ควรมีหลักการพื้นฐานที่ทำให้คนอยู่ได้เช่นกัน หากไม่มีค่าจ้างที่เหมาะสม สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจดังนี้

การลดความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ ค่าจ้างที่ต่ำเกินไปอาจทำให้ผู้คนไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการที่สำคัญได้ในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจลดการขายและผลิตภาพรวม (GDP) ลดลง

เมื่อคนมีความสามารถในการบริโภค หรือมีกิจกรรมที่หลากหลายลดลง ย่อมทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจุกในกลุ่มธุรกิจแบบเดิม

การลดการเสริมสร้างเงินทุน จากข้อแรกค่าจ้างที่ต่ำเกินไปอาจทำให้ผู้ประกอบการลดการลงทุนในการปรับปรุงและขยายกำลังการผลิต ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกัน เมื่อคนทำงานจำเป็นที่ต้องเก็บเงินไว้ใช้สำหรับสิ่งพื้นฐาน มากกว่ามีเงินเหลือเพื่อความบันเทิง เดินทางท่องเที่ยว หรือจับจ่ายในสิ่งที่สำคัญในชีวิตมากกว่างาน

การเพิ่มภาระด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ประเทศไทยใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับการขยายสวัสดิการหรือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

การพึ่งพิงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยไม่มีการปรับค่าจ้างนั้นมีปัญหาสำคัญแบบที่เราเห็นในอดีต คือมีหลักเกณฑ์ซับซ้อนแล้ว และผู้คนไม่สามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้เมื่อเทียบกับการมีค่าจ้างที่เหมาะสมตั้งแต่ทีแรก

ความแตกต่างระหว่างรายได้ ค่าจ้างที่ต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้ของประชากร

ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ความไม่ไว้ใจกันในสังคมตลอดจน ความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ในสังคม

 

ต่อคำถามที่ว่าแรงงานไทยไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง สมควรได้รับค่าจ้างแบบทศวรรษที่แล้ว

ผู้เขียนลองค้นข้อมูล ผลิตภาพแรงงานในไทยเมื่อเทียบปีปัจจุบัน 2566 กับปี 2556 เมื่อสิบปีที่แล้ว

พบว่าโดยรวมแล้วผลิตภาพของไทยเพิ่มสูงขึ้น 25% หรือเทียบง่ายๆ แรงงานหนึ่งคนทำงาน 8 ชั่วโมงเคยทำกำไรให้นายทุนได้ 100 บาท เมื่อสิบปีที่แล้ว ปัจจุบัน สามารถสร้างกำไรได้ 125 บาท ด้วยค่าจ้าง และเวลาแบบเดียวกัน

และเมื่อเจาะเข้าไป ภาคเกษตรเป็นภาคที่มีผลิตภาพ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ก่อสร้าง 21.9% งานบริการด้านอาหาร ร้อยละ 30 ขณะที่งานด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้นประมาณ 112%

ดังนั้น เราอาจบอกได้ว่าถ้าคำนึงถึงผลิตภาพ หรือ “ความเก่ง” ของแรงงานไทยที่มีมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่อย่างน้อย 506 บาทด้วยซ้ำ

แต่ที่ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้น หรือขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงน้อยนิดมานานแสนนาน ส่วนเกินมหาศาลทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ไปไหน หยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนก็วนเข้ากระเป๋าของเหล่าชนชั้นนำ

การปรับเปลี่ยนค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ใช่เพียงแค่คืนศักดิ์ศรีของประชาชนคนส่วนใหญ่เท่านั้น

ยังเป็นหนึ่งในทางรอดทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ด้วย